ศิริกัญญา : Next Step ก้าวไกล ปฏิรูปพรรค พร้อมเป็นรัฐบาล ล้างพิษประยุทธ์

ศิริกัญญา ตันสกุล
สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

พรรคก้าวไกล เป็นพรรคการเมือง (ภาคต่อ) จากพรรคอนาคตใหม่

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว พรรคอนาคตใหม่ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกสร้างเซอร์ไพรส์ ได้ ส.ส. 80 ที่นั่ง

แต่ถูกพิษการเมืองเล่นงานจนถูก “ยุบพรรค” กรรมการบริหารพรรคผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ถูกตัดสิทธิการเมืองกว่า 16 ชีวิต

ทว่า “ศิริกัญญา ตันสกุล” มันสมอง-มือนโยบาย ถูกกันตัวออกจากโซนอันตราย เธอและแกนนำคนอื่น ๆ ได้ทำพรรคก้าวไกล เพื่อสานต่อเจตนารมณ์-อุดมการณ์เดิม

เวลาผ่านไปเกือบ 4 ปี พรรคก้าวไกล สร้างผลงาน-วีรกรรมมากมายบนถนนการเมือง บัดนี้ เตรียมความพร้อมเพื่อกลับสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง

chapter ต่อไปของพรรคก้าวไกล จะเป็นอย่างไร “ศิริกัญญา” เล่าผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ดังนี้

ปักธง ก้าวไกล Next

“ศิริกัญญา” เปิดฉากฉายภาพพรรคก้าวไกลจากนี้ว่า 4 ปีที่แล้วเป็นเรื่องพรรคการเมืองใหม่ หน้าใหม่ในวงการ ปักธงเรื่องการเมืองแบบใหม่ แต่วันนี้เราเป็นพรรคก้าวไกล เราก็ยังคงสืบสานจิตวิญญาณของพรรคอนาคตใหม่ แม้เราไม่ได้เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่อีกต่อไป แต่ความสดใหม่ของพรรคก้าวไกลก็ยังต้องดำเนินต่อไป ภายในรูปแบบที่ภาพลักษณ์อาจเปลี่ยนไป

จากเดิมที่คนมองว่าเราเป็นคนหนุ่ม หัวร้อน แต่เราจะปรับภาพลักษณ์ให้สุขุมมากขึ้น มีวุฒิภาวะ นำเสนอตัวเลือกให้สังคมได้มีตัวเลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีโครงการที่เรียกว่า “ก้าวไกล NEXT” ที่จะเป็น chapter ของการปฏิรูปพรรค จะเรียกร้องให้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าเป็นสมาชิกหรือไม่ เป็นโหวตเตอร์ แฟนคลับ เข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็น ในการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง

สิ่งใดที่เราทำได้ไม่ดี หรืออดีตที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เชิญชวนให้ประชาชนมาให้ความเห็น เพื่อนำความเห็นที่มีค่าไปปรับ ปฏิรูปการทำงานเพื่อดำเนินการต่อไป เข้าสู่การเลือกตั้งเต็มตัว

คาดว่าเดือนกันยายน จะเป็นการคิกออฟ ปักธง เข้าสู่การเลือกตั้ง จะเริ่มปล่อยแคมเปญออกมาเรื่อย ๆ จนถึงวันเลือกตั้ง

ทีมพิธา พร้อมเป็นรัฐบาล

นอกจาก พิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) ที่เป็นหัวหน้าพรรค ที่เราจะชูให้เห็นความแตกต่าง ทั้งเรื่องแนวคิด อุดมการณ์ นโยบาย จะมีการเปิดตัว “ทีมพิธา” ที่เป็นหน่วยสนับสนุน เพื่อที่จะแสดงศักยภาพว่า เราสามารถทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเต็มที่ ก็จะมาเสนอตัวอีกครั้งในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารว่าจะมีความพร้อมที่จะพาประเทศไปข้างหน้าได้

“แน่นอนว่าความใหม่ ความว้าวสมัยพรรคอนาคตใหม่ อาจจะไม่ได้ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนเดิมแล้ว แต่การที่เราเป็นพรรคก้าวไกล ไม่จำเป็นที่เราต้องตอบอีกหลาย ๆ คำถาม เช่น ตกลงเราเป็นพรรคการเมือง เราเอาจริงไหม หรือเป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งในสภาที่ไม่มีบทบาท”

