เปิดประวัติ ขันเงิน ไทยเทเนียม ศิลปินนักธุรกิจ ทุ่มซื้อหุ้น MPIC 650 ล้าน

KHan THAITANIUM
ภาพจาก KHan THAITANIUM

เปิดประวัติ ประสบการณ์ทำธุรกิจ และบริษัทในมือ “ขันเงิน ไทยเทเนียม” ศิลปินผู้รักการทำธุรกิจ ก่อนทุ่มซื้อหุ้น เอ็ม พิคเจอร์ส มูลค่ากว่า 650 ล้านบาท

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 สืบเนื่องจาก บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือ MAJOR รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการเข้าทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้นในสัญญาซื้อขายหุ้นที่บริษัทถืออยู่ในบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC จำนวน 1,202.13 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 92.46% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดให้กับ นายขันเงิน เนื้อนวล หรือ ขันเงิน ไทยเทเนี่ยม ในราคาหุ้นละ 0.54 บาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 650 ล้านบาท

การทุ่มเงินซื้อหุ้นดังกล่าวจึงทำให้ ขันเงิน ไทยเทเนียม กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ เอ็ม พิคเจอร์ส ทันที โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ในมือ

“ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดประวัติ ขันเงิน ไทยเทเนียม หรือ ขันเงิน เนื้อนวล นอกจากเป็นนักร้องแร็ปชื่อดังแล้วเขาเคยทำอะไรมาบ้างในแวดวงธุรกิจ

ขันเงิน เนื้อนวล หรือ “ขันเงิน ไทยเทเนียม” (ขัน) เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2519 เป็นแร็ปเปอร์ พิธีกร และนักธุรกิจชาวไทย เติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อเปิดธุรกิจ โรงเรียนอนุบาลเสนาร่วม ในซอยพหลโยธิน 11 จากนั้นไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนไฮสคูล ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

KHan THAITANIUM
ภาพจาก KHan THAITANIUM

ขันเงิน เคยเผยกับ Praew Magazine ว่า เขาเซ็นสัญญากับค่ายโซนี่มิวสิคตั้งแต่ยังเรียนไม่จบไฮสคูล เนื่องจากเจ้าตัวมีความฝันอยากทำเพลงและไม่อยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายเส้นทางก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ต้องกลับมาประเทศไทยและเดินเตะฝุ่นอยู่เป็นปี ๆ

จนประทั่งปี 2538 ได้เข้าไปอยู่กับสังกัดแกรมมี่ ทำงานเพลงออกมาในชื่ออัลบั้ม Hip Hop Story ในนาม ขัน-ที แต่พออยู่ไปสักระยะก็รู้สึกหมดแพสชั่น จึงนำเงินเก็บที่มีไปนิวยอร์กเพื่อหาแรงบันดาลใจ

ที่สหรัฐอเมริกาเขาเช่าห้องพักราคาถูกอยู่ร่วมกับ “เดย์-จำรัส ทัศนละวาด” และ “เวย์-ปริญญา อินทชัย” ที่ต่อมาทั้ง 3 ได้ร่วมกันก่อตั้งวง “ไทยเทเนียม” ขึ้น

ขันเงิน นิยามตัวเอง ว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เป็นศิลปินที่พอทำธุรกิจได้นิดหน่อย จุดเริ่มต้นคือการได้ไปอยู่อเมริกาตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อและแม่ก็เลี้ยงแบบต่างประเทศ คือ อยากได้อะไรต้องหาเองเพื่อเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น

KHan THAITANIUM
ภาพจาก KHan THAITANIUM

จุดพลิกผันของครอบครัวขันเงินเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 หลังเขาไปอยู่อเมริกาได้เพียงปีเดียวคุณพ่อก็เสียชีวิตลง ชีวิตหลังจากนั้นก็มีแต่ความยากลำบาก ด้วยคุณพ่อที่เป็นนักธุรกิจจากไปจึงไม่มีใครสานต่อกิจการและทำให้เกิดหนี้มหาศาล แม่ของขันเงินต้องขายบ้านเพื่อจ่ายหนี้ แล้วเริ่มต้นกิจการใหม่ด้วยการเปิดผับเล็ก ๆ

ขันเงิน ทำธุรกิจมาหลายอย่าง ธุรกิจแรกที่เริ่มทำ คือ แบรนด์สื้อผ้าชื่อว่า “9 Face” ซึ่งทำไปได้เรื่อย ๆ เป็นเวลากว่า 10 ปี ก่อนที่เจ้าตัวจะโฟกัสหลายอย่างมากเกินไปจนต้องปิดกิจการในที่สุด

