ประชาธิปัตย์ โชว์จุดยืน แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ปลดล็อก ส.ว.

ราเมศ รัตนะเชวง
ราเมศ รัตนะเชวง

ราเมศ-โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผยจุดยื แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ปลดล็อก ส.ว. สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ดังนั้นในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีถือว่ามีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์

นายราเมศกล่าวว่า ในส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง และมีความจำเป็นต้องแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันจากหลายๆ ฝ่าย แต่อุปสรรคในการขอแก้รัฐธรรมนูญก็ยังมีอยู่ จึงทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จสู่เป้าหมายได้

“ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น คือ การแก้มาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยตัดสัดส่วนของ ส.ว. ให้เหมาะสม แล้วใช้เสียงส่วนใหญ่จากสภา เพราะหากกำหนดให้ ส.ว. เห็นชอบด้วย ในวาระที่ 1 และที่ 3 เป็นจำนวน 1ใน 3 ทำให้ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นจำนวนมากถึง 84 คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญได้ ดังนั้นการแก้มาตรา 256 จึงมีความสำคัญมากและในส่วนของพรรคก็จะยังคงตั้งมั่นที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้ต่อไปในวันข้างหน้า”นายราเมศกล่าว

นายราเมศกล่าวว่า ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการอวดอ้างสรรพคุณจากผู้ร่าง ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ปราบโกง ป้องกันการโกงได้เป็นอย่างดี ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นล้วนสวนทางกับเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ เพราะนอกจากสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงแล้ว ยังไม่ได้เป็นการป้องกันการโกงแต่อย่างใด

“พรรคประชาธิปัตย์ได้มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้มานานตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาที่พรรคไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติ บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พรรคก็ยอมรับกติกา แต่ก็ได้ตั้งความหวังว่าจะมีการแก้ไขในวันข้างหน้า”นายราเมศกล่าว

นายราเมศกล่าวว่า จนมาถึงในปี 2564 พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ร่าง ประกอบด้วย ร่างฉบับแรก เป็นการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าใจหาย

นายราเมศกล่าวว่า ร่างฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ สว.ในการแก้รัฐธรรมนูญ ร่างฉบับที่ 3 เพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการตรวจสอบการทุจริต ร่างฉบับที่ 4 แก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกอำนาจ สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ร่างฉบับที่ 5 เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่เป็นพรรคการเมืองแรกที่ให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ท้องถิ่นดีขึ้น ร่างฉบับที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง คือ ปรับเปลี่ยน ส.ส.เขตเป็น 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในท้ายที่สุด ร่างแก้ไขที่พรรคเสนอได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาเพียงฉบับเดียวคือ ฉบับที่ 6

นายราเมศกล่าวว่า ในเรื่องสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นการป้องกันและปราบปรามทุจริตจะต้องมีกระบวนการที่ป้องกันการทุจริตจริงๆ ไม่ใช่เปิดช่องให้สมยอมกัน รวมถึงประเด็นอำนาจ สว. ด้วย ซึ่งทุกเรื่องล้วนเป็นสาระสำคัญที่จะเป็นนโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง