BITE SIZE : คำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เลือกตั้ง 2566 ทำยังไง

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

อย่างที่ทราบกันว่า วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งเป็นการทั่วไป โดยบรรยากาศหลังการเลือกตั้ง นอกจากเราจะได้เห็นหน้าตาของ ส.ส.ในแต่ละพื้นที่อย่างไม่เป็นทางการแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่คอการเมืองติดตามกันมาก คือ ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของแต่ละพรรคครับ

หนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มีการเปลี่ยนแปลงเป็น สูตรหาร 100 เหมือนในอดีต แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่า สูตรเลือกตั้ง หาร 100 ที่จะใช้คำนวณหาที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในครั้งนี้ จะมีหน้าตาเป็นยังไง ซับซ้อนขนาดไหน

ย้อนดูสูตรหาร 500

ย้อนกลับไปที่สูตรหาร 500 ซึ่งใช้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สูตรหาร 500 มีความซับซ้อนอย่างมาก เพราะต้องเอาคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง มาหาร 500 ซึ่งมาจากจำนวน ส.ส.ในสภาทั้งหมด

เมื่อคำนวณออกมาแล้ว จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค คล้าย ๆ กับเป็นโควต้าที่นั่ง ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะมีในสภา รวมทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งเปิดโอกาสให้พรรคเล็กได้มีที่นั่งในสภาด้วย

อย่างไรก็ตาม สูตรนี้ก็ทำให้ได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ที่ทำสภาเสียสูญไปหลายหน และที่สำคัญ เครื่องคิดเลข ขายดีไปด้วย

สูตรหาร 100 เป็นยังไง ?

สำหรับสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในครั้งนี้ที่เป็นสูตรหาร 100 จะเป็นสูตรที่เคยใช้มาแล้วในการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ เป็นสูตรที่นำคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรค มาคำนวณรวมกัน แล้วหาร 100 เพื่อให้ได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

จากนั้นนำคะแนนเฉลี่ยที่ได้ มาคำนวณกับ คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค จนได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ครบ 100 คน โดยจำนวนที่นั่งที่ได้จะเป็นจำนวนเต็ม ไม่นับจุดทศนิยมหรือเศษ

แต่กรณีที่เมื่อคำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แล้วยังมีที่นั่งไม่ครบ 100 ที่นั่ง กกต.กำหนดไว้ 2 เงื่อนไขในการให้ที่นั่งที่ยังเหลืออยู่นะครับ คือ

  1. พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม
  2. พรรคที่มีเศษมากที่สุด เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย

พรรคที่เข้าเงื่อนไขเหล่านี้ จะได้ที่นั่งเพิ่มจนครบ 100 ที่นั่ง แต่ถ้ามีพรรคไหนเศษเท่ากัน และอาจจะทำให้ที่นั่งเกิน 100 ที่นั่ง จะต้องไปจับสลากกัน เพื่อให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 ที่นั่งพอดี

ยกตัวอย่าง คำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สูตรหาร 100

สมมติ มี 7 พรรคการเมือง มีคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกพรรคการเมือง (ไม่นับบัตรเสีย และบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน) รวมกันได้ 4,700,000 คะแนน ให้นำคะแนนรวมทั้งหมด มาหารกับ 100 จะได้ผลหารเท่ากับ 47,000

ตัวเลข 47,000 หมายความว่า แต่ละพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน จะต้องได้ 47,000 คะแนน จากนั้นนำ 47,000 คะแนน ไปหารกับคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่ละพรรค

ผลหารจะออกมาเป็นจำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งนับเป็นจำนวนเต็ม และเมื่อคำนวณรวมกัน จะได้แค่ 96 ที่นั่ง และยังมีที่นั่งเหลืออยู่ 4 ที่นั่ง

และตามเงื่อนไขของ กกต.ที่กำหนด 2 เงื่อนไขสำหรับการให้ที่นั่งที่เหลืออยู่ 4 ที่นั่ง จะมี 4 พรรคที่ได้ที่นั่งเพิ่ม คือ

  1. พรรค G เข้าเงื่อนไข เป็นพรรคที่ผลหารเป็นเศษ ไม่มีจำนวนเต็ม ได้เพิ่ม 1 ที่นั่ง
  2. พรรค A, C, D เข้าเงื่อนไข เป็นพรรคที่มีเศษมากที่สุด เรียงจากมากไปน้อย ได้เพิ่มอีกพรรคละ 1 ที่นั่ง

เมื่อนับที่นั่งจากทั้ง 4 พรรคที่เข้าเงื่อนไขเหล่านี้ จะเท่ากับครบ 100 ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พอดี

รู้ผลเลือกตั้งเมื่อไร ?

กกต.การันตีไว้ว่า ไม่เกิน 23.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 จะทราบผลคะแนนสุดท้ายอย่างไม่เป็นทางการ

จากนั้น กกต.จะตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งจะเท่ากับภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 และเมื่อประกาศแล้ว จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ประกาศผลเลือกตั้ง

ส่วนไทม์ไลน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตี้งรัฐบาล มีดังนี้

  • ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • ปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
  • ต้นเดือนสิงหาคม 2566 จัดตั้งรัฐบาล ทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังคงรักษาการต่อไปประมาณ 3 เดือน หลังจากมีการเลือกตั้ง จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ คาดว่าราวต้นเดือนสิงหาคม 2566

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.2 ที่ https://youtu.be/p5y2j_3T-ms