นอกจากนี้ขันเงินยังเคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการชอบตกแต่งบ้าน ทำให้มีส่วนเข้าไปร่วมการดีไซน์ในธุรกิจ และยังเคยถือหุ้นในสายการบิน “Asian Air” ที่ให้บริการแบบเช่าเหมาลำ บินตรงจากกรุงเทพฯ-กรุงโตเกียว แต่ประกาศล้มละลายไป

ขันเงิน กล่าวใน MiX Magazine ว่า ผมลองทำธุรกิจมาเยอะ เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ แต่ก็เจ๊งหมด ส่วนเปิดร้านขายเสื้อผ้าก็ ถู ๆ ไถ ๆ ได้เงินเลี้ยงบริษัทแต่ไม่มีกำไร ทำสายการบิน เปิดสตูดิโอ ทำบ้านจัดสรร ทำเกี่ยวกับน้ำมัน ซึ่งทำเยอะเกินไป

ในปี 2551 ขันเงินยังเคยทำทำมหกรรมคอนเสิร์ต “Asian Hip-Hop Festival” เฟสติวัลใหญ่ มีศิลปิน 8 ประเทศมาร่วมงาน แต่ก็ขาดทุน ติดหนี้เป็นสิบล้านบาท

ส่วนเรื่องความรัก ขันเงิน เคยมีแฟนเป็นดาราสาวแสนสวย ศรีริต้า เจนเซ่น สุดท้ายเลิกรากันไปโดย ศรีริต้า เข้าพิธีวิวาห์กับหนุ่มไฮโซ กรณ์ ณรงค์เดช ซึ่งขันเงินก็ไปร่วมแสดงความยินดีในงานแต่งด้วย เพราะแม้จะเลิกรากนในฐานะคนรักกันไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

KHan THAITANIUM
ภาพจาก KHan THAITANIUM

บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ของ ขันเงิน

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ไทยเทเนี่ยม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด

  • ข้อมูลล่าสุดปี 2562 สถานะ ยังดำเนินการอยู่
  • เป็นผู้จัดให้มีการแสดงด้านความบันเทิง
  • รายได้รวม 52,355,770.87 บาท
  • รายจ่ายรวม 52,596,241.03 บาท
  • ขาดทุน 240,470.16 บาท

ไทยเทเนี่ยม พับลิชชิ่ง จำกัด

  • ข้อมุลล่าสุดปี 2562 สถานะ ยังดำเนินการอยู่
  • ประกอบกิจการเป็นผู้จัดการและดูแลผลประโยชน์ เก็บผลประโยชน์และจัดการเผยแพร่เพลงภาพยนตร์
  • รายได้รวม 698,475.81 บาท
  • รายจ่ายรวม 38,075.03 บาท
  • กำไร 586,719.62 บาท

ไทยเทเนี่ยม เบฟเวอเรจ จำกัด

  • ข้อมูลล่าสุดปี 2564 สถานะ ยังดำเนินการอยู่
  • ผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์และน้ำแร่บรรจุขวด
  • รายได้รวม 1,227.49 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,288,698.28 บาท
  • ขาดทุน 1,287,470.79 บาท

เอฟ ยู พี เอ็ม จำกัด

  • ข้อมูลล่าสุดปี 2565 สถานะ ยังดำเนินการอยู่
  • ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ต
  • รายได้รวม 0 บาท
  • รายจ่ายรวม 10,470.22 บาท
  • ขาดทุน 10,470.22 บาท

น็อค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

  • ข้อมุลล่าสุด ปี 2562 สถานะ เสร็จการชำระบัญชี
  • ค้าผ้า ด้าย เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • รายได้รวม 0 บาท
  • รายจ่ายรวม 30,156.65 บาท
  • ขาดทุน 30,156.65 บาท

สำหรับ เอ็ม พิคเจอร์ส เป็นธุรกิจลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านภาพยนตร์ โดยผ่านทางบริษัทย่อยต่าง ๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ และธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทย เพื่อจัดจำหน่ายผ่านโรงภาพยนตร์ พร้อมทั้งการขายลิขสิทธิ์ให้สื่อทางทีวีในรูปแบบของ cable TV, Free TV, Internet, IPTV, VIDEO on demand เป็นต้น โดยไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 2.87 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42%