ปิด ไทยสมายล์ สิ้นปี’66 การบินไทย จ่อยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบิน 20 ลำ

ไทยสไมล์

“การบินไทย” นับถอยหลังปิดตำนานสายการบินลูก “ไทยสมายล์” เผยเตรียมเสนอแผนควบรวมต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้สัปดาห์หน้านี้ หากผ่านเห็นชอบจะยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบินไทยสมายล์ทั้งหมด 20 ลำ พร้อมขอโอน-ย้ายเครื่องบินทั้งหมดเข้าฝูงบินการบินไทย คาดดำเนินการควบรวมเสร็จภายในสิ้นปี’66 แน่นอน

วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนควบรวมสายการบินไทยกับสายการบินไทยสมายล์ซึ่งเป็นสายการบินลูกว่า ขณะนี้บริษัททำการศึกษาข้อดี-ข้อเสียของแผนควบรวมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมนำเสนอแผนควบรวมต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อขอความเห็นชอบภายในสัปดาห์หน้านี้

หากแผนดังกล่าวได้รับอนุมัติเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้แล้วบริษัทจะเดินหน้ายกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบินกับสายการบินไทยสมายล์ทั้งหมดจำนวน 20 ลำ (แอร์บัส A320) จากนั้นจะเร่งโอน-ย้าย ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC) เครื่องบินทั้ง 20 ลำเข้าฝูงบินของสายการบินไทย และทำการบินภายใต้รหัส TG ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 นี้

“วันนี้สายการบินไทยมีฝูงบินอยู่จำนวน 45 ลำ และมีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 4 ลำในปีนี้ หากสิ้นปีแผนโอนย้ายใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศของไทยสมายล์สำเร็จจะทำให้สิ้นปีนี้สายการบินไทยมีฝูงบินรวมทั้งหมด 49 ลำ” นายชายกล่าว

นายชายกล่าวต่อไปว่า แผนการควบรวมการบินไทยและไทยสมายล์ดังกล่าวนี้จะทำให้บริษัทมีการใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเครื่องการบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน บางกลุ่มมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยถึงประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่ามีปริมาณการใช้เครื่องบินที่หนักมาก ขณะที่เครื่องบินของไทยสมายล์มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยที่ประมาณ 9-10 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีในเรื่องของ Economies of scale ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบริหารสำหรับเส้นทางภายในประเทศนั้นบริษัทจะยังคงให้บริการที่คงอัตลักษณ์ความสดใส สไตล์ Light Premium  ของไทยสมายล์ไว้เหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 17 ตุลาคม 2556 ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดยมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เริ่มทำการบินวันที่ 10 เมษายน 2557 ใช้รหัสสายการบิน WE มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ปีแรกของก่อตั้งบริษัท

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มียอดหนี้คงค้างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวม 10,885.92 ล้านบาท (ค่าเช่าเครื่องบิน, บริการภาคพื้นดิน, ลานจอดสนามบิน, ค่าเบี้ยประกันเครื่องบิน, บัตรผ่านขึ้นเครื่องบิน, ฝึกนักบินใช้เครื่องบินจำลอง และอาหารขึ้นเครื่องบิน)

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าตั้งแต่ปี 2556-2564 บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด ขาดทุนสะสมรวม 15,915 ล้านบาท โดยปี 2565 ที่ผ่านมายังไม่ได้จัดส่งงบการเงิน