นายกฯ 8 ปี ยังทำหน้าที่ประชุม ครม.ได้ ในฐานะ รมว.กลาโหม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประยุทธ์ ให้โฆษกตอบคำถาม 8 ปี ขอฟังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เข้าร่วมประชุม ครม.ในฐานะ รมว.กลาโหม แม้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแทน พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีว่า ณ ตอนนี้ข้อเท็จจริงประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการส่งคำร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา จากนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ก็สามารถดำเนินการทำหน้าที่ต่อเนื่องไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง สิ่งแรกที่คงต้องดำเนินการ รัฐบาลคงจะต้องส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และหากให้นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็จะทำให้ พล.อ.ประวิตร รักษาการแทน และปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ ครม.ปกติ และใน ครม.ก็ยังมี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในคณะด้วย เพราะดำรงตำแหน่งเป็น รมว.กลาโหม แต่หากศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ และครม.ก็ดำเนินการตามหน้าที่ต่อไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

นายอนุชากล่าวว่า ฝ่ายการเมืองรวมถึงฝ่ายประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ก็จะทำหน้าที่ไปตามปกติทุกอย่าง เพราะการวินิจฉัยของศาลจะไม่กระทบส่วนใด ๆ ในการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน อีกทั้งแนวทางการพิจารณาในปัจจุบัน ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันหลายส่วน ทั้งจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย แนวทางการพิจารณาออกมาได้ 3 รูปแบบ ถ้าเริ่มนับจากการที่นายกฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรก 24 สิงหาคม 2557 ตามมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็จะครบ 8 ปี 23 สิงหาคม 2565

แนวทางที่สอง ถ้าเริ่มนับจากการเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 คือ 9 มิถุนายน 2562 จะเป็นไปตามมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งวาระครบ 8 ปี ก็จะไปครบวันที่ 8 มิถุนายน 2570

แนวทางสุดท้าย ถ้าหากเริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 วันที่ 6 เมษายน 2560 เพราะมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ที่ให้ ครม.เก่า เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รัฐธรรมนูญ 2560) ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ครบตำแหน่ง 8 ปี วันที่ 5 เมษายน 2568

“อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและวินิจฉัย ในส่วนที่นายกฯ กล่าวไปแล้ว ท่านยินดีให้ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่สุดท้ายขอให้ประชาชนทุกคนได้เคารพกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวินิจฉัยของศาลถือเป็นที่สิ้นสุด และถ้าทุกคนมองภาพในการเดินหน้าจากนี้ไป หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือนำแนวทางความคิดเห็นส่วนตัวมาเป็นก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ขอให้ทุกคนรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” นายอนุชากล่าว