พรรค 2 ป.พร้อมเป็นฝ่ายค้าน แท็กทีม 77 เสียงตรวจสอบรัฐบาลก้าวไกล

พรรค 2 ป.

ความพ่ายแพ้ของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะไปต่อหรือไม่

การเลือกตั้ง 66 การแยกพรรค-แยกพวกของ 2 ป. ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ-พรรคพลังประชารัฐ จากพรรคใหญ่ 100 เสียง ถูกแบ่งครึ่งเป็น “พรรคต่ำร้อย”

“พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ” ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หญิงหนึ่งเดียวของพรรครวมไทยสร้างชาติ ยอมรับว่า การ “แยกพรรค” ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยม “ตัดคะแนนกันเอง” แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว แต่เป็นกลไกการตลาดเกินกว่าจะคาดเดาได้

โดยเฉพาะโซเซียลมีเดียที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาหักปากกาเซียน รวมถึงการวางตัวดีเบตของพรรคก้าวไกลเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

“เพื่อไทยมาแรงตลอด ทำไมพรรคเพื่อไทยถึงเหลือ ส.ส.เพียง 141 ทั้งที่ประเมินกันว่าต้องแลนด์สไลด์ ทำมาร์เก็ตติ้งใส่หัว เพื่อไทยแลนด์สไลด์”

รองเลขาธิการพรรค 36 เสียง มองเห็นชัยชนะบนความพ่ายแพ้ครั้งนี้ว่า การเป็น “พรรคใหม่” ของพรรครวมไทยสร้างชาติแล้วได้คะแนนพ็อปพูลาร์โหวตถึง 4.6 ล้านเสียง สะท้อนว่า “ประชาชนยังเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์อยู่”

“หรือแม้แต่คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติได้เป็นอันดับสอง เกินกว่า 10 เขต โดยเฉพาะกรุงเทพฯชั้นใน”

เมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” แต่ยังไม่เคยค้านมาก่อน จะต้องตั้งหลักเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบในสภานิติบัญญัติอย่างไร อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐที่ต้องกลับหลังหันมาเป็น “ฝ่ายค้าน” ไม่หนักใจ

“ง่ายมากเลย ไม่ได้ยาก เพราะเราเคยเป็นรัฐบาลมาก่อน” เธอชู “จุดแข็ง” ของพรรคมือใหม่หัดเป็นฝ่ายค้านและยกพรรคเพื่อไทยที่การเลือกตั้งปี’62 ต้องมารับบทเป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้าน

“นโยบาย 100 วันแรกที่พรรคก้าวไกลบอกว่าจะทำให้ได้ภายใน 1 เดือน เราเคยเป็นรัฐบาลมาก่อน เราทราบว่ากลไกของรัฐบาลทำได้หรือไม่ นโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับงบประมาณมีขั้นตอน ยังไม่รวมการทำโครงการต่าง ๆ จะมีทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่”

“พรรคเพื่อไทยก็เคยเป็นรัฐบาลมาตลอด ปี’62 เป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ยังทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้ กลไกของรัฐสภา กลไกของ ส.ส.เป็นกลไกที่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อยู่ดี”

ให้นึกเร็ว ๆ “มือตรวจสอบ” ของพรรครวมไทยสร้างชาติมีหรือไม่ เธอตอบทันควันว่า “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค “ท่านเคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์มาก่อน เป็นอดีตผู้พิพากษาการตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องยกมือให้ท่านเลย ยิ่งคดีโฮปเวลล์ ที่ทุกคนไม่มี hope ด้วยซ้ำ แต่ท่านก็สามารถเป็นหัวหน้าคณะเอาชนะคดีได้”

“หลังจากนี้ ส.ส.ทุกคนก็ต้องวางแผนกระบวนการทำงานมากขึ้น มีคณะทำงาน คณะวิชาการที่คอยสนับสนุนข้อมูลให้ถึงเป้าหมายในการอภิปรายฝั่งรัฐบาล”

อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรครัฐบาล มีข้อสังเกตการตั้งป้อมรื้องบประมาณปี’67 ว่า นโยบาย 100 วันแรกที่เป็นรัฐบาลที่กระทบกับงบประมาณ “ต้องใช้เงินเท่าไหร่-ได้ทำจริงหรือไม่”

“พรรคก้าวไกลอยู่ในคณะงบประมาณมาก่อน เขารู้ดีว่า สิ่งที่โฆษณาทำได้จริงหรือเปล่า เช่น นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท 4 แสนกว่าล้านบาท ยังไม่รวมอย่างอื่นแต่งบประมาณประเทศมี 3.35 ล้านล้านบาท”

ถึงแม้ว่า ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่ รมว.คลัง จะทำระบบ ZEB มาช่วยในการรื้องบประมาณปี’67 แต่เธอคิดว่ายากที่จะนำมาใช้ในการจัดทำงบประมาณปี’67 ได้ทัน

“ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของข้าราชการ ไม่ใช่เหมือนเอกชนที่สั่งซื้อวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะติดตั้งได้ และด้วยงบประมาณที่จะใช้ในการวางระบบต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ จะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง มีการบิดดิ้งหรือไม่”

สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ปัจจุบันเป็นประธานยุทธศาสตร์และกำหนดแนวทางพรรครวมไทยสร้างชาติจะทำการเมืองต่อหรือไม่

“ท่านยังเป็นผู้ใหญ่ในพรรค วันนี้ประสบการณ์ของท่าน และในฐานะที่ท่านเคยเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งมา 8 ปี ท่านถือว่าเป็นกำลังหลักสำคัญ เป็นผู้มีบารมีทางการเมืองที่ยังช่วยพรรครวมไทยสร้างชาติต่อ ไม่ว่าในฐานะตำแหน่งอะไร เพราะคำแนะนำของท่านมีคุณค่ากับรวมไทยสร้างชาติมาก”

กลับกันหาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจที่จะ “ไม่ไปต่อ” เธอเชื่อว่า “พรรคจะไม่แตก” เพราะถึงแม้ว่าการตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบอร์ 1 ให้กับรวมไทยสร้างชาติจะเหนือความคาดหมาย จนเป็นแม่เหล็กให้ ส.ส.ติดสอยห้อยตามจำนวนมาก

“เราตอบไม่ได้ว่าท่านจะหยุดหรือไม่หยุด แต่เรายินดีและพร้อม เพราะการมีท่านอยู่ในพรรคเป็นบวกอยู่แล้ว แต่อย่างไรพรรครวมไทยสร้างชาติต้องเดินหน้าต่ออยู่ดี เพื่อสานนโยบายของพรรคต่อ เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นพรรคเฉพาะกิจ”


ส่วนพลังประชารัฐ พรรค 41 เสียง “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รองหัวหน้าพรรคบอกว่า พล.อ.ประวิตรจะยังไม่วางมือ แต่จะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐไปอีก 1-2 ปี เพราะขณะนี้บ้านเมืองยังมีระเบิดเวลารออยู่ 1-2 ลูก