มหาดไทยตรวจเข้มงวด 3 หมื่น มูลนิธิ-สมาคม

มหาดไทย

กรณีจีนเทาพ่นพิษ ปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งการผู้ว่าฯ-นายอำเภอตรวจสอบมูลนิธิ-สมาคมกว่า 32,956 แห่งทั่วประเทศ มีการกระทำผิดกฎหมายช่วยจีนเทาหรือไม่ พร้อมเข้มงวดการจดจัดตั้งใหม่ไม่ให้ใช้มูลนิธิ-สมาคมฟอกขาว ยอมรับต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิทั้งหมด จากข้อเท็จจริงมีการใช้มูลนิธิบังหน้า ไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์จดแจ้ง แสวงหาผลประโยชน์ ไม่มีหน่วยงานกำกับโดยตรง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กรณีกลุ่มมิจฉาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มจีนเทา” ใช้การจดทะเบียนตั้งเป็น มูลนิธิ หรือสมาคม เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์-ฟอกเงิน หรือดำเนินการใด ๆ ที่ผิดกฎหมายว่า ในลำดับแรกขอเรียนว่า มูลนิธิที่ปรากฏตามข่าว ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิเป็นต่อกรุ๊ป และมูลนิธิส่านซีสมาคมแห่งประเทศไทย นั้น “ทั้ง 2 มูลนิธินี้ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย”

หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยทราบเรื่องในขั้นแรกได้มีการสั่งการให้ กรมการปกครอง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบไปตรวจสอบข้อมูลทันที หลังจากพบว่าไม่มีการจดทะเบียนและมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ

ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) กับมูลนิธิเป็นต่อกรุ๊ป ซึ่งได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีเรียบร้อยแล้ว ส่วนของมูลนิธิส่านซีสมาคมแห่งประเทศไทย ที่เป็นกรณีล่าสุด ทางกรมการปกครองก็ได้ตรวจสอบแล้ว

ผลปรากฏว่า มูลนิธิดังกล่าวไม่ได้มีการจดทะเบียนแต่อย่างใด “ขอเรียนว่า หากพบเห็นมูลนิธิหรือสมาคมอื่นใดมีการดำเนินการใด ๆ ที่น่าสงสัย สามารถส่งเบาะแสมาได้ที่ 1567 สายด่วนของศูนย์ดำรงธรรมได้ทันที” นายสุทธิพงษ์กล่าว

ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงระบบ ได้สั่งการให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในฐานะนายทะเบียน ได้เร่งตรวจสอบการดำเนินงานของมูลนิธิและสมาคมทุกแห่งที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศไทยว่า มีการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่เป็นข้อบังคับหรือไม่ หากพบเห็นการฝ่าฝืนระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป

ในครั้งแรกได้มีการสำรวจมูลนิธิไปแล้วประมาณ 1.4 หมื่นมูลนิธิทั่วประเทศ ปรากฏมีบางมูลนิธิที่ไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อ แต่ยังไม่ได้แจ้งยุบเลิกมูลนิธิ ประมาณ 170 มูลนิธิ “ผมได้สั่งการซ้ำอีกครั้งให้มีการตรวจสอบการดำเนินการของมูลนิธิและสมาคมที่ยังดำเนินการอยู่อย่างละเอียดว่า ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ รวมถึงสำรวจมูลนิธิใดต้องสงสัยว่าจะเป็นมูลนิธิที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่าง ๆ รวมถึงทุนจีนสีเทาด้วยหรือไม่”

ทั้งนี้ กรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนของมูลนิธิและสมาคมที่จดจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบข้อมูลทั้งทางบัญชีและการดำเนินการได้ โดยเรียกตรวจจากเหรัญญิก หรือทางกรรมการของมูลนิธิสมาคม หากพบข้อพิรุธใด ๆ ทางกรมการปกครองจะต้องมีการประสานหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ปปง. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ตามแต่กรณีที่พบข้อพิรุธ

เป็นไปได้คาดว่าภายในสัปดาห์หน้านี้จะเห็นภาพรวมทั้งหมดของมูลนิธิในประเทศไทย “ผมขอยืนยันว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากมีข่าวในเรื่องการดำเนินการของมูลนิธิที่ไม่ปกติ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังได้สั่งให้มีการกวดขันการจดทะเบียนตั้งมูลนิธิใหม่ จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการใช้มูลนิธิและสมาคมเป็นเครื่องมือในการทำผิดกฎหมาย ประกอบกับระยะยาวจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับมูลนิธิทั้งหมด เช่น

ปัจจุบันการจดจัดตั้งมูลนิธิกำหนดทุนจดทะเบียนไว้แค่ 200,000 บาทเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันทุนจดทะเบียนจำนวนนี้น้อยเกินไปในการดำเนินการการกุศลแล้ว หรือแม้กระทั่งการกำหนดบทลงโทษใหม่ในการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ปัจจุบันคิดค่าปรับเพียง 200 บาท ซึ่งน้อยมากในปัจจุบัน

