พริษฐ์ เปิด MOU รัฐบาลก้าวไกล แสวงจุดร่วมแจกเงินดิจิทัล-รัฐสวัสดิการ

พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ วัชรสินธุ
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ผ่านมา 4 ปี พรรคก้าวไกลเข้มแข็ง แข็งแกร่งกว่ายุคพรรคอนาคตใหม่ และกระแสแรงแซงทางโค้ง จนคู่แข่งบางพรรคการเมืองหวั่นไหว

ด้วยนโยบายที่แข็งแรง พุ่งเป้าทลายทุนผูกขาด บวกกับจุดยืนที่หลายพรรคไม่กล้าลอกเลียน กลายเป็นเป้าโจมตี และอาจถูกโดดเดี่ยว

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล และผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 11 ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญ ๆ ทั้งนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร นโยบายด้านการศึกษา ของพรรคก้าวไกล

เขายืนยันว่า นโยบายของพรรคก้าวไกล ไม่ “สุดโต่ง” และไม่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะถูกโดดเดี่ยว

ผลักวาระ 300 นโยบาย

ไอติม-พริษฐ์ ตอบคำถามแรกถึงการตอบรับทั้งด้านนโยบายและตัวบุคคล ส่งผลให้กระแส “ก้าวไกล” เป็นที่หวาดหวั่นของคู่แข่งในโค้งสุดท้ายว่า พรรคก้าวไกลมองว่างานนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะท้ายที่สุดคือสิ่งที่บ่งบอกว่าพรรคถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ต้องการเข้าไปเปลี่ยนประเทศอย่างไรบ้าง

เราได้ผลิตออกมา 300 กว่านโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ที่ครอบคลุมทุกปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ เริ่มต้นจากการเมือง สวัสดิการ กระจายอำนาจ ระบบราชการ การคอร์รัปชั่น การศึกษา การเกษตร ที่ดิน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และถ้าเราเป็นรัฐบาล ก็จะเป็นแผนงานไปดำเนินงานให้สำเร็จให้ได้ภายใน 4 ปี

“อันนี้สำหรับ 4 ปี เป็นขั้นพื้นฐาน ถ้าเราได้เป็นรัฐบาลก็จะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง แต่หากมีปัญหา ก็อาจจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม แต่ 300 นโยบายไม่ใช่แค่แนวคิด หรือวิสัยทัศน์ แต่เป็นแผนงานที่ระบุอย่างชัดเจนว่าดำเนินการได้อย่างไร”

นโยบายก้าวไกลไม่สุดโต่ง

หนึ่งในนโยบายที่ทำให้ผู้คนหันมามองว่า พรรคก้าวไกล “สุดโต่ง” หรือไม่ คือกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “พริษฐ์” เริ่มต้นอธิบายว่า

ผมและพรรคก้าวไกลต้องยืนยันว่า นโยบายกว่า 300 นโยบายไม่ได้เป็นวาระสุดโต่ง เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตั้งคำถามกลับว่าอะไรที่สุดโต่งกว่ากัน ระหว่างสิ่งที่พรรคก้าวไกลนำเสนอกับการไปต่อด้วยโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแบบเดิม

ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ระหว่างข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่บอกว่านายกฯควรมาจากการเลือกของ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แบบ 1 สิทธิ 1 เสียง หรือ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ เทียบเท่ากับประชาชน 7 หมื่นคนรวมกัน

หรือแม้กระทั่งเรื่องมาตรา 112 ซึ่งข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเป็นไปตามมาตรฐานสากล หากเปรียบเทียบกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ

คือ กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประมุขของรัฐ จากฐานการหมิ่นประมาท ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการออกแบบกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขที่มีความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน กับการคุ้มครองประมุขจากการหมิ่นประมาท

ซึ่งการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เรามองว่าพยายามแก้ไข 3 ปัญหา ที่เราเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาและรักษาสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ หากสามารถออกแบบกฎหมายที่มีสมดุลที่ดีขึ้น ระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน กับการคุ้มครองประมุขจากการหมิ่นประมาท

เราไม่ได้เสนอให้ยกเลิกแต่ให้แก้ไข ยังมีกฎหมายคุ้มครองประมุขจากฐานหมิ่นประมาทที่แยกออกมาจากกฎหมายคุ้มครองประชาชนทั่วไป โดยเราจะแก้ 3 ส่วน

ส่วนหนึ่ง แก้ไขเนื้อหาเพื่อคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เราเห็นว่าปัจจุบันแม้กฎหมายมาตรา 112 ระบุชัดว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย แต่ในเชิงปฏิบัติเห็นว่ามีการบังคับใช้กับกรณีที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย

เช่น ตอนปี 2559 มีนักกิจกรรมที่แชร์บทความของบีบีซี ซึ่งเนื้อหาบทความก็ไม่ได้มีลักษณะหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย และกรณีนี้มีคนแชร์หลักพันคน แต่นักกิจกรรมคนนี้ถูกดำเนินคดี

ดังนั้น อาจต้องแก้ที่การบังคับใช้ แต่ส่วนหนึ่งเราสามารถเขียนกฎหมายให้รัดกุมขึ้นได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการคิดค้นอะไรใหม่ แต่เอาแนวคิดจากกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้ ซึ่งมีเหตุยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ ถ้าเป็นการติชมหรือแสดงความเห็นอย่างสุจริต หรือถ้าเป็นการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะเป็นเหตุยกเว้นโทษ เราก็เสนอให้นำข้อความเหล่านี้มาใช้กับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เช่นกัน

ส่วนเรื่องความหนักของโทษ ปัจจุบันอยู่ที่ 3-15 ปี ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่าสูงมาก เทียบกับประเทศอื่นสูงกว่าหลายเท่าตัว เทียบกับกฎหมายในไทย เท่ากับโทษการฆ่าคนโดยไม่เจตนา และสิ่งที่น่ากังวล คือ พอกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ที่ 3 ปี ถ้าคนกระทำความผิดแค่เล็กน้อย แต่ศาลไม่มีดุลพินิจในการลงโทษที่น้อยกว่านั้น ต้อง 3 ปีขึ้นไป ดังนั้น ข้อเสนอของเราคือ 0-1 ปี

หลายคนบอกว่า กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โทษ 0-2 ปี ทำไมอันนี้ต่ำกว่า ต้องบอกว่าพรรคก้าวไกลเสนอแก้กฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ สำหรับบุคคลธรรมดาเราจะเปลี่ยนเป็นโทษปรับ แปรผันตามรายได้ ฐานคนรายได้สูงจะโดนโทษปรับที่สูง ส่วนพระมหากษัตริย์เรายังคงโทษจำคุกไว้ 0-1 ปี

รวมถึงผู้มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ ปัจจุบันเปิดให้ใครไปร้องทุกข์กล่าวโทษใครก็ได้ อาจใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม หรืออาจมีนักการเมือง หรือข้าราชการที่กระทำการทุจริต แล้วต้องการปกปิดการทุจริตของตนเอง ก็นำชื่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเชื่อมโยงกับโครงการตัวเอง แล้วไปสร้างความเข้าใจผิดในสังคมว่าถ้าใครมาตรวจสอบแล้วจะถูกฟ้องมาตรา 112 หรือเอามาตรา 112 มาสร้างสภาพแวดล้อมแห่งความหวาดกลัว เพื่อไม่ให้ใครกล้ามาตรวจสอบตนเอง

“ดังนั้น ต้องจำกัดสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยให้สำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นข้าราชการที่เป็นตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะใช้ดุลพินิจและวิจารณญาณว่าจะร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่”

“หรือถ้าเรามองว่าไม่อยากให้เป็นสำนักพระราชวัง จะใช้นายกฯหรือปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็สามารถนำมาถกเถียงกันได้ เพื่อหาฉันทามติในกระบวนการรัฐสภา”

ตรงไปตรงมาคือแนวปฏิบัติ

“พริษฐ์” ไม่เชื่อว่า นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ทำให้การเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกลแคบลง

“พรรคก้าวไกลยึดถือแนวปฏิบัติว่าอะไรที่เรามองเห็นว่าเป็นปัญหา เราก็ต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา วิเคราะห์ด้วยข้อมูล เหตุและผล และนำเสนอทางออกที่เราคิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลยืนระยะได้ในการเมืองไทยคือการยึดแนวปฏิบัติแบบนี้”

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มบอกว่าอันนี้เป็นปัญหาแต่เราไม่พูดถึง จะไม่เอามาคุยอย่างตรงไปตรงมา อันนั้นต่างหากที่ทำให้เส้นทางการเมืองของพรรคก้าวไกลแคบลง”

“เหตุผลที่เราเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร เรามองว่าเป็นการทำงานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้มีเซอร์ไพรส์หลังเลือกตั้ง และคิดว่าเป็นแนวทางที่เคารพเสียงของประชาชน”

MOU ร่วมรัฐบาลก้าวไกล

ด้วยนโยบายที่แหลมคม แม้จะไม่ “สุดโต่ง” แต่ก็ทำให้การดีลกับพรรคเพื่อไทยอาจไม่ลงตัว “พริษฐ์” ชี้แจงว่า คิดว่าทุกพรรคมีข้อเสนอที่แตกต่างกันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แน่นอน

และยิ่งมีการแข่งขันที่เข้มข้นเท่าไหร่ก็เป็นประโยชน์กับประชาชนได้มีตัวเลือกที่หลากหลาย

หลายคนสงสัยเรื่องการร่วมรัฐบาล ในมุมมองของพรรคก้าวไกล มี 2 เป้าหมาย หนึ่ง การนำพาการเมืองไทยกลับสู่สภาวะประชาธิปไตยปกติ เป้าหมายที่ 2 คือ การขับเคลื่อน 300 นโยบาย ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ว่าสิทธิเสรีภาพ การศึกษา สวัสดิการ เกษตร สาธารณสุข เศรษฐกิจ

เมื่อเอา 2 เป้าหมายมาเป็นตัวตั้ง ก็จะแปรผันมาเป็น 2 เงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล 1.ที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคสรุปว่า มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง ไม่ว่าเรามี ส.ส.มากขนาดไหน เราจะไม่ร่วมรัฐบาลกับ 2 พรรคการเมืองที่มีแคนดิเดตนายกฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร และเขียนกติกาเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญ คือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ

เราไม่คิดว่าการร่วมมือกับ 2 พรรคนี้ จะสามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ และไม่คิดว่ามองภาพอนาคตการเมืองไทยที่เป็นประชาธิปไตยเหมือนที่ก้าวไกลมอง

2.การขับเคลื่อนนโยบายให้ได้เยอะที่สุดกับพรรคใด ๆ ก็ตาม เราจะต้องมี MOU ที่ชัดเจนว่าวาระการเข้าร่วมรัฐบาลจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ถ้านโยบายบางอย่างตรงกันทุกพรรค มันก็ไม่ต้องมีการถกเถียง บรรจุเป็นวาระร่วมไปเลย แต่ถ้ามีความแตกต่างก็ต้องมีการเจรจาต่อรองกันว่า สุดท้ายแล้ววาระร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลคืออะไร

และ MOU นี้ก็ต้องประกาศชัดตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาล เพราะไม่อย่างนั้นพรรคที่มีนโยบายแตกต่างกัน มาร่วมรัฐบาลกัน ผ่านไป 4 ปี ประชาชนทวงถามว่า เอ๊ะที่หาเสียงไปทำไมไม่ทำ พรรคเอก็บอกว่า อ๋อพรรคร่วมบีไม่ยอมทำ ดังนั้น MOU ต้องมีก่อนการจัดตั้งรัฐบาล

และแน่นอน เราจะพยายามผลักดันวาระ 300 ข้อ เข้าไปใน MOU ให้เยอะที่สุด ซึ่งจำนวน ส.ส.ก็จะเป็นตัวแปรถึงความชอบธรรมที่จะบรรจุในวาระร่วมรัฐบาล แต่วาระที่เราไม่สามารถผลักดันเข้าไปใน MOU ได้ เราก็จะขับเคลื่อนต่อ เรายืนยันว่ากฎหมาย 45 ฉบับเราเสนอหมด และขอการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นในสภา

ส่วนนโยบายไหนที่พรรคก้าวไกลไม่อาจ “ถอย” ได้นั้น “พริษฐ์” ยกตัวอย่างว่า สมมติเราร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย อะไรที่เห็นตรงกันเช่นยกเลิกเกณฑ์ทหาร ไม่ต้องถกเถียงเยอะน่าจะอยู่ในวาระร่วมทันที แต่อะไรที่เห็นต่างกัน เช่น แนวคิดใช้งบประมาณ 2567 พรรคเพื่อไทยจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเลต 5.6 แสนล้านบาท เราก็มองเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน

แต่พรรคก้าวไกลใช้งบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ในปีแรก ทั้งการขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน การตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิที่ดิน รวมถึงมาตรการการปลดหนี้เกษตรกร การเพิ่มระดับสวัสดิการขึ้นมา

ก็ต้องมาคุยกันว่าจะไปด้วยกันอย่างไรดี จำนวน ส.ส.จะเป็นตัวกำหนด แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างในนโยบายอย่างไร

หาจุดกึ่งกลางอย่างไร เป็นกระบวนการปกติ แต่เรื่องนี้ต้องถูกบรรจุชัดเจนใน MOU เพื่อให้ประชาชนเห็นความชัดเจนตั้งแต่ต้น


เรื่องสุดท้ายที่ “พริษฐ์” อยากเติมเต็มบทสนทนา กระแสการ “โดดเดี่ยว” พรรคก้าวไกลว่า การวัดว่าพรรคไหนโดดเดี่ยวทางการเมืองหรือไม่ ไม่ได้วัดจากการว่านโยบายพรรคคุณแตกต่างจากพรรคอื่นหรือไม่ แต่วัดว่าประชาชนให้การสนับสนุนนโยบายของคุณมากกว่า ตราบใดที่วาระการเปลี่ยนแปลงของพรรคก้าวไกล มีประชาชนสนับสนุน ร่วมเดินทางและลงคะแนนให้กับพรรคก้าวไกล เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับเรา พรรคก้าวไกลไม่ถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองแน่นอน