เศรษฐา ทวีสิน : To tax or not to tax ?

Liz Truss-Rishi Sunak
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว

ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังครับ

จะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไทยช่วงที่ผ่านมาเน้นเรื่องของการอัดเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าประชาชนเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายระยะสั้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว แต่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมด้วย เรื่องของมาตรการที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ในระยะยาว จำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการอย่างรวดเร็ว

นอกเหนือไปจากการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมของประเทศแล้ว อย่าลืมนะครับว่า โลกปัจจุบันมีบริบทของเศรษฐกิจกระแสใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ อย่าง fintech หรือ healthtech ฯลฯ รวมถึงธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้นด้วย ซึ่งจะละเลยไม่ได้ มิเช่นนั้นเราจะไปแข่งขันกับใครได้

ระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมก็ต้องผลักดัน เศรษฐกิจกระแสใหม่ก็เป็นโอกาสอีก กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการกลไกและงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เสริมศักยภาพแรงงาน ฯลฯ งบประมาณที่จะใช้ในการนี้ นอกจากการกู้แล้วก็ต้องมาจากการเก็บภาษี ซึ่งเป็นรายได้หลัก จริงไหมครับ ไม่งั้นเราคงแข่งขันกับคนอื่นไม่ไหว ผมถึงบอกว่าเรื่องของภาษี มีนัยสำคัญที่รัฐบาลต้องกลับมาพิจารณากันใหม่

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็พูดเสมอ ๆ ว่า ประเทศไทยมีรายได้จากภาษีต่ำมาก โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากอัตราภาษีที่ต่ำเกินไป การลดหย่อนภาษี และการยกเว้นต่าง ๆ ทำให้เราไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มศักยภาพ

บางคนอาจมองว่าการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ดีสิ เพราะจะได้ส่งเสริมการลงทุน ดึงดูดธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เข้ามาในไทยมากขึ้น แต่ในฐานะคนทำธุรกิจเองอย่างผมกลับมองต่าง ผมเชื่อว่าธุรกิจจะอยากเข้ามาลงทุนในไทยไม่ใช่เพราะการปรับลดภาษี แต่เพราะเขาเห็นโอกาสของการเติบโตในอนาคต ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง โทรคมนาคมพื้นฐานของรัฐบาล หรือนโยบายในการเพิ่มศักยภาพของแรงงานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้รายได้จากภาษีมาขับเคลื่อนต่างหาก

นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังมีข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนรวยสุด ทั้ง ๆ ที่กลุ่มนี้ควรจะจ่ายภาษีมากกว่าคนปกติ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เจ้าสัวที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการโอนมรดกมูลค่าสูง ๆ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย หรือภาษีคาร์บอน ล้วนแล้วแต่เป็น “low-hanging fruits” ที่รัฐบาลชุดนี้ควรจะผลักดันให้เกิด แต่จะด้วยความเชื่องช้าในการพิจารณาร่าง หรือความเกรงใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ใกล้ตัวคนออกนโยบายเอง ทำให้ภาษีพวกนี้ไม่ถูกนำมาพิจารณาบังคับใช้เสียที ดูตัวอย่างที่อังกฤษก็ได้ พอออกจากสหภาพยุโรป รัฐบาลเขาก็ประกาศยกเลิก VAT refund สำหรับนักท่องเที่ยว มีรายได้เพิ่มจากตรงนี้ แม้จะไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจสำหรับนักธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะกลัวนักท่องเที่ยวหนีไปช็อปปิ้งที่อื่นหมด แต่ก็ต้องทำ

ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้มีวาระเหลืออีกประมาณ 8 เดือน ถือเป็นโอกาสดีที่จะรีบเร่งปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเปิดทางและสร้างมาตรฐานในเรื่องการนำมาซึ่งรายได้ของรัฐที่มากขึ้นให้กับใครก็ตามที่มารับไม้ต่อสามารถเดินหน้าในเรื่องนี้ได้โดยไม่ต้องกังวล เพราะสุดท้ายแล้ว “ภาษี” คือรายได้สำคัญที่ประเทศจำเป็นต้องใช้ในการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้