เครือข่ายภาคปชช. ล่า 1 หมื่นชื่อ ดันแคมเปญ”ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ”

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ค iLaw

เครือข่ายภาคปชช.เตรียมล่า 1 หมื่นรายชื่อ “ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ” ชี้คำสั่งคสช.กระทบต่อชีวิต-เสรีภาพ-เอื้อคนรวย ขาดการมีส่วนร่วม

วันที่ 15 ม.ค. 2560 ภาคประชาชนจับมือเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการเเถลงข่าวที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ตัวแทนภาคประชาชนทุกเครือข่ายรวม 24 เครือข่าย ร่วมกันอ่านเเถลงการณ์ เปิดตัวโครงการ และอธิบายสาเหตุทำไมต้องยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ว่า เป็นเวลากว่า 3 ปี 8 เดือน ที่คสช.เข้าควบคุมอำนาจ มีการใช้อำนาจพิเศษออกประกาศเเละคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวม 533 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รับรองให้ประกาศเเละคำสั่งทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายเเละมีผลบังคับเรื่อยไป จนกว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติมายกเลิก

สำหรับขั้นตอนจากนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 24 เครือข่ายจะดำเนินการรณรงค์ในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อรวบรวมผู้รายชื่อ และผู้ที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อยื่นร่างกฎหมายต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้งต่อไป

โดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวแถลงการณ์ว่า ในบรรดาประกาศเเละคำสั่งคสช. เเละคำสั่งหัวหน้าคสช. ทั้ง 533 ฉบับ มีอย่างน้อย 35 ฉบับ ที่มีเนื้อหาในทางละเมิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิทางการเมือง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เเละสิทธิชุมชนของประชาชน รวมทั้งจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างร้ายเเรง

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบ จึงเห็นควรเสนอให้ยกเลิกประกาศเเละคำสั่งคสช. เเละคำสั่งหัวหน้าคสช. ในเบื้องต้นจำนวน 35 ฉบับ จึงพร้อมกันใช้สิทธิตามมาตรา 133(3) ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเตรียมเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศเเละคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเเละประชาธิไตย พ.ศ. … (ฉบับประชาชน)” ต่อสภาผู้เเทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ยกเลิกประกาศเเละคำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ทั้ง 35 ฉบับ เพื่อ “ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ”

นายบารมี ชัยรัตน์ ตัวเเทนจากสมัชชาคนจน กล่าวว่า สมัชชาคนจนมีจุดยืนที่ชัดเจนที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร โดยถือว่าคำสั่งที่ออกมาไม่ชอบธรรม และเป็นคำสั่งที่สร้างผลกระทบ อาทิ ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป , คำสั่งปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าตามกฎหมาย เป็นต้น

“คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้พี่น้องสมัชชาคนจนถูกให้ออกจากพื้นที่ ในขณะที่คนรวยไม่มีผลกระทบอะไร ทางสมัชชาคนจนจึงรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเข้าชื่อเสนอยกเลิกประกาศ/คำสั่ง เเละยื่นต่อสภาผู้เเทนราษฎร”นายบารมีกล่าว

นายอารัติ แสงอุบล เลขาธิการกรรมการประสานงาน องค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวถึงการทำงานของคสช. ตลอด 3 ปี 8 เดือน ว่า กรอบการทำงานของคสช. ไม่ปกติตามที่ควรจะเป็น สิ่งที่กังวลคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน,สื่อ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม กป.อพช. มองในเรื่องกระบวนการสิทธิชุมชนสิ่งเเวดล้อม คำสั่งของคสช. กระทบในเรื่องป่าไม้ ที่ดิน ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในระยะสั้น-ยาว

“เห็นจากประเด็นผืนป่ากว่า 1.5 แสนไร่ถูกทวงคืน ซึ่งไม่มีคำตอบที่เเน่ชัดว่าพี่น้องประชาชนที่อยู่ตามเเนวชายขอบ หรือเป็นคนจนมีความเป็นอยู่อย่างไร ยังไม่รวมที่ฟ้องร้องเป็นคดี ปัญหาเหล่านี้สร้างผลกระทบเเน่นอน”นายอารัติกล่าว

เลขาธิการ กป.อพช.ภาคอีสาน กล่าวต่อว่า กรณีการนำที่ดินคืนเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้จุดประสงค์ในการใช้ที่ดินเปลี่ยน เป็นการนำที่ดินไปใช้เเบบสุดโต่ง ซึ่งการบอกว่าเป็นนโยบายที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนคนจน แต่ดูเหมือนจะย้อนเเย้งกับสิ่งที่เห็น จำเป็นต้องได้รับการเเก้ไขให้เร็วที่สุด

ด้านพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อธิบายถึงผลกระทบที่ได้รับว่า ประเด็นการถูกควบคุมตัวจากทหาร คำสั่งเหล่านี้เปรียบเหมือนประชาชนอยู่ในสนามสงคราม ทหารมีอำนาจควบคุมตัว ทั้งที่เรื่องพวกนี้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ตามรัฐธรรมนูญเเละกฎหมายอาญาได้ออกรองรับไว้