“วันนี้สิ่งที่เราพิสูจน์ในสภาแล้ว เราก็จะมาเสนอตัวเป็นฝ่ายบริหารบ้าง ประชาชนอาจไม่ตื่นเต้นเร้าใจ แต่จะรู้สึกไว้วางใจมากขึ้นจากผลงานที่เกิดขึ้นในสภา”

ศิริกัญญา เป็น รมว.คลัง

เมื่อพรรคก้าวไกล ตั้งเป้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ชื่อ “ศิริกัญญา” ก็ถูกเข็นขึ้นมาให้รับภาระที่กระทรวงการคลัง ในตำแหน่ง “รัฐมนตรีคลัง” ของพรรค

ถ้าเธอต้องมาสวมบทเป็นรัฐมนตรีคลังจริง ๆ ในวันนี้ จะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่มีทั้งเงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่ง รวยกระจุก-จนกระจาย อย่างไร

ศิริกัญญากล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจทุกวันนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก เศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 พอพ้นได้แป๊บเดียวก็เข้าสู่ช่วงวิกฤตสงคราม ยูเครน-รัสเซีย และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะเป็นอย่างไรด้วยซ้ำไป

ยอมรับว่ารัฐบาลต้องเจอศึกหนักพร้อม ๆ กัน แต่สิ่งที่เราอยากทำให้ดีกว่านี้ คือดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ตอนนี้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคทุกตัว เราเห็นสัญญาณฟื้นตัวเริ่มมา การจับจ่ายใช้สอยเริ่มดีขึ้น การจ้างงานต่าง ๆ เริ่มกลับมา แต่กลับมาในสภาวะที่เปราะบางมากและไม่เท่าเทียม

การฟื้นตัวจะเป็นแบบ K shape บาง sector จะไปได้ดีและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่อีกหลาย sector ยังคงย่ำแย่และตกอยู่ในภาวะยากลำบากต่อไป ทำให้การวางนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเป็นไปอย่างยากลำบากมาก ตัวอย่างเช่น เราเจอกับภาวะเงินเฟ้อ การออกนโยบายต่าง ๆ ต้องชั่งน้ำหนักเป็นอย่างมาก

เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ถามว่าขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนมีรายได้น้อยก็จะสูงมาก เนื่องจากภาระหนี้ที่จะสูงขึ้น ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีมาตรการที่มารองรับ

แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการคลัง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพน้อยไป คิดว่ารัฐบาลคงกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และรอกระทั่งเดือนกันยายนถึงเริ่มมีโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ทั้งที่สินค้ามีราคาแพงมากขึ้น โดยที่รัฐบาลไม่สามารถตรึงราคาสินค้าได้ครบทุกตัว จึงเป็นปัญหาหนัก อาจทำให้การฟื้นตัวอาจไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้

“สิ่งที่เราเสนอคือ แทนที่เราจะทุ่มงบประมาณทั้งหมดไปตรึงกับราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียว ควรจะดึงเงินบางส่วนจากเงินกู้ 5 แสนล้านที่ยังเหลืออยู่มาเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชนโดยเฉพาะคนมีรายได้น้อย และกำลังที่จะเริ่มตั้งไข่อีกครั้งให้ช่วยลืมตาอ้าปากได้”

“สเต็ปต่อไป จะต้องมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ประชาชน SMEs รายเล็กรายน้อยสามารถลุกขึ้นมาตั้งตัวได้อีกครั้ง เพราะการที่จะกลับมาตั้งกิจการได้ใหม่ เพื่อทำให้ไม่มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังในช่วงประเทศฟื้นตัว ดังนั้น เราจำเป็นต้องดูกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ ด้วยมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้”

แก้ทุนผูกขาด รื้อเกณฑ์ลงทุน

เมื่อพรรคก้าวไกลเคยวิจารณ์โครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอื้อนายทุนผูกขาด-พึ่งพาแต่การลงทุนจากต่างประเทศ แล้วโครงสร้างเศรษฐกิจฉบับ “ก้าวไกล” จะเป็นอย่างไร “ศิริกัญญา” ตอบว่า 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า การที่เราพยายามไปอุดหนุนจุนเจือกลุ่มเศรษฐกิจที่อยู่บนที่สุด แล้วหวังว่าเศรษฐกิจข้างล่างเจริญเติบโตไปด้วยได้ มันไม่เป็นจริง

