สภาถกงบประมาณปี 2566 ก้าวไกลขอปรับลด 5 หมื่นล้าน

ภป-งบประมาณ

สภาตกงบประมาณปี’66 วาระที่ 2-3 ศิริกัญญาขอปรับลดงบฯ 5 หมื่นล้าน ไว้ใช้เป็นงบฯกลางปี ไอติม พริษฐ์ ชี้งบฯซ่อมถนนกระจุกตัวแค่ 7 จังหวัดภูมิใจไทย

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และวาระ 3 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยเป็นการพิจารณาเรียงลำดับมาตรา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ กล่าวรายงานว่า กมธ.พิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณรวม 734 หน่วย และให้ความสำคัญผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายแห่งชาติของรัฐบาล

ตลอดจนการจัดงบประมาณแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่าง ๆ ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สอดคล้องกับสภาพการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ

พร้อมสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีข้อสังเกตสำคัญให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มรายได้และลดการกู้เงินของรัฐบาล เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ปรับปรุงกระบวนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ควบรวมหน่วยงานที่มีพันธกิจซ้ำซ้อนกัน หรือบูรณาการเพื่อลดความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ รวมถึงกระจายงบประมาณให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่

ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นฐานความโปร่งใส และตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชน
นายอาคมกล่าวต่อว่า ใน กมธ.มีการแต่งตั้ง 9 อนุ กมธ. และมีการปรับลดงบฯ 7,644,240,3800 ล้านบาท

โดยได้พิจารณาสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณหรือรายได้ที่จัดเก็บเองเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา อาทิ 1.รายการที่สามารถปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้เกิดความประหยัด เช่น การฝึกอบรมสัมมนา การจ้างที่ปรึกษา การเดินทางไปราชการต่างประเทศ เป็นต้น

2.รายการที่มีผลดำเนินการล่าช้ากว่าปกติและคาดว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทัน หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่ผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงงบประมาณเสนอไว้

3.รายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือที่ดำเนินการไปแล้ว โดยใช้จ่ายจากการโอนเปลี่ยนแปลงหรือการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2565 และ

4.รายการที่ยกเลิกโครงการหรือสามารถจากแหล่งอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณ นอกจากนั้นยังพิจารณาเพิ่มงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณตามความเหมาะสมและจำเป็น

“การพิจารณารายละเอียดงบประมาณทั้งการปรับลด การเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว กมธ.ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อน เป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังภาวะวิกฤตโควิดและประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต เข้มแข็ง รองรับการเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท” นายอาคมกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมาธิการ รวมถึง ส.ส.ที่ขอแปรญัตติ ได้อภิปรายในมาตราที่ 4 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,185,000,000,000 บาท จำแนกเป็นรายจ่ายตามที่จะระบุต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ โดยขอให้มีการตัดงบประมาณลง

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายขอปรับลดงบประมาณในภาพรวม 5 หมื่นล้านบาท ของมาตราที่ 4 เนื่องจากความไม่แน่นอนในอนาคตไม่ไกล เนื่องจากการทำงบประมาณ และการประมาณการรายได้ ทำตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

จีดีพีที่เราเคยคิดว่าขยายตัว 4% แต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าปีนี้ทั้งปี จีดีพีจะขยายตัวแค่ 2.95% ยังไม่ต้องพูดถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือราคาน้ำมันดิบที่ประมาณการไว้ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันทะลุ 100 ไปแล้ว

จีดีพีของปี 2566 ว่าจะขยายตัว 3.7% ทั้งปี แต่ตอนนี้อาจจะไม่ได้อย่างนั้นแล้ว รวมถึงเศรษฐกิจโลกก็ยังอยู่ในภาวะตกต่ำ ราคาน้ำมันดิบและอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นปัญหาอยู่ ทำให้ประมาณการรายได้ของรัฐบาลน่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น และลดลงได้เช่นเดียวกัน เช่น ราคาน้ำมันดิบ แม้เป็นปัญหากับประชาชน แต่เป็นบวกของรัฐจากการเก็บภาษี กรมสรรพากรน่าจะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านบาท

