อสส. และ อสม.

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

โรคระบาดไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่น่ากลัวกว่าโรคระบาดอื่น ๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส หรือโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบาดใหม่ที่มนุษย์เรายังไม่เคยมีประสบการณ์ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ยังไม่มียาหรือเซรุ่มสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโรคแล้ว มีเพียงข่าวว่า ฟ้าทะลายโจร วัชพืชพื้นบ้านของเราสามารถฆ่าไวรัสได้ รักษาอาการเป็นหวัดลงคอ หลอดลมอักเสบได้ แต่ก็ยังไม่ยืนยัน หมอยาไทยรู้จักและใช้เป็นสมุนไพรรักษาไข้หวัดตัวร้อนเจ็บคอมานานแล้ว

การเฝ้าระวังป้องกัน การให้การศึกษาข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งตรวจตราให้มีการปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันโรคระบาดดังกล่าวอย่างใกล้ชิดจึงมีความจำเป็น

โชคดีที่เรามี อสส. และ อสม. ซึ่งลอกแบบดัดแปลงมาจากหมอเท้าเปล่าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ประธานเหมาเป็นคนที่ได้ก่อตั้งขึ้น หมอเท้าเปล่าจำนวนมากกว่า 100 ล้านคน ประจำอยู่ทุกหมู่บ้าน ดูแลประชาชน 10-20 หลังคาเรือน ได้รับการอบรมความรู้เรื่องสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เพื่อกลับไปดูแลประชาชนในชนบท และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4-6 จึงมีโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. สำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นชนบท และ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด

ทั้ง อสส. และ อสม. มาจากประชาชนคนธรรมดา เข้าสมัครเป็น อสส. และได้รับการคัดเลือกจากศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ขึ้นทะเบียนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 35,000 กว่าคนและได้รับคัดเลือกปฏิบัติงานประมาณ 11,000 คน ได้รับการอบรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร

ส่วน อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านในแต่ละกลุ่มบ้านหลังคาเรือนในชนบท กลุ่มบ้านที่ อสม.จะเป็นผู้รับผิดชอบ มีประมาณ 10-20 หลังคาเรือน แต่ละครัวเรือนจะมีสมาชิกประมาณ 5 คน ก็เท่ากับ อสม.คนหนึ่งดูแลด้านอนามัยและสาธารณสุขประมาณ 50-70 คน ซึ่งมีทั้งทารก เด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา อสม.ของเราจึงมีเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ

เมื่อมีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจในเขตชนบทยากจน ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 และ 6 ซึ่งได้กำหนดเขตชนบทยากจน และโครงการต่าง ๆ 26 โครงการ เช่น โครงการโภชนาการแม่และเด็ก ที่ส่วนมากเป็นโรคขาดอาหาร ที่เราเรียกกันว่าโรคตานขโมย หรือโรคซาง ตามภาษาอีสาน มีอาการพุงโร ก้นปอด หรือเป็นโรคพยาธิไส้เดือนและปากขอ แนะนำไม่ให้กินปลาดิบ เนื้อสัตว์ดิบ เช่น ลาบ ก้อย แหนม หมูส้ม ปลาส้ม เป็นต้น อสม.จึงเป็นกลไกในการปฏิบัติให้ได้ตามแผนพัฒนาทั้ง 2 แผน และประสบความสำเร็จได้ผลเป็นอย่างดี

อสส.ในกรุงเทพมหานคร และ อสม.ในต่างจังหวัด ผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกมักจะเป็นผู้หญิง เคยสอบถามทาง กทม.และต่างจังหวัดก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ที่กระตือรือร้นจะมาเป็นอาสาสมัคร และได้รับเลือก มักจะเป็นผู้หญิง เป็นที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จัก เป็นคนขยันขันแข็ง เป็นที่ประจักษ์ในความเสียสละในการทำกิจกรรมของชุมชน หรือในหมู่บ้าน เป็นงานอาสาสมัครที่มีค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย เริ่มต้นเพียงเดือนละ 600 บาท ขณะนี้เพิ่มให้เป็น 1,000 บาท ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่

งานที่จะต้องทำเป็นนโยบายเชิงรุกในกลุ่มแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยเรื้อรัง ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อเป้าหมายในการลดผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ให้ความรู้เรื่องไอโอดีน เป็นผู้สื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุข ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหมู่บ้าน

นัดหมายเพื่อนบ้านมารับการป้องกันโรค และแจ้งข่าวสารสาธารณสุข เช่น ข่าวการเกิดโรคระบาด โรคติดต่อที่สำคัญ หรือโรคระบาดในท้องถิ่น หรือเป็นผู้แจ้งข่าวไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอำเภอ รวมทั้งแก้ข่าวร้าย ข่าวลือ กระจายข่าวดี แก้ความเชื่อที่ไม่จริง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย แจ้งข่าวโอกาสในการรักษาพยาบาลเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ

ถ้าจำไม่ผิด อสม. และ อสส. เริ่มมีขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และกลายเป็นจักรกลสำคัญในการนำเอามาตรการในแผนพัฒนาชนบทยากจน เป็นผู้นำมาตรการต่าง ๆ ในแผนพัฒนาชนบทไปปฏิบัติในระดับครัวเรือน

ข่าวคราวเรื่องอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อไวรัสโคโรน่าระบาดจากต่างประเทศเข้ามาแพร่กระจายในประเทศ ยอดผู้ติดโรค ยอดผู้เสียชีวิต ทำท่าจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม แต่ด้วยความสามารถและประสบการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยต่อสู้กับโรคระบาด เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้เหลือง ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไม่นับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิสและหนองใน กลไกที่ทำให้การควบคุมโรคระบาดต่าง ๆ ในประเทศที่สำคัญก็คือ อสม. และ อสส.