เราจึงจะต้องแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างต่าง ๆ ทั้งเรื่องทุนใหญ่ ที่พยายามแผ่ขยายอำนาจและกินรวบไปเรื่อย ๆ

เช่น ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการควบรวมกิจการต่าง ๆ เช่น การควบรวมกิจการค้าปลีก ตอนนี้ก็จ่อที่จะมีการควบรวมค่ายมือถือ จากนั้นก็จะมีค่ายอินเทอร์เน็ตอีก

เราต้องการความชัดเจนในระดับนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ว่าไม่ต้องการให้ประเทศถูกปกครองด้วยเศรษฐกิจที่ผูกขาด เพื่อให้องค์กรอิสระตัดสินใจได้อย่างตรงไปตรงมา และไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทุนใหญ่

ส่วนการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศมาลงทุน เป็นนโยบายที่รัฐบาลที่ผ่านมาชูเป็นตัวหลักอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ต้องการเม็ดเงินอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะเอกชนไทยก็มีเงินสดจำนวนมาก แต่การลงทุนในประเทศเองก็ยังไม่ไปไหน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในประเทศด้วย

สมมติเราดึงเงินทุนกระจุกเดียวอยู่ในโครงการอีอีซี แต่ไม่ทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ หรือไม่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการในประเทศ หรือสถานศึกษาภายในประเทศ เม็ดเงินลงทุนต่างชาติเหล่านั้นไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้แม้แต่นิดเดียว

ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องออกแบบการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน สร้างเงื่อนไขต่าง ๆ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษี คือ เมื่อได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนในประเทศไทยแล้ว จำเป็นต้องให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศด้วย ต้องมีเงื่อนไขถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับสถานศึกษา ผู้ประกอบการในประเทศ

แบบนี้เม็ดเงินลงทุนถึงจะมีคุณค่ากับเศรษฐกิจไทยจริง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เราให้ไปจึงจะตอบโจทย์ให้กับประเทศจริง และคุ้มค่ากับเงินภาษีที่หายไป

โจทย์ยากทำงานต่อจาก “ประยุทธ์”

8 ปีที่ผ่านมามีส่วนดีและส่วนไม่ดี ที่สำคัญที่เป็นเรื่องง่าย quick win พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปแตะไว้เกือบทุกเรื่องแล้ว แต่โจทย์ใหญ่ ๆ ในเรื่องโครงสร้างที่ยังไม่เข้าไปทำอะไรมากนัก และบางทีเรื่องความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจถูกทำให้แย่ลงด้วยซ้ำไป

เช่น ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้และทรัพย์สิน มีการออกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่หลังจากประกาศใช้เต็ม ๆ มา 3 ปี เราเห็นว่าไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเลย ยังมีความพยายามหลีกเลี่ยงในการเสียภาษีที่ดินมากมายและไม่ได้เข้าไปจัดการ

ในเรื่องด้านการคลัง มีปัญหาเช่นกัน ย้อนหลังกลับไปช่วง คสช. ได้มีการออกกฎหมายใหม่ ๆ ประหนึ่งว่าจะช่วยทำให้ประเทศเกิดวินัยการเงินการคลังมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นี่แหละ ไม่สามารถประคองวินัยการเงินการคลังให้ต่อไปได้

ทุกกรอบแทบจะเต็มเพดานไปทั้งหมด หนี้สาธารณะจากเดิม 60% เมื่อเต็มกรอบเดิมก็ขยายไปเป็น 70% ทำให้พื้นที่ว่างทางการคลังของรัฐบาลต่อมาก็มีค่อนข้างจำกัด

รวมถึงหนี้อื่น ๆ ที่รัฐบาลได้กู้ยืมจากทางภาครัฐ ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เช่น กู้ยืมจากธนาคาร ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินนโยบาย ตอนนี้กรอบอยู่ที่ 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตอนนี้ก็ต้องมาตามใช้ ซึ่งขณะนี้ขยายไปเป็น 35% แล้ว

