ยุบสภา ห้าม ครม.ใช้ของหลวง ก่อนเลือกตั้ง กกต.ออกระเบียบใหม่

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กกต.ออกระเบียบ กรณีคณะรัฐมนตรียุบสภา ห้ามใช้ทรัพยากรรัฐ เพื่อความเท่าเทียมกันในตอนเลือกตั้ง

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ ประกาศ กกต.ฉบับดังกล่าว ระบุว่า

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้กรณีที่คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น ให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามเงื่อนไข จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวางระเบียบเกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ขณะอยู่ในตำแหน่ง

เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคำนึงถึงความสุจริต เที่ยงธรรม ความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 169 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กกต.จึงวางระเบียบไว้

ทั้งนี้ สาระสำคัญประกาศดังกล่าว อยู่ที่ข้อ 5 ระบุว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1.ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

2.จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

3.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิด ความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

4.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ทั้งการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

5.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

6.ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงานเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

(7) ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่ง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การออกประกาศดังกล่าวของ กกต.ประกาศในช่วงที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170