อีกหนึ่งประเด็นคือการนำประชาชนเข้าสู่ศาลทหาร แม้จะมีการยกเลิกไปเเล้ว เเต่ยังมีประชาชนนับร้อยที่ยังต้องเข้า เพราะถูกดำเนินคดีก่อนประกาศยกเลิกนั้นเอง และการตรวจสอบคดีของตำรวจ อัยการ เเสดงให้เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ รวมถึงบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วน การเข้าชื่อเสนอยกเลิกคำสั่งคสช. จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก

นายภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนเเปลงสังคม กล่าวว่า ประกาศคำสั่งของคสช. ทำให้เกิดความจำกัดในการทำงานของกลุ่ม จะเห็นได้ว่า กรณีไผ่ ดาวดิน เป็นการทำตามความคิดและความเชื่อของเขาที่เป็นเสรีภาพ เเต่พออยู่ในภาพรวมของสังคมกลับถูกมองว่าสิ่งที่เชื่อเป็นเรื่องผิด เเสดงให้เห็นถึงความย้อนเเย้งบางอย่าง

ขณะที่ นุชนารถ เเท่นทอง ตัวเเทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาคทำงานเพื่อประชาชน เเต่ถูกโยงทุกโครงการไปใส่กับการเมือง ไปใส่สีต่างๆ มีบางกลุ่มเรียกเราว่า “สลิ่ม” ซึ่งขอชี้เเจงเลยว่า ไม่ได้ทำงานอิงการเมือง ไม่สนกลุ่มทุน 3 ปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ปัญหาให้เเก่ทุน เเต่คนจนยังไม่ได้รับการเเก้ไข ทั้งที่มีเเผนขจัดความยากจน เเผนยุทธศาสตร์ชาติ

“เวลาเกิดปัญหาอยากร้องเรียน บอกให้ไปที่ศูนย์ดำรงธรรม 2-3 คนเขาก็ช่วยเหลือ ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมของรัฐบาลเปรียบเหมือนเสือไม่มีลาย ไม่ได้ผล ไม่มีประสิทธิภาพ”

ตัวเเทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวต่อว่า พอคนจนเเสดงออกก็โดนหาว่าเรื่องมาก เเต่ไม่เคยถามเราเลยว่า เป็นอยู่อย่างไร แก้ให้เราหรือไม่ สิ่งที่โดนหนักตอนนี้คือ พ.ร.บ.ชุมนุม จะทำอะไรต้องขออนุญาต ทั้งที่เป็นเรื่องปากเรื่องท้อง ไม่ใช่ในเรื่องของการชุมนุม ตอนนี้คนจนในสลัมถูกไล่ที่มากที่สุดคือในพื้นที่สาธารณะ ทำให้เห็นชัดเลยว่ารัฐบาลแก้ปัญหาให้คนรวยก่อนเสมอ

นายรังสิมันต์ โรม ตัวเเทนจากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ตัวเองต้องไปอยู่ในคุกหลายครั้งจากคดีเชื่อมโยงคำสั่งคสช. เเละยังมีอีกหลายคน ที่โดนเช่นเดียวกัน ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องร่างกาย จิตใจ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

นายอภิวัฒน์ กวางเเก้ว จากกลุ่มคนรักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ตลอดเวลา 1 ปี รัฐบาลต้องการเเก้ในเรื่อง พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง ของประชาชนกว่า 49 ล้านคน ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง หรืออาจเกิดการล้มละลายของการรักษาพยาบาลก็เป็นได้

ขณะเดียวกันเมื่อต้องการพูดในเรื่องนี้ รัฐบาลดูมีทีท่าเเค่รับฟัง เเละยังส่งทหารมาควบคุม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่กระทบมากที่สุด คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปีที่เเล้ว ได้มีการมาหานายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสียงถึงนายก เเต่โดนประกาศจำกัดสิทธิ์ ให้ไปชุมนุมที่อื่น ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด

“เสียงของเรายังไม่สามารถบอกให้รัฐบาลได้ยินเลย คำสั่งของคสช. มันกระทบเสรีภาพ ต่อเสียงที่ประชาชนอยากบอกให้รัฐบาลดำเนินงานไปทิศทางใด ซึ่งมันยังไปไม่ถึงไหน ถ้ายังมีคำสั่งเหล่านี้อยู่” นายอภิวัฒน์กล่าว

สอดคล้องกับตัวเเทนจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (คอป.) “สุภาภรณ์ มาลัยลอย” กล่าวถึงผลกระทบที่ได้รับจากประกาศ/คำสั่ง คสช. ว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำงานเเบบไร้ขอบเขต สิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญไม่มีความหมายเพราะถูกจำกัดจากคำสั่งคสช. สิ่งเหล่านี้ควรถูกยกเลิกไป

“กรณีการประกาศลิดรอนด้านสิ่งเเวดล้อมเเล้วไปเอื้อต่อการลงทุน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเเละสิ่งเเวดล้อม อาทิ ให้นำที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ หรือ ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมสำหรับ โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะ เเละ ยกเว้นผังเมืองเเละกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คำสั่งเหล่านี้ควรถูกยกเลิกไป”ตัวแทนจากคอป.กล่าว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณลานปรีดี พนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ภาคประชาชน พร้อมตัวเเทนประชาชนทุกเครือข่าย จับมือร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บรรยากาศเป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่เเต่อย่างใด พร้อมทั้งมีการตั้งโต๊ะให้ประชาชนร่วมลงชื่อ ในแคมเปญปลดอาวุธคสช. เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน