ญี่ปุ่น พร้อมพิจารณาไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของอาเซียน

ประยุทธ์ หารือทวิภาคี คิชิดะ ฟูมิโอะ ยกระดับความสัมพันธ์ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน พร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของอาเซียน

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนและสานต่อผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือ และได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยา ที่เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยไทยยินดีกับพลวัตทางความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกลับมาดำเนินกิจกรรม และการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การเดินทางครั้งนี้นอกจากเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปคแล้ว ยังจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ติดตามและสานต่อผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสอง จากที่นายกรัฐมนตรีได้พบกันเมื่อพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณที่ได้สละเวลาให้เข้าพบก่อนที่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้

นายอนุชากล่าวว่า โอกาสนี้ผู้นำทั้งสองได้หารือในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ ผู้นำทั้งสองต่างยินดีในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์

โดยไทยและญี่ปุ่นยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนา “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาค ซึ่งการลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี จะยิ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยและญี่ปุ่นยินดีที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียนด้วย โดยญี่ปุ่นยังได้กล่าวเสนอเพิ่มพูนความร่วมมือธุรกิจ startup ของทั้งสองประเทศด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว เชื่อมั่นว่าทรัพยากรมนุษน์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับไทยและญี่ปุ่นต่อไป

ด้านพลังงาน ไทยและญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัยและการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกัน ผ่านข้อเสนอความร่วมมือด้านพลังงาน (White Paper) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย

นายกรัฐมนตรียินดีกับการเป็นเจ้าภาพ World Expo 2025 Osaka ของญี่ปุ่น ไทยพร้อมสนับสนุนการจัดงานอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่างานจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยไทยหวังจะได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตเช่นกัน เชื่อมั่นว่าจะเป็นเวทีให้นานาประเทศนำเสนอทางออกและแลกเปลี่ยนความร่วมมือสู่ความยั่งยืน

ความร่วมมือด้านความมั่นคง ยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านการทหารและการป้องกันประเทศที่ใกล้ชิด เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบต่าง ๆ โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวงกลาโหมอยู่ระหว่างการพิจารณาสาขาความร่วมมือที่ประสงค์ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นต่อไป

ด้านประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ยินดีที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประเทศที่สามอย่างต่อเนื่อง ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับญี่ปุ่นในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทที่แข็งขันในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมมีบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อให้ความร่วมมือและกิจกรรมต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่นยังได้ร่วมกันยินดีที่ทั้งสองประเทศมีการหารือจนมีผลเป็นรูปธรรมในหลาย ๆ ด้าน สามารถพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ฉลองครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ที่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