จาตุรนต์ เชื่อ เหตุสภาล่ม “ประยุทธ์” และพวก ต้องการแก้กติกาเลือกตั้ง

จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ร่ายไทมไลน์สภาล่ม ล้มสูตรหาร 500 ชี้ ประยุทธ์ ยังพยายามแก้รัฐธรรมนูญให้กลับมาเป็นบัตรใบเดียว 

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีสภาล่มภายหลังการนับองค์ประชุมเพื่อลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ว่า สภาล่มวันนี้ ความเป็นมาและความเป็นไป 1.รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ด้วยเหตุผลว่าทุกคะแนนต้องไม่ตกน้ำ

ระบบนี้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว คิดจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคก่อน พรรคไหนได้ ส.ส.เขตมาเท่าไหร่ให้เอาไปหักออกจาก ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

2.ระบบนี้ได้ผลตามที่ผู้ออกแบบต้องการคือทำให้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เขตมากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว นอกจากนั้น กกต.ยังใช้วิธีพิสดารทำให้พรรคการเมืองจำนวนมากที่ได้เสียงเพียงไม่กี่หมื่นคะแนนได้ ส.ส.ไปพรรคละคน ซึ่งส่วนใหญต่อมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

3.เมื่อเวลาผ่านไป พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เห็นว่าตนเองมีโอกาสจะเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากยังใช้ระบบบัตรใบเดียว ตนเองจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเจอมา จึงวางแผนแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ พร้อมกับเพิ่มจำนวนเขต ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลง ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ พปชร.ได้เปรียบพรรคอื่นทั้งหมด รวมทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล

4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขระบบเลือกตั้งผ่านรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ต่อรัฐสภาและรัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 180 วัน

5.รัฐสภารับร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่ ครม. (ตามข้อเสนอของ กกต.) เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งมีสาระสำคัญคือใช้ระบบบัตรสองใบ คือ ไม่มีการคิด ส.ส.พึงมี และจำนวน ส.ส.เขต นับคะแนนจากบัตร ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อคิดจากบัตรพรรค แยกกันอย่างชัดเจนเหมือนการเลือกตั้งปี’44, 48 และปี’54 ที่ปัจจุบันเรียกว่า “หาร 100”

6.คณะกรรมาธิการพิจาณาร่าง พ.ร.ป.พิจารณาแล้วเสร็จ เสนอต่อรัฐสภาโดยคงสาระสำคัญไว้ตามร่างที่ ครม. (และ กกต.) เสนอ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เพิ่งแก้ไขไปก่อนแล้ว

7.วิปพรรคร่วมรัฐบาลลงมติสนับสนุนร่าง พ.ร.ป.ของคณะกรรมาธิการ

8.ช่วงที่มีการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกเป็นต้นมา เกิดความขัดแย้งใน พปชร.ถึงขั้นจำยอมสมคบกันให้ขับ ส.ส.ออกจากพรรค ประกอบกับคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พปชร.ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงเกิดความคิดที่จะแก้ไขระบบเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อลดความได้เปรียบของพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

9.ก่อนการลงมติในวาระที่สองในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพียงวันเดียว มีคำสั่งจากผู้นำรัฐบาลให้ ส.ว. และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบตามผู้สงวนคำแปรญัตติเพียงคนเดียวที่เสนอให้คิดจำนวน ส.ส.พึงมีโดยคำนวณจากบัตรพรรค แล้วหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคด้วยการเอาจำนวน ส.ส.เขตไปหักออกจากส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ที่เรียกกันว่า “หาร 500” ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขไปแล้วอย่างชัดเจน

10.คณะกรรมาธิการต้องไปแก้ไขมาตราอื่น ๆ ในร่าง พ.ร.ป.ให้สอดคล้องกับมาตราที่เห็นชอบให้แก้ไขไปแล้ว เมื่อแก้ไขเสร็จก็นำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา

11.ระหว่างรอคณะกรรมาธิการเสนอกลับเข้ามาใหม่ มีการไปคำนวณตัวเลขกันอีกพบว่า ระบบ “หาร 500” นี้ พรรค พปชร. และพรรคร่วมรัฐบาลกลับจะเสียเปรียบ ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย แต่พรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ อาจจะกลายเป็นได้เปรียบขึ้นมา

“พรรคร่วมรัฐบาลจึงกลับลำอีกครั้งและแผนการทำให้ ‘สภาล่ม’ จึงเกิดขึ้นและถูกนำมาใช้ ประกอบกับเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เห็นว่าไม่ควรปล่อยให้ร่างแบบ ‘หาร 500’ ที่ขัดรัฐธรรมนูญนี้ผ่านสภา สภาจึงล่ม และทำให้ร่าง พ.ร.ป.นี้ตกไปในที่สุดเนื่องจากพ้นกำหนด 180 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด”

12.เมื่อร่างที่พิจารณากันอยู่ตกไป รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ร่างที่เสนอเข้าสภาแต่ต้นเป็นกฎหมาย ก็คือร่างที่ครม.เสนอต่อรัฐสภา คือ ระบบ “หาร 100”

13.ที่จะต้องติดตามต่อไปคือจะมีใครยื่นเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่าง พ.ร.ป.ที่ใช้ระบบ “หาร 100” นี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีการยื่นให้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าอย่างไร

นายจาตุรนต์กล่าวว่า นอกจากนั้นก็ยังมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบหนึ่งให้กลับมาใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมหรือบัตรใบเดียว เพียงแต่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบหนึ่งนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่เวลาอาจไม่พอและการจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีเสียงฝ่ายค้านมากกว่า 20% ของจำนวน ส.ส.ฝ่ายค้านที่มีอยู่สนับสนุนด้วย

จะเห็นได้ว่าเรื่องระบบเลือกตั้งที่สับสนวุ่นวายกันอยู้นี้มีปฐมเหตุมาจากการออกแบบระบบเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์และพวกได้เป็นรัฐบาล และต่อมาก็เป็นความพยายามที่จะรักษาความได้เปรียบไว้เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการที่จะทำให้ประเทศนี้มีระบบการเลือกตั้งที่ดี ที่เป็นประชาธิปไตย และไม่สนใจเลยแม้แต่น้อยว่าการเลือกตั้งจะสะท้อนเจตจำนงความต้องการของประชาชนผู้ออกเสียลงคะแนนหรือไม่ การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกนี้ ทำได้ถึงขั้นออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ที่ถูกระงับบับยั้งไว้ก็เพราะระบบที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของการสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกจะแก้เกมนี้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป” นายจาตุรนต์ระบุ