กฎเหล็ก คัดตัว ส.ส.เพื่อไทย สกัดเกมสวมรอย พรรคพี่-น้อง

เพื่อไทย

กลายเป็นเรื่อง “ดราม่า” เมื่อความขัดแย้งทางการเมือง เข้ามาทำความรักต่างพรรค ของนักการเมืองค่ายเพื่อไทย กับนักการเมืองค่ายไทยสร้างไทยพังทลายลง

ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ส.ส.หนองบัวลำพู ประกาศลาออกจาก ส.ส.เพื่อไทย ภายหลังออกมาเปิดเผยว่า ถูกพรรคเพื่อไทย “หักหลัง” ไม่ให้ลง ส.ส.เขต พร้อมดันให้ไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยไม่มีการแจ้ง นอกจากนี้ ยังส่งบุคคลอื่นลงทำพื้นที่ ประกาศตัวลงเลือกตั้งแทน ทำให้ต้องตัดสินใจ “ทิ้ง” เพื่อไทย ไปทำงานร่วมกับพรรคไทยสร้างไทย

อีกด้านมีข่าวปล่อยมาจากพรรคเพื่อไทยว่า เพราะ “ณิชชา บุญลือ” เป็นรองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งกลายเป็น “อดีตคนรัก” ของนายณัฐวุฒิ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องพรรคพี่-พรรคน้อง ระหว่างเพื่อไทย-ไทยสร้างไทย ทำให้ประชาชนสับสน จึงต้อง “หั่นชื่อ” ของ “ณัฐวุฒิ” ทิ้ง

อย่างไรก็ตาม นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุในเวลาต่อมาว่า ที่ผ่านมาพรรคได้มีการประกาศรายชื่อผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หนองบัวลำภู จำนวน 4 คน จากจำนวน ส.ส.ระบบเขตในจังหวัดหนองบัวลำภูที่มีทั้งหมด 3 คน

ซึ่งเป็นที่เข้าใจในผู้สมัครทั้งหมดว่า เมื่อประกาศรายชื่อไปแล้ว ผู้สมัครจะมีการลงทำพื้นที่ พบปะประชาชน เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาของพรรคพิจารณาและทำโพลเพื่อสำรวจคะแนนความนิยมในพื้นที่อีกครั้ง และไม่ได้เอาเรื่องครอบครัวมาตัดสิน

“กระบวนการนี้ยังไม่สิ้นสุด พรรคยังไม่ได้มีมติในการเลือกผู้สมัคร แต่นายณัฐวุฒิกลับตัดสินใจออกมาแถลงข่าวว่าจะลาออกจากพรรคเพื่อไทย และกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยทอดทิ้ง ซึ่งไม่เป็นความจริง”

อีกด้านหนึ่งพรรคเพื่อไทยมีการใช้เกณฑ์ ตั้ง “กฎเหล็ก” เรื่องความเป็นเครือญาติต่างพรรคเอาไว้ ภายหลังเกิดกรณีพ่ออยู่พรรคหนึ่ง ลูกอยู่อีกพรรค จนเกิดปัญหาเรื่องการทำงานในพื้นที่

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรค ได้ให้ข้อมูลระบุถึงแนวทางคัดเลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยว่า

พรรคเพื่อไทยมีแนวทางกระบวนการที่ชัด 1.มีกรรมการโซนทั่วประเทศ 21 โซน กรรมการโซนจะเป็นแมวมองเบื้องต้นพร้อมทั้งให้ความเห็น จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย

2.เรื่องคน พรรคจะให้ ส.ส.ปัจจุบัน ลงต่อเป็น priority แรก เว้นแต่ ส.ส.นั้น ไม่เป็นที่ยอมรับ มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาด้านพื้นที่ ซึ่งพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ไม่มาประชุม มาประชุมแล้วรับเงินจากพรรคอื่น จะถูกขึ้นบัญชีว่าจะส่งเป็นผู้สมัครหรือไม่

ซึ่งเราติดตามดูพฤติกรรมแล้วเรียกมาคุย บางคนถูกภาคทัณฑ์ว่าจะมีการแก้ไขหรือไม่อย่างไร ถ้ายังมีพฤติกรรมไม่เปลี่ยนแปลงกรรมการวินัยของพรรค มีวิธีปฏิบัติของพรรคอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับการคัดเลือก ส.ส. ถ้ามีพฤติการณ์ พฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่กลับตัวกลับใจ พรรคจะต้องสรรหาผู้สมัครสำรองเอาไว้

เผื่อจะต้องหาคนทดแทน หรือยุบสภา จะย้ายออกโดยไม่บอกไม่กล่าว พรรคจะได้มีตัวสำรองเอาไว้ ซึ่งการหาตัวผู้สมัคร มาจากวิธีการหลากหลาย

เช่น จากการสรรหาจากกรรมการโซน หรือมาสมัครด้วยตนเอง หรือมีประชาชนแนะนำมา เมื่อแสดงเจตจำนงกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็รับเป็นสมาชิก แต่ยังไม่เป็นผู้สมัคร แต่พรรคจะดูศักยภาพการทำงาน

เช่น ขึ้นป้ายสวัสดีปีใหม่ ขึ้นป้ายครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเขตที่มี ส.ส.ลงชัดเจนแล้ว พรรคจะไม่อนุญาตให้ไปทำ เว้นแต่เขตที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวผู้สมัครเท่านั้น ดังนั้น เขตที่ยังไม่ชัดเจน แต่มีคนต้องการลงสมัครเลือกตั้งเยอะ พรรคก็จะให้ไปทำงาน และใช้ผลการสำรวจความนิยมจากประชาชนว่าชอบใคร

“เรื่องนี้เราบอกเขาอยู่แล้วว่าต้องไปทำงานนะ เช่น หาสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย ถ้าผลงานเข้าตา ประชาชนยอมรับ พรรคก็เลือกคุณ ต้องเลือกคนที่ดีที่สุด” นพ.ชลน่านกล่าว

“ส่วน ส.ส.ที่บ่นว่า พรรคไม่ให้ความสำคัญ หรือพรรคส่งผู้สมัครแข่งกับเขา ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเขาเป็นหลัก ซึ่งมีไม่กี่คนที่พฤติกรรมพฤติการณ์แปรปรวนเราต้องเตรียมเรื่องนี้”

“ส.ส.ที่เป็นอยู่แล้ว ยังยึดมั่นกับพรรคไม่แปรปรวน รับเงินรับทองกับพรรคอื่น เราไม่ค่อยมีประเด็นกับเขาหรอก แต่คนที่แปรปรวนมีอยู่ประมาณ 5-6 คนจาก 132 คน ไม่เยอะ”

3.ส่วนเรื่องความเป็นพี่-น้อง เครือญาติต่างพรรค เป็นข้อพึงระวังที่คณะกรรมการพิจารณาคิดหนัก ถ้าญาติ พี่น้อง พ่อแม่ อยู่คนละพรรค โดยเฉพาะพรรคสายอีสาน แล้วไปอยู่กับพรรคที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ก็จะทำให้เกิดความสับสน เพราะมีคนไปอ้างเป็นพรรคพี่-พรรคน้อง ทำให้เกิดปัญหามาก

“ดังนั้น เราต้องชัดเจนว่า ไม่ใช่พรรคพี่ พรรคน้อง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเด็ดขาดออกไปว่า ถ้าจะอยู่ก็ต้องอยู่ด้วยกัน พี่จะอยู่อีกพรรคหนึ่ง น้องจะอยู่อีกพรรคหนึ่งไม่ได้ เพราะพื้นที่เกิดความสับสน และกลไกการหาคะแนนเขามักจะแอบอ้างพรรคพี่ พรรคน้อง ทำให้เกิดความเสียหาย เราจึงป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แอบอ้างเยอะ เพราะกระแสพรรคเพื่อไทยดี”

“พี่พรรคหนึ่ง พ่ออีกพรรคหนึ่ง เราจำเป็นต้องตัดจริง ๆ ไม่มาอยู่ด้วยกันก็ไปทั้งหมด สู้ก็ต้องสู้กัน บางทีเราสงสารเขามากนะด้วยเงื่อนไขนี้ เขาเป็นพี่เป็นน้องกันก็จริง การทำงานไม่เกี่ยวข้องกัน อยู่คนละพื้นที่ แต่มันทำให้ถูกแอบอ้างได้ แม้ ส.ส.ไม่แอบอ้าง แต่กลไกรอบข้างไปแอบอ้าง เราก็จำเป็น”

ในวันนี้ บุคคลที่แยกทางพรรคเพื่อไทย ด้วยสาเหตุเครือญาติอยู่ต่างพรรค อาทิ จักรพรรดิ ไชยสาส์น อดีต ส.ส.อุดรธานี น้องชายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้แยกทางไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่พ่อ-ลูก ที่อยู่คนละพรรคในช่วงก่อน แต่ตอนนี้ได้กลับมารวมกันที่พรรคเพื่อไทย คือ พ่อ-ลูก ตระกูลอรรณนพพร

ซึ่งก่อนหน้านี้ พงศกร อรรณนพพร ไปร่วมก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยที่มีลูกสาว คือ น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร เป็น ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย

ที่สุดแล้ว “พงศกร” ผู้พ่อต้องเก็บข้าวของกลับถิ่นเก่า พรรคเพื่อไทย เมื่อกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

และยังมีเงื่อนไขห้อยท้ายสำหรับบางพื้นที่-บางคน คือ ใครแก่เกินอายุ 70 ต้องถูกขึ้นบัญชีรายชื่อ หาคนหนุ่ม “คนรุ่นใหม่” มาแทน ส.ส.บางราย จึงต้องเข็นลูกตนเองลงสนามหลายราย

นี่คือกฎเหล็กพรรคเพื่อไทย