เรื่องกองทุนน้ำมันฯก็มีกรอบที่ออกเป็นกฎหมาย วันนี้ก็เต็มกรอบและอยู่ในภาวะหลังพิงฝา ยังไม่มีทางออกที่จะให้กองทุนน้ำมันฯกู้ยืมได้

รัฐบาลไหนที่จะเข้ามาบริหารจัดการต่อ ต้องเจอกับสภาวะหลังพิงฝาตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากเราสามารถแก้แต่ละปม แต่ละเปลาะ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้วางยารัฐบาลต่อไปได้ก่อน จากนั้นเราจึงสามารถจัดการในเรื่องอื่น ๆ ได้ต่อไป

มีอำนาจรัฐจะทำให้ดู

เมื่อยาแต่ละอย่างแรงทั้งนั้น ทำไมพรรคก้าวไกลถึงยังอยากเสนอตัวเป็นรัฐบาล “ศิริกัญญา” ตอบว่า เป็นความตั้งใจตั้งต้นตั้งแต่เดิม ที่เราต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นการเมืองรูปแบบใหม่ เราต้องมีอำนาจรัฐ เราถึงจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าทำงานในสภาอย่างเดียวยังไม่สามารถไปถึงจุดเป้าหมายที่เรามีตั้งแต่ต้นได้ การมีอำนาจรัฐเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้หลาย ๆ เรื่องที่เราเชื่อเป็นจริงได้

ทั้งรัฐสวัสดิการ สมรสเท่าเทียม การยกเลิกเกณฑ์ทหาร สุราก้าวหน้า การทำงานในสภาทำงานได้อย่างเชื่องช้าและยากลำบาก ถ้ามีอำนาจเมื่อไหร่ บอกได้เลยว่าปัญหาเหล่านี้ นโยบายที่เราเสนอไว้จะทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

พิธา นายกฯ ควบต่างประเทศ

ให้ “ศิริกัญญา” ฟอร์มคณะรัฐมนตรีจากคนในพรรค เธอเลือก “พิธา” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ควบ รมว.ต่างประเทศ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ อาจารย์สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็มีความเชี่ยวชาญด้านคมนาคมเป็นอย่างมาก เราอยากเห็นเหลือเกินว่าถ้าวันหนึ่งเทคโนแครตตัวจี๊ดอย่างอาจารย์สุรเชษฐ์ เป็น รมว.คมนาคม บริการขนส่งสาธารณะในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร

ส่วนตัวเธอเองนั้น มีความเชี่ยวชาญด้านการคลัง แต่จะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ไม่สำคัญ แต่เราสามารถใช้ความเชี่ยวชาญให้ความเห็น ให้ข้อเท็จจริงให้รัฐมนตรีที่จะเข้ามาเป็นได้ตัดสินใจบนฐานของข้อมูล สามารถบริหารองค์กรไปข้างหน้าได้ ดังนั้น ความรู้ ความเชี่ยวชาญไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในฐานะรัฐมนตรีเสมอไป

ปรับตัวได้ทุกสูตรการเมือง

สูตรระบบเลือกตั้ง เราพร้อมที่จะสู้ในทุกสูตรคำนวณอยู่แล้ว พรรคก้าวไกลจะต้องเติบโตเป็นพรรคขนาดใหญ่ พรรคหนึ่งเช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคขนาดกลางตลอดไป ดังนั้น เราต้องปรับกลยุทธ์ สู้ในทุก ๆ รูปแบบของกติกาการเลือกตั้ง

แต่ถามว่าระบบแบบไหนที่พรรคก้าวไกลต้องการ คือ เราชูระบบ MMP มาโดยตลอด การคำนวณ ส.ส.พึงมี สะท้อนคะแนนเสียงของพรรคการเมือง คล้าย ๆ กับระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสเต็ปต่อไป โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง

แต่ไม่ว่าหาร 100 หรือหาร 500 เราพร้อมทุกสูตร แต่ระบบการเลือกตั้งไม่ควรเปลี่ยนบ่อย เพราะประชาชนสับสน สร้างภาระให้กับประชาชน