แพ็กเกจโปรไฟไหม้ 6 พรรคตัวเต็ง เพิ่มเงินเดือน-แจกเงินถมงบสวัสดิการรัฐ

6 พรรค

พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา ต่างงัดนโยบายแจกเงิน-เพิ่มค่าตอบแทน ถมงบฯสวัสดิการถ้วนหน้า-ตลอดชีวิต ถูกงัดออกมาซื้อใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

6 พรรคการเมืองที่เป็นตัวเต็ง-ตัวแปรในชัยชนะเลือกตั้ง โค้งสุดท้ายหักศอกก่อนถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จัดโปรไฟไหม้ แจกแหลก-แจกจริง

พรรคก้าวไกล เจ้าสำนักรัฐสวัสดิการ ขนแพ็กเกจ สวัสดิการเกิด-โต-ตาย มาขอท้าทายอดีตรัฐบาลแชมป์-แชมป์ นโยบายสวัสดิการ “เกิด” ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท เงินเด็กเล็ก เดือนละ 1,200 บาท วงเงินที่ต้องใช้ 50,000 ล้านบาทต่อปี

สวัสดิการ “เติบโต” เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง คูปองเปิดโลก สำหรับเยาวชนเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ้าอนามัยไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แจกฟรีในโรงเรียน ต้องใช้ 44,600 ล้านบาทต่อปี

สวัสดิการ “ทำงาน” ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปีเริ่ม 450 บาท ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกินต้องได้ค่าล่วงเวลา (OT) แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้

ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ แพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีไม่จำกัด มีระบบจัดหางาน คูปองเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ 5,000 บาทต่อปี วงเงินที่ต้องใช้ 56,000 ล้านบาทต่อปี

สวัสดิการ “สูงอายุ” เดือนละ 3,000 บาท เจ็บป่วยติดเตียงมีระบบดูแล วงเงินที่ต้องใช้ 500,000 ล้านบาทต่อปี

สวัสดิการ “ทุกช่วงวัย” บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่ รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด-เติมเงินท้องถิ่น ฯลฯ วงเงินที่ต้องใช้ 98,500 ล้านบาทต่อปี

พรรคเพื่อนบ้านอย่าง “เพื่อไทย” เจ้าตำรับประชานิยม-ยี่ห้อนายใหญ่ดูไบ มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วงเงินที่ต้องใช้ 560,000 ล้านบาท ลดช่องว่างรายได้ประชาชนให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท

นโยบายสวัสดิการ เงินสมทบคนสร้างตัว วงเงินที่ต้องใช้ 90,000 ล้านบาท สวัสดิการผู้สูงอายุ วงเงินที่ต้องใช้ 300,000 ล้านบาท หวยบำเหน็จ วงเงินที่ต้องใช้ 800 ล้านบาท สนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์การจ้างงานผู้สูงอายุ วงเงินที่ต้องใช้ 500 ล้านบาท

ข้ามฟากมาที่ พรรคพลังประชารัฐ ยังคงแบรนด์ “ประชารัฐ” ด้วย “บัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน” เพิ่มโปรแกรมเสริมด้วยฟรีประกันชีวิตประชารัฐ วงเงินที่ต้องใช้ 128,392 ล้านบาท

แม่-บุตร-ธิดา ประชารัฐ วงเงินที่ใช้ 174,216 ล้านบาท เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,000 บาท 70 ปีขึ้นไป 4,000 บาท 80 ปีขึ้นไป 5,000 บาท วงเงินที่ต้องใช้ 495,658 ล้านบาท สุขภาพครบวงจร งบฯที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท
ล่าสุดแจกเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 8 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 30,000 ล้านบาท รวม 240,000 ล้านบาท

ขณะที่พรรคน้อง-รวมไทยสร้างชาติ เจ้าของฉายามาเร็ว-เคลมเร็ว เคลมนโยบาย “พรรคพี่” มารีแบรนดิ้งเป็น “ยี่ห้อลุงตู่” ทั้งมาตรการแจกเงิน-กระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ “บัตรสวัสดิการพลัส” คนละ 1,000 บาทต่อเดือน วงเงินที่ต้องใช้ 71,000 ล้านบาทต่อปี

โครงการ “คนละครึ่ง ภาค 2” จำนวน 26 ล้านสิทธิ งบประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท โครงการ “เที่ยวด้วยกันเมืองรอง ภาค 2” จำนวน 5 ล้านสิทธิ งบประมาณปีละ 18,000 ล้านบาท

โครงการ “ค่าตอบแทน อปพร.” เดือนละ 1,000 บาท วงเงินงบประมาณไม่เกิน 10,000 ล้านบาทต่อปี โครงการ “เพิ่มเงินสมทบของภาครัฐ” ให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน วงเงินงบประมาณ 29,000 ล้านบาทต่อปี

โครงการ “เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ให้เท่ากันทุกช่วงอายุ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน (ยกเว้นคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) งบประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท

โครงการ “ช่วยเหลือเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” ถึงอายุ 10 ปี 1,000 บาทต่อเดือน สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม วงเงินงบประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี

โครงการ “กองทุนพ่อเลี้ยงเดี่ยว-แม่เลี้ยงเดี่ยว” วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านพรรคเก่าแก่อย่าง ประชาธิปัตย์ ปรับลุกเป็นพรรค “อนุรักษ์ก้าวหน้า” ร่วมวงการสวัสดิการรัฐ ภายใต้นโยบายสวัสดิการตลอดชีพ วงเงินงบประมาณ 162,400 ล้านบาทต่อปี อาทิ

ดูแลทารกและเด็กในช่วงปฐมวัย 0-6 ปี ได้รับเงินทันที เพิ่มสิทธิลาคลอด มารดา 6 เดือน บิดา 1 เดือน เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีดูแลคนพิการ-ผู้สูงอายุ เพิ่มสิทธิคู่สมรสที่แต่งงานตามระบบการจดทะเบียน ชมรมผู้สูงอายุ เพิ่มเบี้ยผู้พิการ ขึ้นค่าตอบแทน อกม.เป็น 1,000 บาทต่อเดือน วงเงินที่ใช้ 900 ล้านบาทต่อปี

ปิดท้ายที่ “พรรคตัวแปร” อย่าง ภูมิใจไทย นอกจากนโยบายกัญชาแล้ว ได้มรดกจากการได้โควตากระทรวงสาธารณสุขจึงออกนโยบาย เพิ่มค่าตอบแทน อสม.และ อสส. เป็นเดือนละ 2,000 บาท เจ็บป่วยมีประกัน วงเงิน 27,237 ล้านบาทต่อปี

ฟรีกองทุนประกันชีวิตผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตายได้ 100,000 บาท กู้ได้ 20,000 บาท วงเงินที่ต้องใช้ 37,098 ล้านบาทต่อปี ฟรีน้ำดื่มติดตั้งเครื่องกรองน้ำทุกหมู่บ้าน รวมค่าใช้จ่ายเพื่อติดตั้ง 6.87 พันล้านบาท และค่าบำรุงรักษาปีละ 0.68 พันล้านบาท

6 พรรคตัวเต็งเป็นรัฐบาล-ฝ่ายค้าน คิดนโยบายว่ายากแล้ว ทำตามนโยบายให้ได้จริงยากยิ่งกว่า