อินไซด์ ทัพฟ้า อุทธรณ์ F-35A ไส้ในตัดงบฯกลาโหม 2.778 พันล้าน

ทหาร
Mladen ANTONOV / AFP

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2565

กระทรวงกลาโหม ถูกปรับลด หั่น “งบฯอาวุธ” และ “กำลังทหาร” จำนวน 2,778,134,500 บาท ติดอันดับ 1 ของรายการถูกปรับลดงบฯ ปี’66

ทั้งนี้ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ตั้งไว้ 5,108,371,300 บาท ปรับลด 8,000,000 บาท อาทิ ค่าใช้จ่ายในการบริหารองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งไว้ 12,502,100 บาท ปรับลด 500,000 บาท

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตั้งไว้ 67,861,200 บาท ปรับลด 5,000,000 บาท

การดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบอาเซียน ตั้งไว้ 4,500,000 บาท ปรับลด 100,000 บาท การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศ ตั้งไว้ 19,000,000 บาท ปรับลด 1,000,000 บาท

การดำเนินการตามเอกสารแนวความคิดในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน และรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา รวมทั้งเอกสารสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งไว้ 5,000,000 บาท ปรับลด 100,000 บาท

งบกองทัพ

กองทัพบก ตั้งไว้ 35,677,407,100 บาท ปรับลด 2,070,000,000 บาท อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารทดแทนที่หมดอายุการใช้งานของกองทัพบก ระยะที่ 2 ตั้งไว้ 116,912,900 บาท ปรับลด 30,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการฝึก ศึกษาทางการทหาร ตั้งไว้ 2,184,767,900 บาท ปรับลด 40,000,000 บาท

โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ตั้งไว้ 2,771,723,600 บาท ปรับลด 191,000,000 บาท โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงยุทโธปกรณ์ ตั้งไว้ 2,356,292,400 บาท ปรับลด 120,000,000 บาท

โครงการผูกพันตามสัญญาและมาตรา 41 จำนวน 16 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 16,863,922,200 บาท ตั้งไว้ 6,688,565,300 บาท ปรับลด 1,689,000,000 บาท

กองทัพเรือ ตั้งไว้ 17,931,226,800 บาท ปรับลด 245,000,000 บาท อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุง และผลิตเพื่อแจกจ่าย ตั้งไว้ 2,209,359,100 บาท ปรับลด 30,000,000 บาท

โครงการที่ผูกพันตามสัญญาและตามมาตรา 41 จำนวน 11 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 50,232,186,600 บาท ตั้งไว้ 2,039,256,400 บาท ปรับลด 200,000,000 บาท

โครงการที่ผูกพันตามสัญญาและตามมาตรา 41 จำนวน 10 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 3,748,164,800 บาท ตั้งไว้ 734,703,900 บาท ปรับลด 15,000,000 บาท

กองทัพอากาศ ตั้งไว้ 21,931,120,200 บาท ปรับลด 399,134,500 บาท อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง และซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่าย ตั้งไว้ 6,154,176,000 บาท ปรับลด 30,000,000 บาท

โครงการที่จะผูกพันใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2 รายการ วงเงินทั้งสิ้น 7,882,690,000 บาท ตั้งไว้ 832,269,000 บาท ปรับลด 369,134,500 บาท

ทว่าเป็นการปรับลด “คนละครึ่งทาง” เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A จำนวน 2 ลำ จากเดิมขอจัดสรรงบประมาณ F-35A ราคาลำละ 2,900 ล้านบาท แบบไม่มีอาวุธ ผูกพันงบประมาณข้ามปี ระยะเวลา 10 ปี จำนวน 12 ลำ เท่ากับ 1 ฝูงบิน ค่าใช้จ่ายดูแลรักษา F-35A จำนวน 1,300,000 บาทต่อชั่วโมงบิน เทียบกับ F16 จำนวน 300,000 บาทต่อชั่วโมงบิน

คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียนให้เหตุผลการ “ปรับลด” ว่า 1.การเตรียมความพร้อมรองรับทุกด้านในการจัดซื้อ 2.ข้อจำกัดด้านงบประมาณ 3.ความเสี่ยงด้านความมั่นคงและจัดซื้อเพื่อทดแทนเครื่องบินที่ใกล้ปลดระวาง 4.ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และ 5.ความพร้อมกำลังรบกับภัยด้านความมั่นคง

“เนื่องจากสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกายังไม่พิจารณาขาย F-35A ให้ไทย ซึ่งใช้เวลาพิจารณา 20 เดือน และการออกใบรับรองราคา LOA ก่อนลงนามสัญญาล่วงหน้า จึงไม่จำเป็นต้องได้รับงบประมาณก่อนลงนามในเดือนเมษายน 2564 ประกอบกับกองทัพอากาศคงค้างการเบิกจ่าย 5 โครงการ 1,283 ล้านบาท”

กองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งไว้ 7,352,894,300 บาท ปรับลด 56,000,000 บาท อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่าย ตั้งไว้ 718,488,700 บาท ปรับลด 12,800,000 บาท

โครงการที่ผูกพันตามสัญญา จำนวน 1 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 880,700,000 บาท ตั้งไว้ 185,370,100 บาท ปรับลด 16,000,000 บาท การจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่ระบบส่งกำลังและซ่อมบำรุงยานพาหนะและเครื่องมือกล ตั้งไว้ 128,707,500 บาท ปรับลด 11,356,000 บาท

ขณะที่ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ระบุว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ควรมีแนวทางป้องกันน่านฟ้าของประเทศให้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

จัดหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไซเบอร์จบการศึกษาจากต่างประเทศทำหน้าที่ “ทหารไซเบอร์” เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ซึ่งจะทำให้ประชาชนสนับสนุนจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จัดซื้ออาวุธเท่าที่จำเป็นและให้กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมพัฒนาอาวุธ นำไปสู่การผลิตอาวุธได้เอง เปิดเผยรายละเอียดงบการเงินในการบริหารธุรกิจของกองทัพสู่สาธารณะ เช่น สนามมวย สนามกอล์ฟ และธุรกิจบนพื้นที่ราชพัสดุ

กองทัพบก หากไม่สามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ ควรเปิดโรงเรียนพลทหารขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับชายไทยและเพื่อพัฒนาคนและเพิ่มช่องทางสร้างงาน

กองทัพเรือ ส่งเสริมการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเชื่อมต่อกัน 23 จังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 3,148 กิโลเมตร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กองทัพอากาศ เร่งรัดการจัดซื้อเครื่องบิน F-35A เนื่องจากมีกระบวนการจัดซื้อที่ยาวนานและต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา

“หากเกิดกรณีที่ทำให้ไม่สามารถจัดซื้อได้ กองทัพอากาศไม่ควรโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณส่วนนี้ไปจัดซื้อครุภัณฑ์รายการอื่น แต่ควรปล่อยให้งบประมาณในส่วนนี้พับไป”

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้เข้ามาร่วมลงทุนในการวิจัยและสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ภายในประเทศ