ปี 2566 เริ่มใช้ Digital ID แสดงตัวตนแทนบัตรประชาชนตัวจริงได้

บัตรประชาชน digital id

ภาครัฐเชิญชวนประชาชน ใช้ Digital ID แสดงตัวตนด้วยข้อมูลบนสมาร์ทโฟนแทนัตรประชาชนตัวจรังได้ เริ่มใช้กับบางหน่วยงานรัฐ 10 ม.ค. 2566 ก่อนขยายสู่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ และภาคเอกชน

วันที่ 2 มกราคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก โดยบางส่วนของกฎหมายมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 65 และบางส่วนจะเริ่มบังคับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการเพื่อรับโดยต่อเนื่อง

ล่าสุด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งทุกจังหวัดและปลัดกรุุงเทพมหานคร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงการมีผลบังคับของ มาตรา 14 พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่ประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันแทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมการปกครองได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ DOPA-Digital ID เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ซึ่งขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้บริการเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่างๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน

โดยผู้สนใจใช้ระบบสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ลงในโทรศัพท์มือถือซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android) จากนั้นดำเนินการลงทะเบียนซึ่งในระยะแรกนี้ ให้ใช้บัตรประชาชนตัวจริงเพื่อลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ทุกเขตในกรุงเทพมหานคร  ซึ่งระยะต่อไประบบลงทะเบียนนี้จะมีการพัฒนาเป็นระบบออนไลน์ต่อไป

ภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่างๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ซึ่งจะมีผลบังคับทั้งฉบับในวันที่ 10 ม.ค. 2566 เป็นต้นไปนี้ รัฐบาลได้ผลักดันออกมาเพื่อสนับสนุนการไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อบริการสาธารณะและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ โดยดีอีเอสยังคาดว่า Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจาก Digital ID จะมีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด

ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงจะเกิดโอกาสที่มิจฉาชีพเห็นข้อมูลหน้าบัตรจากการทำธุรกรรมต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือ ธุรกิจต่างๆ โดย Digital ID จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือสวมรอยเจ้าของที่แท้จริงได้

ทั้งนี้ ดีอีเอส โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ได้ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดทำ Digital ID Framework ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2567 เพื่อผลักดันให้มีการใช้ Digital ID อย่างกว้างขวาง อาทิ มีการใช้ครอบคลุมทั้งบุคคลและนิติบุคคล ต่อยอดการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริการออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ต่างๆของรัฐโดยการใช้ Digital ID ได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวจนซ้ำซ้อน เป็นต้น