5 พรรค ออกสตาร์ตหาเสียง ชูประชานิยม “แจก จ่าย จบ” แก้ปมเศรษฐกิจ

หาเสียงเลือกตั้ง
รายงานพิเศษ

แม้กติกาการเลือกตั้งยังลูกผีลูกคน จมปลักอยู่กับสูตรคำนวณ ส.ส.หาร 100 หาร 500

แล้วยังไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่สั้นแค่จบเอเปคเดือนพฤศจิกายน หรืออยู่ยาวครบเทอมจนจบเดือนมีนาคม

แต่พรรคการเมืองขาใหญ่ ไม่ต้องรอสัญญาณการเป่านกหวีดให้ลงสู่สนามเลือกตั้ง เพียงแค่ถึงเวลาอันควรก็พร้อมนับ 1 ทันที

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเห็น “พรรคการเมือง” ขาใหญ่ทั้งหลาย ต่างลงพื้นที่ คิกออฟฤดูการหาเสียง-เปิดตัวผู้สมัคร ขายนโยบายประชานิยม แจก-จ่าย-จบ อาจกล่าวได้ว่าพรรคการเมืองทั้งหลายต่างออกตัวจากจุดสตาร์ตกันแล้ว

โรดโชว์ขายนโยบาย 10 จังหวัด

ส่วนพลังประชารัฐ ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้สโลแกน “ไม่รู้ ๆ แต่ไม่แล้ง” เดินสายโรดโชว์ 10 จังหวัด “เปิดตัว” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และเปิด “นโยบายเศรษฐกิจ” ประเดิมครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี

ครั้งที่สอง-ล่าสุดหนองคาย ที่มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้ารับผิดชอบอีสานเหนือ ขายนโยบายเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน ตามคำบัญชาของ พล.อ.ประวิตร “ผ้าขาวม้าเชื่อมโลก” ตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ ส.ส.ยกจังหวัด

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมภาคอีสานด้วยรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีนให้เป็นเส้นทางการคมนาคม-ศูนย์กระจายสินค้า พลิกโฉมสนามบิน ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

“ถ้าโครงการเศรษฐกิจพิเศษของภาคอีสานสำเร็จ พี่น้องจะไม่ต้องลงไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือภาคตะวันออก จะทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ พี่น้องของท่านก็จะได้อยู่กับท่าน ความสงบสุขก็จะเกิดขึ้น มีความสุข”

จากนี้เตรียมโรดโชว์ครั้งที่ 3 จังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจในการใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า ที่มี “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เป็น “หัวหน้าทีมนโยบาย
เศรษฐกิจ” ได้คิดค้นนวัตกรรมนโยบายสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

โดยการสร้างรายได้-พัฒนาอาชีพ รวมไปถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ ผ่านแพลตฟอร์มอบรมถ่ายทอดความรู้ทางทฤษฎีสู่ปฏิบัติ และเชื่อมโยงการทำงานกับ ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ซึ่งเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้

ภท.ชูพักหนี้-แจกงบฯจังหวัด

ขณะที่พรรคเบอร์ 2 ในรัฐบาลประยุทธ์ อย่าง “ภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และบ้านใหญ่ “ชิดชอบ” แห่งเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งเป้าจะได้ ส.ส.กลับเข้าสภาหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ต่ำกว่า 70-80 ที่นั่ง เริ่มทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งทั้งในภาคอีสาน-กลาง ระดับตัวจริง-ทุนหนา

พ่วงด้วย คีย์เวิร์ดการเมือง “พูดแล้วทำ” ขายของนโยบายจากการเลือกตั้งตอนปี 2562 แล้วมาผลักดัน
ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่าง “กัญชาเสรี”

มาครั้งนี้พรรคภูมิใจไทย ประกาศนโยบาย โครงการพักชำระหนี้ระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก มีพละกำลัง มีเรี่ยวแรงในการทำมาหากิน และได้ผ่อนคลายจากความขัดสน จากผลกระทบโควิด-19

ขณะเดียวกัน ขยาย “บุรีรัมย์โมเดล” ไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดยแต่ละจังหวัดควรจะต้องมีงบฯพัฒนาด้านการท่องเที่ยว 300-500 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณตรงนี้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศถึง 5 ล้านล้านบาท ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ได้หาทางเพิ่มค่าตอบแทนเป็น 1.5 พันบาทต่อเดือน ในการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

ปชป.เฟ้นหัวหน้าทีม ศก.คนใหม่

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ องคาพยพเริ่มขยับตัวเพื่อรองรับการเลือกตั้ง หลังจาก “นราพัฒน์ แก้วทอง” รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบภาคเหนือ เตรียมลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลังจากลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 66