มีมูลนิธิ-สมาคม 32,956 แห่ง

ข้อมูลจากกรมการปกครองรายงานว่า ปัจจุบันมีการจดทะเบียนมูลนิธิทั่วประเทศทั้งสิ้น 14,450 มูลนิธิ และอยู่ระหว่างการยุบเลิกอยู่ 173 มูลนิธิ โดยใน 173 มูลนิธิที่จะยุบเลิกนั้น มีบางส่วนเป็นมูลนิธิที่ฝ่าฝืนมาตรา 131 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ซึ่งทางกรมการปกครองจะต้องประสานงานกับพนักงานอัยการในการส่งฟ้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิ เช่น มีการตรวจพบ 2 มูลนิธิดังที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการใช้หนังสือของมูลนิธิเพื่อเป็นหลักฐานให้ออกวีซ่าประเภทอาสาสมัคร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงประสานกับพนักงานอัยการขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยุบเลิกมูลนิธิแล้ว

ส่วนสมาคมที่จดทะเบียนทั่วประเทศในขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 18,506 สมาคม และอยู่ระหว่างการดำเนินการยุบเลิกอยู่ 326 สมาคม โดยสมาคมที่จะยุบเลิกนี้มีทั้งสมาคมที่ยุบเลิกโดยสมัครใจ เนื่องจากไม่ต้องการดำเนินกิจการต่อ และสมาคมที่ถูกยุบเลิกตามผลของกฎหมายในมาตรา 102 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดยการยุบเลิกหรือถอนชื่อที่เป็นถ้อยคำตามกฎหมายในส่วนของสมาคม ไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุบเลิกแต่อย่างใด แต่เป็นอำนาจของนายทะเบียนคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด กับปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครในการออกคำสั่งยุบสมาคมได้ทันที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

“ข้อมูลล่าสุดที่ได้รับรายงานเข้ามาในส่วนของการยุบเลิกโดยผลของกฎหมายจะมี สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่อยู่ระหว่างการยุบเลิก แต่สมาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทา หรือทุนสีเทา ยังไม่มีการรายงานเข้ามา”

เฉพาะ กทม.มี 4,408 มูลนิธิ

ด้าน นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับมูลนิธิที่จดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครในขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 4,408 มูลนิธิ โดยแต่ละมูลนิธิจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 200,000 บาท ดังนั้นจำนวนเงินที่อยู่กับมูลนิธิในพื้นที่ กทม. จะมีไม่น้อยกว่า 881 ล้านบาท ในทางทฤษฎี ส่วนในข้อเท็จจริงน่าจะมีจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้โดยอำนาจหน้าที่ของ กทม. ในการจดจัดตั้งมูลนิธิก็คือ การรับคำร้องขอจดจัดตั้งมูลนิธิ พร้อมทั้งตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสถานที่จัดตั้งเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยัง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยอนุมัติจัดตั้งมูลนิธิต่อไป ส่วนการยุบเลิกมูลนิธิทั้งจากตัวมูลนิธิเอง หรือประการอื่น ๆ เช่น

กระทำผิดวัตถุประสงค์ ก็เป็นทำนองเดียวกันกับการขอจดจัดตั้งมูลนิธิ นั่นก็คือ เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงมหาดไทย การตรวจสอบมูลนิธิจะมีการตรวจบัญชีโดยผู้ตรวจบัญชี ในทำนองเดียวกันกับนิติบุคคลเช่นเดียวกับบริษัท

ตั้งมูลนิธิฟอกเงิน

ทั้งนี้จากการศึกษาปัญหาการจัดตั้งมูลนิธิ-สมาคมในประเทศไทยพบว่า ยังมีปัญหาในเรื่องความชัดเจนของข้อกฎหมายจนอาจเป็น “ช่องว่าง” ให้เกิดการใช้มูลนิธิหรือสมาคมดำเนินการใด ๆที่ผิดกฎหมายได้ โดยในส่วนของการจัดตั้ง “มูลนิธิ” จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อนายทะเบียนรับจดมูลนิธิแล้ว ตัวมูลนิธิจะมีฐานะเป็น นิติบุคคล ผู้ดำเนินการมูลนิธิจะใช้ในรูปของ กรรมการมูลนิธิ อย่างน้อย 3 คนขึ้นไป ดำเนินงานมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ที่จดตั้งมูลนิธิขึ้น

การตั้งมูลนิธิขึ้นมาจะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่อยู่ในข้อบังคับของมูลนิธิ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ มูลนิธินั้น ๆ ไม่มีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง มีการนำมูลนิธิมาใช้ดำเนินการทางธุรกิจแสวงหากำไรและผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์

นอกจากนี้ยังมีการใช้มูลนิธิบังหน้ากระทำการ “ฟอกเงิน” หรือ “เลี่ยงภาษี” การดำเนินการขอวีซ่าเข้าประเทศจากกลุ่มธุรกิจสีเทา ส่วนการกำกับดูแลตรวจสอบมูลนิธิเป็นอำนาจของนายทะเบียน ซึ่งก็คือ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ในกรุงเทพมหานคร และ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในต่างจังหวัด ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อตรวจสอบมูลนิธิโดยตรง จนเกิดช่องว่างให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายและหลบเลี่ยงภาษีขึ้นในที่สุด