ครม.ผ่านร่างกฎกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีไทย-สหรัฐ

ภาษี คำนวณภาษี
Photo by Towfiqu barbhuiya on Unsplash

ที่ประชุม ครม.ผ่านร่างกฎกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีไทย-สหรัฐ ป้องกันการเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ

วันที่ 25 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติการปฏิบัติการ ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา

เพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. 2560 รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รายงานและเจ้าหน้าที่มีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี

เรื่องนี้ สืบเนื่องจากปี 2559 ไทยได้ลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ และการดำเนินการตาม FATCA (Foreign Account Tax Compliance Act) ซึ่ง FATCA เป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีที่ทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ

ประเทศไทยจึงได้ออกพระราชบัญญัติการปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นกฎหมายรองรับพันธกรณีตามความตกลงและดำเนินการตาม FATCA โดยกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการรวบรวมและนำส่งข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงยกร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับขึ้น ออกตามความพระราชบัญญัติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ฉบับแรก ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้มีหน้าที่รายงานรวบรวมและนำส่งข้อมูลที่ต้องรายงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รายงานในการรวบรวมข้อมูลและนำส่งข้อมูลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ รวมทั้งหน้าที่ในการจัดเก็บรักษาข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ดังนี้

1.กำหนดหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รายงาน โดยรวบรวมข้อมูลที่ต้องรายงาน ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ อาทิ ข้อมูลบัญชี ทางการเงิน ข้อมูลทางภาษี เช่น

    1. ชื่อ ที่อยู่ และ U.S. Tin (หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบุคคลสหรัฐ)
    2. เลขบัญชี
    3. เลขที่ระบุตัวตนของสถาบันการเงินไทยที่ต้องรายงาน เป็นต้น

2.ผู้มีหน้าที่รายงาน ต้องนำส่งข้อมูลภายในเดือนมิถุนายนของปีถัดไป นับแต่วันสุดท้ายของปีปฏิทินของการได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องรายงาน

3.การส่งข้อมูลจะถือว่าสมบูรณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของไทยได้อนุมัติและนำส่งข้อมูลผ่านระบบ IDES (International Data Exchange Service)

4.ผู้มีหน้าที่รายงานต้องจัดเก็บรักษาข้อมูลและเอกสารหลักฐานของลูกค้าเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี นับแต่ปีที่ได้รับข้อมูล

ฉบับที่สอง คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการขอหนังสือรับรองสถานะว่าเป็นหรือไม่เป็นผู้มีหน้าที่รายงาน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และการพิจารณา การยื่นขอหนังสือรับรองสถานะของการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน กรอบระยะเวลาในการยื่นคำขอ และขั้นตอนการพิจารณารับรองสถานะของผู้มีหน้าที่รายงาน ดังนี้

1.ผู้มีสิทธิยื่นคำขอ ต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีหน้าที่รายงานตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2560 ได้แก่

    1. สถาบันการเงิน
    2. บริษัทหลักทรัพย์
    3. บริษัทประกันชีวิต
    4. บริษัทประกันวินาศภัย
    5. ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
    6. ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
    7. ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
    8. บุคคลที่ประกอบธุรกิจรับฝากหลักทรัพย์ รับฝากเงิน หรือดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน

2.ยื่นคำขอหนังสือรับรองสถานะและเอกสารประกอบตามที่กำหนด ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร


3.กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหนังสือรับรองสถานะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่คือ

    1. พิจารณาคำขอให้ออกหนังสือรับรองสถานะ
    2. ให้ความเห็นและคำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