ครม.ไฟเขียว NT ลงทุน 5G ให้บริการลูกค้าองค์กร วงเงิน 6,705 ล้าน

เอ็นที

ครม.ไฟเขียว บมจ.โทรคมนาคมฯ ลงทุน 5G สำหรับลูกค้าองค์กร เล็งให้บริการแบบ Private 5G Network 438 องค์กร ตลอดโครงการ 14 ปี วงเงิน 6,705.6 ล้านบาท

วันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการโครงการบริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กรของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรอบวงเงินจำนวน 4,964.30 ล้านบาท และรับทราบกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกรอบวงเงิน 1,741.3 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินตลอดโครงการระยะเวลา 14 ปี 6,705.6 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โดยโครการนี้เกิดขึ้นจากการที่ บมจ.โทรคมนาคมฯ ประสงค์จะนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการบนย่านความถี่ 26 GHz ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงาน กสทช. จากการเข้าร่วมประมูลเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายองค์กรที่จะรับบริการตามโครงการนี้ภายใน 6 ปีทั้งสิ้น 438 ราย

ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 11 ราย กลุ่มโรงพยาบาล 47 ราย กลุ่มสถาบันการศึกษา 30 ราย และโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น อีอีซี 350 ราย ให้บริการ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access :FWA) 2.ให้บริการเชื่อมต่อในพื้นที่จำกัด (Campus Network) อาทิ ในโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่ง ท่าอากาศยาน และ 3.ให้บริการเพื่อสนับสนุนการบริการสาธารณะและการบริการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และดิจิทัลไทยแลนด์

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โครงการจะเน้นบริการ 5G ลักษณะเฉพาะองค์กร (Private 5G Network) ที่การออกแบบตามความต้องการใช้งานต่าง ๆ ดังนั้น บมจ.โทรคมนาคมฯ จะมีการลงทุนงานที่เป็นลักษณะโครงการเป็นราย ๆ (Project-based) เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจและลูกค้าที่แน่นอน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานประกอบด้วย การลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายหลักและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การลงทุนพัฒนาสถานีฐานเทคโนโลยี 5G และ ให้บริการ Business solution

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการนี้จะมีระยะเวลา 14 ปี ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 6,705.6 ล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายจากรายได้ของ บมจ.โทรคมนาคมฯ แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) เช่น ค่าลงทุนระดับโครงจ่ายหลัก (Core Network) สถานีฐานเทคโนโลยี 5G ต้นทุนอุปกรณ์ ค่าบริการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องวงเงิน 4,964.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงข่าย วงเงิน 1,741.3 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นอกจากนี้ บมจ.โทรคมนาคมฯ ระบุว่า ได้ทำการประเมินแล้วโครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุนโดยมีผลตอบแทนทางการเงิน อยู่ที่ร้อยละ 28.71 มีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี 6 เดือน ขณะที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ร้อยละ 16 เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 263 ล้านบาท มากกว่าศูนย์ ซึ่งหมายความว่าโครงการสามารถสร้างรายได้เหนือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโดยเฉลี่ย

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การดำเนินโครงการของ บมจ.โทรคมนาคมฯ จะมีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาแรงงานดิจิทัล พื้นที่พัฒนาพิเศษ และ 5G ยังจะสามารถต่อยอดการพัฒนาการศึกษา การแพทย์และเทคโนโลยีเสมือนจริง และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าองค์กรที่ต้องการใช้บริการ 5G ด้วย