หลังวันที่ 19 ส.ค. 65 “นราพัฒน์” จะกลับไปรับตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” สวมหมวกมือ-ไม้ นายเฉลิม ชัยศรีอ่อน เลขาธิการพรรค-รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังจากผลงานครั้งที่ผ่านมามี ส.ส.ตาก 1 คน

“นราพัฒน์” จะมุ่งงานการเมืองพื้นที่ภาคเหนือ สานต่อนโยบาย “เชื่อมเหนือเชื่อมโลก” เบนเข็มให้เป็น “ฮับการส่งออก” ตั้งเป้าเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้เท่ากับ “รุ่นพ่อ” นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตหัวหน้าพรรค เมื่อปี 50 จำนวน 12-13 ที่นั่ง

“ตอนนี้เน้นภาคเหนือตอนบน เชียงใหม่ น่าจะตีไข่แตก ปักธงได้ 2-3 เขต การทำพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ ลงพื้นที่ทุกวัน เจอชาวบ้านทุกวัน ความขยัน ถึงลูกถึงคน ประชาธิปัตย์ไม่แพ้ใคร”

“แนวทางเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ต้องเป็นไปได้และยั่งยืน ไม่มีลด แลก แจก แถม เกทับ ไม่โฆษณาเกินจริง ไม่ออกนโยบายหวือหวา เป็นนโยบายประเทศ ไม่ใช่นโยบายพรรคการเมือง” รองหัวหน้าภาคเหนือแง้มพิมพ์เขียวนโยบายเศรษฐกิจ

หลังจากหมดยุคนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และยุคนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประชาธิปัตย์ก็ไร้ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เฉลิมชัย เลขาธิการพรรค จึงอยู่ระหว่างเฟ้นหา-ทาบทามแคนดิเดต “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่” โดยมีคุณสมบัติพื้นฐานต้องสัมผัสการเมืองมาพอสมควร เช่น นายศุภชัย พานิชภักดิ์

พท. แก้ปมเศรษฐกิจใน 60 วัน

ด้านพรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ยกขบวนไปทั้งเหนือ-อีสาน นำทัพโดย “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ยังพ่วงด้วย 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรค

ประกาศว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเร่งทำงานเชิงรุก โดยใน 6 เดือนแรกจะแก้ปัญหามหภาค ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ระบบราชการ ต้องถูกแก้ไขให้ตอบโจทย์ประชาชน จะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้พี่น้องประชาชนพ้นหนี้ เพิ่มช่องทาง เพิ่มโอกาสในการทำมาหากินให้เท่าทันโลก เพื่อให้คนทุกรุ่นทุกวัยสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง

และใน 6 เดือนต่อมา พรรคเพื่อไทยจะส่งรัฐมนตรีไปทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยมี ส.ส. ปราชญ์ชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาหารือร่วมกัน

มั่นใจว่าภายใน 1 ปี หลังจากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ปัญหาหลัก ภาพใหญ่ทั้งหมด จะถูกแก้ไขเกือบทั้งหมด หลังจากนั้นจะลงรายละเอียดเพื่อให้ปัญหานั้นหมดไป และเกิดศักยภาพมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ส่งการบ้าน 5 ข้อ 1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจสู่ประชาชน โดยจัดงบฯภาคประชาชนลงไปในระดับหมู่บ้านให้ประชาชนตัดสินใจร่วมกัน 2.ดึงศักยภาพคนไทยสร้าง soft power 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว จะจัดระบบค้นหาศักยภาพของคนไทยอย่างน้อย 1 คน 1 ครอบครัว 16 ล้านครอบครัว 3.ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการเกษตร 4.ปรับเปลี่ยนภาครัฐและภาคเอกชนด้วยระบบ digital transformation ครั้งใหญ่ 5.เตรียมคนไทยเข้าสู่ยุค Metaverse โลกเสมือนจริง จะนำโลกที่เป็นจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล รวมถึง games และ e-Sports

9 เดือน 9 แคมเปญใหญ่ก้าวไกล

ส่วนพรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ยังไม่ประกาศแคมเปญขายนโยบาย นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ได้ปล่อยแคมเปญแรกไปแล้ว คือ “ก้าวไกล NEXT” เปิดช่องให้แฟนคลับ ติ่งส้ม ประชาชนทั่วไป ส่งความเห็นมายังพรรคเพื่อนำไปปฏิรูปพรรค ตั้งเป้าหมายขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาลครั้งหน้า

ก่อนที่เดือนกันยายน จะเปิดเฟสต่อไป จะเปิดแคมเปญใหญ่ 9 เดือน 9 เป็นการคิกออฟ “ปักธง” เข้าสู่การเลือกตั้ง และหลังจากนั้นจะเริ่มปล่อยแคมเปญออกมาจนถึงวันเลือกตั้ง

นี่คือความเคลื่อนไหวของ 5 พรรค ที่มีเก้าอี้ ส.ส.ในสภา