พลังประชารัฐ ดูดนักการเมืองทุกทิศ ระดมน้ำเลี้ยง ดันประวิตรและพวก ชิงนายกฯ

พปชร.
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวบรวมไพร่พล-กระสุนดินดำ พร้อมรบ “ศึกนอก” สมรภูมิเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากแตกฉานซ่านเซ็นจากการกรำ “ศึกใน”

เก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 คือเรือธงของพรรคพลังประชารัฐ ที่ทุกองคาพยพพร้อมที่จะเคลื่อนทัพไปปักธงเป้าหมาย ส.ส. 150 ที่นั่ง ในสมรภูมิการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้า

ระดมไพร่พลปักธงนายกฯ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับพวกกลุ่มสี่กุมาร-นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ “รีเทิร์น” กลับมากินน้ำพริกถ้วยเก่า

Advertisement

เป็นกุญแจสำคัญอีกดอกที่จะสานฝัน พล.อ.ประวิตร นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

“ท่านหัวหน้าพรรคพูดแล้ว วันนี้เป็นเรื่องของการก้าวข้ามความขัดแย้ง เรามาช่วยกันสร้างความปรองดอง ไม่มีอะไรติดใจ ตอนพวกผมเดินออกก็ไม่ได้มีความขัดแย้ง ความเห็นต่าง เข้าใจไม่ตรงกัน คลาดเคลื่อนกันบ้าง ธรรมดามาก เกิดขึ้นได้ในวงการเมือง แต่วันนี้ถ้าเราตั้งใจพร้อมกันแล้วว่า มาทำด้วยกันเถอะ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ติดใจอะไรทั้งนั้น” นายอุตตมไม่ติดใจเรื่องบาดหมางในอดีต

“เรากลับเข้ามาพรรคพลังประชารัฐด้วยความเต็มใจ ตั้งใจ ที่ผ่านมาเราเจรจากับพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ด้วยอุดมการณ์ ว่าทำอย่างไรสถาบันการเมืองเข้มแข็ง แต่องค์ประกอบการเมืองขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส เราโชคดี เหมือนคนเคยอยู่ด้วยกัน จึงร่วมงานกันด้วยความสบายใจ อยู่ร่วมกันได้” นายสนธิรัตน์เปิดใจการตกลงกลับบ้านเก่า

Advertisement

“อุตตม” จะกลับมารับบทบาท “มือเศรษฐกิจ” ส่วน “สนธิรัตน์” จะกลับมาทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่วนความสัมพันธ์ของ “สมคิด” กับนายอุตตม-นายสนธิรัตน์ และพรรคพลังประชารัฐเป็นเพียงผู้เคยร่วมก่อตั้งกันมา

“การก้าวกลับมาพรรคพลังประชารัฐ พวกผมก็ได้ปรึกษากับอาจารย์สมคิด ท่านก็ยินดี ท่านบอกว่า ตราบใดที่เป็นการมาช่วยกันแล้วทำให้ประเทศชาติเดินไปได้ ปรองดอง ลบความขัดแย้ง ท่านยินดีและสนับสนุน ความสัมพันธ์ก็ยังเหมือนเดิม เราขอคำปรึกษามาโดยตลอด” นายอุตตมเปิดเผยความสัมพันธ์กับผู้อยู่เบื้องหลังดีลกลับพรรคพลังประชารัฐ

เบื้องหน้าการเจรจากลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม-นายสนธิรัตน์เปิดเผยต่อสาธารณะ หลังเลือกตั้งไม่มีเงื่อนไขเก้าอี้รัฐมนตรี

Advertisement

แต่ก่อนเลือกตั้งคือการมาเสริมภาพลักษณ์ให้กับบัตรเลือกตั้งใบที่สอง-เพิ่มเสน่ห์การเป็นนักคิด-นักวิชาการที่เป็นมือเศรษฐกิจในบัญชีรายชื่อ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์

นอกจากทีมสมคิดแล้ว บิ๊กน้อย-พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นอีก 1 ศิษย์เก่าพรรคพลังประชารัฐ กลับมาช่วยบิ๊กป้อม เพื่อนรักเตรียมทหารรุ่น 6 (ตท.6) หลังจากพเนจรไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยและพรรครวมแผ่นดิน

บิ๊กน้อยจะกลับมาเป็นกุนซือข้างหู พล.อ.ประวิตร-เป็นไม้วิเศษคอยติดสอยห้อยตามในการลงพื้นที่ทุกตารางนิ้ว

“ไม่มีปัญหา ไม่มีความขัดแย้ง ผมไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร ทุกคนมีผิดมีพลาดได้ ไม่มีใครดี 100 เปอร์เซ็นต์ ขนาดตนเองก็ไม่ได้ดี 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามาขอโทษเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างก็จบ ไม่ติดใจอะไร ถ้าติดใจก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะมาแตกแยกกัน” พล.อ.วิชญ์ปล่อยวางความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเลขที่เศรษฐกิจไทย

ขณะที่การ “คัมแบ็ก” ของผู้กองธรรมนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส.เศรษฐกิจไทยจะชัดเจนก่อนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ว่าจะ “เพลย์เซฟ” ลาออกจาก ส.ส.ก่อน “เดดไลน์” หรือ “วัดใจ” พล.อ.ประยุทธ์ “ยุบสภา” ไม่อยู่จนครบวาระวันที่ 23 มีนาคม 2566 เพื่อดูด ส.ส.จากพรรคอื่นเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติเป็น “ก๊อกที่สอง”

อีก 1 ขุนพลเศรษฐกิจที่เรียกมาติดธงพลังประชารัฐคือ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่-โอกาสไทย ที่เปิดตัว (เอง) เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ยังไม่มีบทบาทออกหน้าสื่อตั้งแต่เข้ามา แต่ก็ขึ้นเวทีระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ

แถมยังได้ “สกลธี ภัททิยกุล” อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. แกนนำกลุ่ม กปปส. มาเป็น “แม่ทัพ” นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง กทม. ขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ-อันวาร์ สาและ ก็เข้ามาสวมเสื้อพลังประชารัฐ เสริมกำลังในพื้นที่ภาคใต้

อีกจิ๊กซอว์หนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ซ้อเจน “ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์” ที่ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ มาดูสมัครจังหวัดกาญจนบุรี ที่ “วิรัช รัตนเศรษฐ” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องเอ่ยปากขอบคุณด้วยความซึ้งใจ ที่เข้ามาจัดตัวเสริมกำลัง จากที่ก่อนหน้านี้ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ เก็บข้าวของย้ายไปพรรคภูมิใจไทยยกจังหวัด

ดรีมทีมเศรษฐกิจ

การคัมแบ็กของทีมสมคิด-กลุ่มสี่กุมารเท่ากับมาเสริม “ทีมเศรษฐกิจ” ให้กับพรรคพลังประชารัฐเข้มแข็งมากขึ้น เพราะมี “ที่ปรึกษาทางใจ” คอยเซตประเด็น-นโยบายเศรษฐกิจอยู่
หลังม่านให้กับนายสนธิรัตน์และนายอุตตม

นโยบายเศรษฐกิจที่ออกแบบภายใต้ยี่ห้อพรรคสร้างอนาคตไทย ก็จะถูกนำมาบรรจุไว้ในนโยบายพรรคพลังประชารัฐ อาทิ โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” หมู่บ้านโอท็อป

โดยเฉพาะ “บัตรประชารัฐภาคสอง” อัพเกรดเป็นการออก “คูปอง” uskill-reskill สร้างงาน-สร้างอาชีพ ให้ได้ค่าแรงมากกว่า 600 บาท และไม่ใช่เฉพาะผู้มีรายได้น้อย 19 ล้านคน แต่จะรวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ

ปัจจุบันทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งทีม สันติ พร้อมพัฒน์ เจ้าของผลงาน “บัตรประชารัฐ 700 บาท” ผนึกกำลังกับ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ผู้ร่วมบุกเบิกนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

“นฤมล” เจ้าของแนวคิด “กระทรวงน้ำ” สมัยนั่งเก้าอี้ รมช.แรงงาน เคยขายไอเดีย การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืน

ทีมมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เจ้าพ่อการตลาด นักประชาสัมพันธ์-เซลส์แมนมืออาชีพ ที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญเศรษฐกิจให้กับ 2 รัฐบาล 3 นายกรัฐมนตรี

ทีมสามมิตร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ “สมศักดิ์” ยังฝังใจอยู่กับ โครงการโคบาลประชารัฐ หรือ “โคล้านตัว” ที่เป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี’62 แต่ยังไม่มีโอกาสไปนั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วน เสี่ยแฮงค์ นายอนุชา นาคาศัย 99.99% ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ และอาจจะหนีบนายชาญกฤษ เดชวิทักษ์ ที่กำลังหมกมุ่นอยู่กับผลิตภัณฑ์ใหม่ “หวยสองตัวสามตัว” ไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์อีกคน

การรวมตัวของคีย์แมนเศรษฐกิจ “ศิษย์เก่าไทยรักไทย” เป็น “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ของพรรคพลังประชารัฐ หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะบรรเลงเพลงเศรษฐกิจกันได้ “เข้าขา” หรือ “คนละคีย์”

ทุนมุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์

การได้เบอร์ใหญ่-บิ๊กเนมมาเสริมทัพพลังประชารัฐ ก่อนเวลาตั้งโต๊ะจีน “ระดมทุน” ไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ยอดลงทุนทะลุ 170 โต๊ะ 510 ล้านบาท

ย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐระดมทุนที่ตั้งไว้ 200 โต๊ะ ยอดรวม 650 ล้านบาท วันนี้ถนนทุกสาย-ทุนทุกสี มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์