
รัฐบาลเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย พ.ศ. 2565 -2569 ยกระดับความร่วมมือการศึกษาไทยกับนานาชาติ
วันที่ 3 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาว รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย พ.ศ.2565-2569 (ASEAN – Russian Federation Plan of Action on Education 2022 – 2026)
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- ประกันสังคม ม.33-39-40 ผู้ประกันตนแต่ละประเภท มีสิทธิต่างกันอย่างไร?
แผนปฏิบัติการนี้ จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยมีกลไกการดำเนินกิจกรรมผ่านคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย ซึ่งจะมีการจัดประชุมคณะทำงานครั้งต่อไปในปี 2567 โดยไทยเป็นประธานร่วมกับรัสเซีย

น.ส.รัชดากล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย พ.ศ.2565 – 2569 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ตรวจสอบ และประเมินกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยจะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.เสริมสร้างและพัฒนากิจกรรมร่วมทางการศึกษา อาทิ
1)แบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างศักยภาพในระดับสากล
2)สนับสนุนเครือข่ายระหว่างโรงเรียนประถมและมัธยม สถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ
2.เสริมสร้าง พัฒนา และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และภาควิชาการ อาทิ
1)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนและนักวิชาการในการประชุมเชิงปฏิบัติการและงานสัมมนาต่าง ๆ
2)เสริมสร้างศักยภาพในการทำวิจัยให้แก่นักวิจัยผ่านโครงการและเครือข่ายอาเซียน – รัสเซีย
3.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อาทิ
1) จัดตั้งพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างองค์กรด้านการศึกษาและภาคธุรกิจ
2)พัฒนาผลลัพธ์จากการศึกษา และการฝึกอบรมให้ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน
4.สร้างเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ
1)ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนครู ผู้ช่วย นักเรียน ผู้นำโรงเรียนหรือผู้บริหาร รวมถึงอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
2)พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล และความร่วมมือระหว่างองค์การด้านการศึกษา
5.เสริมสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างอาเซียน – รัสเซีย อาทิ
1)เสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียน – รัสเซียในหัวข้อที่มีความสนใจร่วมกัน
2)ขยายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
น.ส.รัชดากล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากแผนปฏิบัติการฉบับนี้ คือ
1)นักเรียนและเยาวชนไทยจะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมและทักษะในการใช้ชีวิต
2)เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ระหว่างกัน
3)ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและรัสเซีย