ครม.ไฟเขียวการบินไทยซื้อฝูงบินเพิ่ม รับโอนกิจการไทยสมายล์-แอร์บัส 20 ลำ

การบินไทย
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

ครม.รับทราบผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 รายได้การบินไทย 32,106 ล้านบาท รับโอนกิจการ คน-เครื่องบินแอร์บัส 20 ลำ จากไทยสมายล์ ไฟเขียวจัดหาเครื่องบินเพิ่ม เช่า 13 ลำ ปี 2567-2568 อีก 9 ลำ รับโอนแอร์บัส 320 จากไทยสไมล์ 20 ลำ สั่งคลัง-คมนาคม เร่งชง ครม.เป็นสายการบินแห่งชาติ

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2565 บริษัทการบินไทยมีผลประกอบการที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้านี้

โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 341% จากปี 2564 เป็นผลจากการเติบโตของกิจการขนส่งผู้โดยสาร กิจกรรมการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ และมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวนทั้งสิ้น 11,207 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวมยังคงมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรับรู้ผลประกอบการขาดทุนจากบริษัทไทยสไมล์แอร์เวย์ จำกัด จำนวน 4,248 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ดีตามประมาณการของแผนฟื้นฟูกิจการ

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในปัจจุบันในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 บริษัทการบินไทยมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารจำนวน 32,106 ล้านบาท เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และนโยบายการเปิดประเทศ ต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าการปฏิรูปตามแผนธุรกิจการบินไทย มีแผนปฏิรูปธุรกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะปรับลดทุนดำเนินงานและเพิ่มรายได้บริษัทการบินไทย ส่งผลให้บริษัทการบินไทยสามารถลดต้นทุนดำเนินงานและเพิ่มรายได้จำนวน 64,400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบิน ซึ่งบริษัทการบินไทยมีความพยายามปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบิน โดยมีกิจกรรมการบินของบริษัทการบินไทยเอง และบริษัทไทยสไมล์ ตามแนวทางที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

“อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัทไทยสมายล์ได้ เพราะฉะนั้นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้มีแนวทางการบริหารบริษัทไทยสมายล์” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า ประการแรกจะรับโอนอากาศยานประเภทแอร์บัส 320 ที่บริษัทไทยสมายล์เช่าบริการอยู่ในปัจจุบันจำนวน 20 ลำ พร้อมปรับปรุงแผนธุรกิจของบริษัทการบินไทยและไทยสมายล์เพื่อเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือนเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยจะทยอยรับโอนอากาศยานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้จนถึงเดือนธันวาคม 2566

นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนั้น จะรับโอนบุคลากรของบริษัทไทยสมายล์เข้าเป็นพนักงานบริษัทการบินไทย โดยพนักงานของไทยสมายล์จะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องโครงการค่าตอบแทน สภาพการจ้าง และอายุงาน โดยจะทยอยรับโอนบุคลากรการบินเป็นส่วนแรก เพื่อฝึกอบรมและขอใบอนุญาตบุคลากรส่วนงานสนับสนุนในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

นายอนุชากล่าวว่า เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารเส้นทางการบิน ลดข้อจำกัดในการวางแผนเครือข่ายเส้นทางการบินให้เชื่อมต่อกัน การบริหารเวลาการบินและสิทธิการบินในเส้นทางการบินต่าง ๆ เช่น การจำหน่ายบัตรโดยสารในรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบิน และการบริหารจัดการต้นทุน

“บริษัทการบินไทยคาดว่าการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินในแนวทางดังกล่าวจะส่งผลต่ออัตราการใช้งานเครื่องบินแบบแอร์บัส 320 มีการเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นในส่วนของจำนวนชั่วโมงใช้งานต่อวัน ส่งผลให้บริษัทการบินไทยมีผลประกอบการสูงขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการโอนเครื่องบินและบุคลากรของบริษัทไทยสไมล์ไปยังบริษัทการบินไทยเสร็จสิ้นแล้ว จะยังคงสถานะการดำเนินกิจการของบริษัทไทยสมายล์อยู่ โดยยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทแต่อย่างใด ซึ่งในอนาคตจะให้คณะกรรมการบริษัทไทยสไมล์เป็นผู้พิจารณา” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนบริษัทการบินไทย แปลงหนี้เป็นทุน และการจัดสรรเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม ไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจะดำเนินการ ดังนี้

– การใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่เบิกใช้จริง หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 4,911 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

– การแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้ กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (ประมาณ 12,827 ล้านบาท) จำนวน 5,040 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

– การแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายอากาศยาน) เจ้าหนี้ กลุ่มที่ 6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (รวม 25,000 ล้านบาท) จำนวน 9,822 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

– การใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4-6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (ประมาณ 4,845 ล้านบาท) จำนวน 1,904 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

– การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน Preferential Public Offering (PPO) จำนวน 9,822 ล้านหุ้น ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

นายอนุชากล่าวว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน บริษัท การบินไทยจะขออนุญาตจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม รวมถึงการเช่าในอนาคต โดยเช่าดำเนินงาน 13 ลำ และอยู่ระหว่างจัดหาตามแผนการจัดหาอากาศยานปี 2567-2568 อีกจำนวน 9 ลำ (ไทยสมายล์ มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 64 ลำ)

นายอนุชากล่าวว่า การคงสถานะสายการบินแห่งชาติ ปัจจุบันบริษัท การบินไทย กระทรวงการคลังถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 47.86% ผู้ถือหุ้นภาครัฐทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นสัดส่วน 57.56% หรือคิดเป็นมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 83.93% ถือเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ

รวมถึงให้สามารถกลับเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน คณะกรรมการของผู้แทนของรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ

“คณะกรรมการติดตามฯ เห็นด้วยที่จะสนับสนุนให้บริษัทการบินไทย มีสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติ โดยให้บริษัทการบินไทย กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ไปหารือในรายละเอียดและเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า การติดตามหนี้สินที่บริษัทการบินไทยมีสิทธิเรียกร้องและทุนทรัพย์สูง โดยธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดยได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยหักกลบหนี้ตามมูลหนี้ที่บริษัทการบินไทยมีต่อธนาคาร

นายอนุชากล่าวว่า การขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่ ขอกระทรวงการคลังให้การสนับสนุนการใช้สิทธิเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทการบินไทย เพื่อให้ สามารถดำเนินการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไว้ตามแผนที่วางไว้ และสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้น สนับสนุนให้บริษัทการบินไทยคงสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติ

โดยให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และบริษัทการบินไทยหารือในรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป การให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อนุญาตให้บริษัทการบินไทย รับอากาศยานที่จัดหาตามแผนฟื้นฟูกิจการ และตามแผนธุรกิจที่ได้รับความเห็นชอบแล้วเข้าประจำการในฝูงบินไม่ล่าช้า