แต่ปัจจัยด้านลบ คือ จีดีพีที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่วางแผนไว้ หรือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งอาจทำให้รายได้รัฐลดลง 1.3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอีก เช่น หนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเปรียบเหมือนบัตรเครดิตให้นายรูดได้ ซึ่งรูดได้ใกล้เต็มแล้ว วงเงินของปี 2566 อยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท แต่ใช้ไปแล้ว 1.07 ล้านล้านบาท มีที่ว่างให้กู้ได้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ก็เหลือน้อยทันที สามารถกู้เพิ่มได้แค่ 1.2 แสนล้านบาท เพียงพอหรือไม่ที่จะทำโครงการประกันรายได้ และนโยบายคู่ขนานต่อเนื่อง เพราะปีที่แล้วใช้เงินมากถึง 1.4 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ วันที่ 16 สิงหาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯ ในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และยังบอกว่าอนุมัติงบฯกลางอีก 5 หมื่นล้าน เพื่อให้บริหารจัดการระหว่างที่รอการกู้เงิน นอกจากนี้ ยอดหนี้กองทุนประกันวินาศภัยพุ่งไปแล้วกว่า 10 เท่า ของเงินกองทุน ซึ่งเงินกองทุนมีอยู่แค่ 6,500 ล้านบาท แต่ยอดหนี้จากเจ้าหนี้ 7 กว่าราย รวม 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนไม่สามารถใช้หนี้ได้ จำเป็นต้องกู้เพิ่ม

ถ้าสุดท้ายใช้ไม้ตายเดียวกับกองทุนน้ำมันฯให้กระทรวงการคลังค้ำประกันอีก หนี้ทั้งกองทุนน้ำมันฯและกองทุนประกันวินาศภัยก็จะตกเป็นหนี้สาธารณะด้วย และจะเป็นภาระงบประมาณเช่นกัน

“ทั้งหมดมีความท้าทายในด้านงบประมาณรอเราอยู่ และยังไม่สามารถจัดการกับความผันผวนทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกได้เลย จึงขอตัดลบงบประมาณที่ไม่จำเป็น ซ้ำซ้อน กระจุกตัว ได้อีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เหลือไม่จำเป็นต้องนำเข้างบฯกลาง แต่ให้ไว้ออก พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี เพื่อรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย สัดส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) สงวนความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศวันนี้ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่ปัญหาคือการใช้งบประมาณผิดจุด ไม่ตอบโจทย์ ไม่จำเป็นและไม่เป็นธรรม ได้ข้อสรุปว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากการตั้งงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงภาพกว้าง ภาพใหญ่ ภาพไกล และภาพรวม งบประมาณครั้งนี้จัดสรรงบฯไม่มองภาพกว้างของคนทั้งประเทศ เพื่อพยายามกระจายงบประมาณและโครงการต่าง ๆ ไปสู่ทุกจังหวัดอย่างเป็นธรรม

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากังวล เราไม่แน่ใจว่าจังหวัดที่ได้รับงบฯสูงสุดสำหรับซ่อมถนนหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเป็นจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องถนน และแหล่งน้ำมากกว่าจังหวัดอื่นจริงหรือไม่ เมื่อไปดูงบฯซ่อมถนนจะเห็นว่าแม้พรรคต้นสังกัดของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะมี ส.ส.เขตเป็น 34 เปอร์เซ็นต์ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ ถ้าดูงบฯ 7 จังหวัดที่ได้รับงบฯสูงสุดจะเห็นว่าพรรคนี้มี ส.ส.เขตใน 7 จังหวัด หรือคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนงบฯปรับปรุงแหล่งน้ำ แม้พรรคต้นสังกัดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมี ส.ส.เขต 21 เปอร์เซ็นต์ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ถ้าเราดู 7 จังหวัดที่ได้รับงบฯสุงสุดจะเห็นว่าพรรคนี้มี ส.ส.เขต 3 จาก 7 จังหวัด หรือคิดเป็น 43 เปอร์เซ็นต์