ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีหลังยุคโควิด

QR code
pixabay
คอลัมน์​ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมพาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่น ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

เพราะจากที่ผมเคยได้ร่วมงานกับบริษัทของญี่ปุ่นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และช่วงนั้นปีหนึ่ง ๆ ได้เดินทางไปประชุมและทำงานกับคนญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้งมาก จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้

เมื่อได้มาญี่ปุ่นในครั้งนี้ก็ได้สังเกตว่าอะไรหลาย ๆ อย่างในญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไปบ้างในยุคหลังโควิด ในขณะที่ประเทศไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เช่น เดี๋ยวนี้คนไทยไม่ค่อยใช้เงินสดแล้ว ชอบใช้พร้อมเพย์กันมากขึ้น

แต่เมื่อมาดูที่ญี่ปุ่นกลับเห็นความเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่มากเท่าไหร่ ญี่ปุ่นเองก็มีคิวอาร์โค้ดให้สแกนจ่าย แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังชอบใช้เงินสดและบัตรเครดิตอยู่ ฉะนั้นคิวอาร์โค้ดที่มีจะมีบริการอยู่บางเจ้า เช่น PayPay

PayPay เป็นบริษัทเกี่ยวกับเพย์เมนต์ ซึ่งผมเข้าใจว่ากลุ่มของอาลีเพย์เข้ามาลงทุน และกำลังบุกอย่างหนัก เพราะเท่าที่ผมดูว่าตอนนี้คนญี่ปุ่นกำลังนิยมเรื่องของการใช้การ์ด

อย่างเวลาที่เรามาญี่ปุ่นจะมีบัตรที่สามารถขึ้นรถไฟชื่อว่า Suica ให้บริการญี่ปุ่นตอนกลางแถบเกียวโต และรอบ ๆ คล้ายกับบัตร Rabbit ของไทย

ADVERTISMENT

แต่เมื่อออกรอบนอกอย่างตามร้านอาหาร ก็จะเจอโลโก้เพย์เมนต์เจ้าต่าง ๆ เต็มไปหมด Rakuten เองก็ทำด้วยเหมือนกัน ชื่อว่า Rakuten Pay และมีเจ้าอื่น ๆ อีกเต็มไปหมด แต่เมื่อกลับมาดูแล้วคนญี่ปุ่นยังนิยมใช้เงินสดอยู่ คิวอาร์โค้ดไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่าไหร่ ผมว่าคนนิยม contactless คือประเภทบัตรเติมเงินมากกว่า

ฉะนั้น ในแง่พฤติกรรมของคนญี่ปุ่นไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะผมเข้าใจว่าประเทศของเขานั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมันรองรับกับชีวิตมากในระดับหนึ่งแล้ว คิดว่าญี่ปุ่นเขามีการใช้เงินแบบ cashless มาก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะที่นี่เขามีบัตร ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือบัตรเติมเงิน และคนใช้กันเยอะ

ADVERTISMENT

แต่กับคิวอาร์โค้ดค่อนข้างต้องใช้เวลา เพราะเขามีอุปกรณ์ชำระเงินที่ดีอยู่แล้ว แค่แตะปุ๊บก็จ่ายได้เลย ไม่ต้องมาเปิดกล้องสแกนอะไรให้วุ่นวาย แต่กับของเราที่เคยมีแต่บัตรเครดิต เลยมีกระโดดข้ามมาใช้คิวอาร์โค้ดกันเยอะ เพราะว่าต้นทุนถูกกว่ามาก

ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทางของไทยมีกันทั้งนั้น แค่แปะกระดาษที่มีคิวอาร์โค้ดใบเดียวก็สแกนจ่ายได้แล้ว ขณะที่ร้านก๋วยเตี๋ยวในญี่ปุ่นจะมีเครื่องที่รับชำระเงินหลากหลายแบบมาก ทั้งสแกน แตะ ต่อกับ POS ฯลฯ น่าจะลงทุนมากกว่ากันเยอะเลยทีเดียว

สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อมาญี่ปุ่น ผมแลกเงินมาจำนวนหนึ่ง แต่ชอบใช้บัตรเครดิตซื้อมากกว่า และตามร้านอาหารที่นี่สามารถใช้บัตรเติมเงินอย่างบัตร Suica ได้ ผมเลยใช้บัตรนี้ซื้อได้ทุกอย่าง ซื้อได้หมดตามตู้กดอาหารก็ใช้ได้

ในแง่ของการทำธุรกิจที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในยุคหลังโควิดมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ผมรู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตที่ญี่ปุ่นยังเป็นระบบปิด แต่คนญี่ปุ่นก็ยังใช้ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ ในฝั่งอีคอมเมิร์ซ Rakuten ก็ยังเป็นเบอร์ต้น ๆ โดยมี Amazon เริ่มบุกเข้ามา และเริ่มเจอผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรูปแบบอื่นที่เป็นแบบ C2C มีความหลากหลายมากขึ้น

หรือแม้แต่ LINE ผมเห็นคนที่นี่ใช้ในการสื่อสารกันหรือในร้านค้าต่าง ๆ มีการให้แอด LINE OA แต่ LINE ที่ญี่ปุ่นมีความลึกมากกว่าของเรา เขาจะมีมินิแอปทำอะไรต่าง ๆ ได้มากกว่า

ฉะนั้น ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะมาก ไลฟ์สไตล์มีความเฉพาะระดับหนึ่ง

จากการที่ผมได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในช่วงหลังโควิด เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ผมอยากสรุปให้ฟังว่า ในประเทศที่ล้ำหน้าอย่างญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงของเขามีแต่ไม่เยอะมากนัก

แต่ประเทศที่ล้าหลังกว่าอย่างลาว กัมพูชา หรือแม้แต่ไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ และเร็วมาก เพราะประเทศต่าง ๆ มีช่องว่างต่าง ๆ เช่น สังคม เทคโนโลยี แต่โควิดเกิดขึ้นทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

ประเทศที่พัฒนาแล้ว อิ่มตัวในเชิงของเทคโนโลยี ต่อให้มีโควิดก็ยังเดินต่อได้ เขาไม่กระโดดข้าม ขณะที่เรามีช่องว่างอยู่ เราจึงต้องกระโดดข้ามการใช้เทคโนโลยีไปได้ไกลกว่า และเทคโนโลยีที่เราเอามาใช้ก็ถูกกว่า

นี่คือความได้เปรียบของประเทศที่มีการรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา และกระโดดเข้าสู่โครงสร้างเทคโนโลยีใหม่ ไม่ต้องสร้างระบบอินฟราสตรักเจอร์ที่ลงทุนมหาศาล การเกิดโควิดทำให้ประเทศที่มีความล้าหลังมีความได้เปรียบในการที่จะกระโดดขึ้นมาทัน และเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาไปแล้วด้วยซ้ำ