ทั้ง อสส.และ อสม. ที่เลียนแบบหมอเท้าเปล่าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในสมัยทำสงครามปลดปล่อย สมัยหลังจากการปลดปล่อย และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเหมาะกับประเทศยากจนที่ประชากรส่วนใหญ่ยากจน ขาดอาหาร ขาดการศึกษา ขาดบริการทางการแพทย์ อยู่ห่างไกลในชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาล

สมัยสงครามเย็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ได้มีการจัดตั้ง “หมอเท้าเปล่า” ขึ้นในกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย และมีหมอเท้าเปล่าโดยเลือกจากผู้ที่สมัครใจทำงานสาธารณสุขเพื่อประชาชน ถือกระเป๋ายาตรากาชาดอยู่ในกองทัพปลดแอก และหมู่บ้านที่ได้รับการปลดปล่อย และรอรับการคัดเลือกเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมวิชาการแพทย์ ทั้งวิชาการแพทย์สมัยใหม่ และวิชาการแพทย์แผนจีน ซึ่งก็มีทั้งยาสมุนไพร ผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่ ที่เมืองคุนหมิง แล้วกลับมาปฏิบัติการในกองทัพปลดแอก และหรือในเขตปลดปล่อยทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งก็เป็นต้นกำเนิดของโครงการสาธารณสุขหมู่บ้านชนบท

หมอเท้าเปล่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยามที่ประเทศยังมิได้พัฒนา ประชาชนยังคงอยู่ในวัฏจักรแห่งความยากจน และไม่มีความรู้ เราเป็นประเทศที่อาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นประเทศส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก แต่แม่และเด็กเป็นโรคขาดอาหาร ทุพโภชนาการ โลหิตจาง มีโรคระบาดเจ็บป่วยล้มตายเสมอมา เด็กสมัยนั้นเจ็บป่วยด้วยโรคง่าย ๆ ตั้งแต่คลอดจนถึงอายุ 5 ขวบ ซึ่งสภาพเช่นนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

เป็นบุคลากรต้นแบบที่สำคัญในการนำแผนไปปฏิบัติการในระดับกลุ่มบ้าน 10-15 หลังคาเรือน ทำให้การรักษาด้วยเวทมนต์ คาถา เป่ากระหม่อม อาบน้ำว่าน หรือความเชื่อว่าเจ็บป่วยเพราะผิดผีผิดสางนางไม้ เจ้าพ่อเจ้าแม่ ต้องเสียเงินเสียทองสะเดาะเคราะห์ บูชาเจ้าพ่อเจ้าแม่ผีสางนางไม้ ค่อย ๆ หายไปจากสังคมไทย แต่ที่พม่ายังคงมีอยู่มากเป็นปกติ

รูปแบบของการทำงานเพื่อควบคุมและป้องกันโรคระบาด เช่น โคโรน่าไวรัสของเรา น่าจะเป็นรูปแบบเดียวกันกับประเทศจีน และคงไม่เหมือนกับประเทศยุโรปตะวันตก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นระบบสาธารณสุขระดับกลุ่มบ้าน ซึ่งเล็กกว่าหมู่บ้าน ใช้บุคลากรอาสาสมัครสาธารณสุขที่มีจิตใจสาธารณะ มิใช่ทำเพื่ออาชีพประจำ ต้นทุนทางการเงินจึงต่ำ เหมาะสำหรับประชาชนผู้ยากไร้ เป็นระบบบริการสาธารณสุขและการแพทย์ที่เริ่มต้นจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด แต่ไปไกลจนถึงระดับภาคและประเทศ เป็นระบบที่ทำให้เกิดการประหยัดและทั่วถึง

สำหรับผู้ที่มีฐานะและต้องการบริการสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ที่ดีและรวดเร็ว ก็สามารถรับบริการได้จากโรงพยาบาล หรือสถานบริการของเอกชน หรือโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐ นอกเวลาราชการ ที่ราคาค่าบริการและค่ายาสูงกว่าในเวลาราชการ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็ไม่ต้องไปลงทุนทำคลินิกของตนเอง หรือไปทำงานต่างประเทศ แต่อาจจะออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ได้รับผลตอบแทนในอัตราระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน บริการทางการแพทย์ของเราก็กลายเป็นสินค้าส่งออก ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก

บทบาทของ อสม. และ อสส. จึงเป็นบทบาทที่น่าชื่นชมในความเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวม และอาจจะกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จไม่แพ้หมอเท้าเปล่าในประเทศจีนต้นแบบ

เสียดายที่โรคระบาดจู่โจมจีนเป็นประเทศแรก ยังไม่ทันตั้งตัว แต่ก็ตั้งตัวได้เร็วกว่ายุโรปและอเมริกา ไทยก็น่าจะตั้งตัวได้ดีกว่าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นในอาเซียน และคงจะไม่กลับคืนมาอีก เพราะฝีมือของกระทรวงสาธารณสุข และที่สำคัญ คือ เรามี

อสม. อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน