ก้าวไกลเปลี่ยนผ่านระบอบประยุทธ์ เบื้องหลังเค้าโครงอำนาจใหม่ รื้อถอนอำนาจเก่า

รัฐบาลก้าวไกล
คอลัมน์ : Politics policy people forum

คืบหน้าไปทีละก้าว การจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล และพันธมิตร 7 พรรค 312 เสียง แม้เส้นทางยังอีกไกล

หลังจากครั้งแรกประกาศจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม

ถัดจากนั้น 4 วัน ใช้สัญลักษณ์ครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร ลงนาม MOU ร่วมกันเพื่อเปลี่ยนผ่านอำนาจมาสู่ระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม

และทั้ง 8 พรรคนัดหารือกันอีกครั้งเมื่อ 30 พฤษภาคม ก่อนที่ประชุมจะตั้งคณะกรรมการ transition team ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน” อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน จากพรรคการเมือง 8 พรรค

ทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจ

มีหัวหน้าทีมชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นประธานคณะกรรมการการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ลูกน้องคู่ใจ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย นายวิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย นายกันต์วีร์ สืบแสง ตัวแทนพรรคเป็นธรรม นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง และนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่

พร้อมกับตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาอีก 7 คณะ 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน 2.คณะทำงานภัยแล้ง และเอลนีโญ 3.ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5.ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ PM 2.5 6.เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และเอสเอ็มอี 7.เรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด

7 คณะข้างต้นจะประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละพรรคเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อหารือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หลังจากนั้นจะมีการแจ้งแก่คณะกรรมการประสานงานฯต่อไป

เกมเปลี่ยนผ่านอำนาจ

ทว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจการเมืองในทศวรรษนี้อาจเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของอนาคตประเทศไทย

มิใช่การเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตย มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบ พรรคการเมืองกับพรรคการเมืองปกติ

แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบประยุทธ์ ที่ฝังรากมานานกว่า 9 ปี โดยมี ส.ว. 250 คนคอยคุ้มกันอยู่ มาเป็นระบอบการเมืองปกติ จากการเลือกตั้ง

รัฐบาลพิธาจะไปต่อ หรือหยุดอยู่แค่การพยายามฟอร์มรัฐบาล ก็ขึ้นอยู่กับการหาเสียง ส.ว.มาเติมเต็มตอนโหวตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่

ทว่าในมุมนักวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่าง “รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” จากคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ย้อนประวัติศาสตร์การ “เปลี่ยนผ่านรัฐบาล” ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยตอน 2475 กับฉากการสู้กันระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตย กับ ฝ่ายอนุรักษนิยม ในยุคสมัยปัจจุบัน

“รศ.ดร.ธำรงศักดิ์” เล่าย้อนว่า ในการเปลี่ยนผ่านตอน 2475 โดยคณะราษฎร ไม่มีการตั้ง “คณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน” แต่ใช้ธรรมนูญชั่วคราว และใช้สภาผู้แทนราษฎร มาออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านระบอบ

ส่วนคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในยุคปัจจุบัน เป็นแผนกดดันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กดดันรัฐบาลเดิมที่ยังอยู่ในอำนาจ ยิ่ง 8 พรรคทำงานร่วมกัน มีสปิริตร่วมกัน เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ยิ่งสร้างความชอบธรรม ไม่ว่า กกต.จะรับรองหรือไม่รับรอง

“การออกกฎหมายเป็นการสร้างระบบใหม่ แก้ระบอบเก่า เพียงแต่ปัจจุบันนี้สภาผู้แทนราษฎรถูกแช่แข็งเอาไว้ เชื่อว่าถ้าสภาเปิด รัฐบาลใหม่ก็จะเข้าไปแก้กฎหมาย การเปลี่ยนผ่านสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงได้”

“ขณะนี้อยู่ที่ว่ากฎหมายเลือกตั้งปัจจุบันทำให้เกิดการทิ้งช่วงเวลา 2-3 เดือนในการรับรอง ช่วงนี้ทำให้คนที่เฝ้าดูการเมืองมักเชื่อว่าอะไรก็จะพลิกผันได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ว่ารัฐบาลพิธาจะตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่”

“แต่ที่ดูทีมพิธาพบกับสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจมองว่าการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นจริง ต้องการให้มีรัฐบาลใหม่ ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเห็นการเปลี่ยนผ่าน

เมื่อฝ่ายประชาธิปไตย 8 พรรคไม่แสดงความวิตก ทำให้ฝ่ายอำนาจเก่าเห็นว่า 8 พรรคมีเสถียรภาพแล้ว ใจของฝ่ายผู้มีอำนาจก็จะอ่อนแอ เพราะไม่ว่าจะเล่นเกมไหน ฝ่าย 8 พรรคก็รับมือได้ ไม่ยี่หระ เหมือนกับเล่นเก้าเก ที่ฝ่าย 8 พรรคนั่งยิ้มแล้ว ไม่ว่าฝ่ายอำนาจเก่าจะเล่นเกมอะไรก็ไม่หวั่นไหว มีแต่ฝ่ายอำนาจเก่าที่หวั่นใจ”

“เห็นได้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่มีอารมณ์โมโห บวกกับ ส.ว.หาทางโยนวาทกรรมต่าง ๆ ทำลายความเชื่อมั่น แต่เชื่อว่าเกมนี้จะใช้ไม่ได้ เพราะความมั่นคงใน 8 พรรคมีสูง”

เตรียมความพร้อมเป็นรัฐบาล

ส่วนที่คนวงในทีมต้นคิดการเปลี่ยนผ่านบอกว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นรัฐบาล โดย “ศิริกัญญา” จากพรรคก้าวไกล ฉายภาพจ็อบเดสคริปชั่นของ transition team ว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยในการลงนามข้อตกลง เรามีวาระและนโยบายร่วมกันแล้ว แต่ในกระบวนการทำงานอาจจะยังต่างกัน

“นี่จะเป็นเวทีที่จะได้พูดคุยและตกผลึกระหว่างกัน ที่จะนำไปสู่การแถลงต่อรัฐสภา รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในนัดแรก ๆ ซึ่งอาจจะเจอเรื่องยาก และจำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจเร่งด่วน เราก็ไม่อยากให้เวลาที่เราจะต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผล ส.ส. และขั้นตอนต่าง ๆ หลังจากนั้น ไม่อยากทิ้งเวลาไปอย่างสูญเปล่า อยากเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด”

ขณะเดียวกัน คณะทำงานที่ตั้งขึ้น 7 ชุดจะทำหน้าที่เสิร์ฟข้อมูล หาข้อสรุปนโยบายในแต่ละด้าน ก่อนส่งให้ทีมใหญ่ตรวจการบ้าน

วิสัยทัศน์รัฐบาลใหม่

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราจะใช้วาระงานเป็นตัวกำหนดการทำงานหลังจากที่เราทำเอ็มโอยูร่วมกันแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 23 ข้อ ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นวาระงาน

ส่วนคณะทำงานภารกิจ 7 คณะย่อย เราคาดหวังจัดทำเป็นตัวนโยบายของรัฐบาลที่คณะทำงานจะรวบรวม เพื่อเสนอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมต่อไป และส่งเข้าที่ประชุมหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรค เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายร่วมกัน

“เมื่อได้ตัวร่างนโยบายและภารกิจหลักที่เป็นชุดข้อเสนอเชิงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลใหม่ ถ้ามีข้อเสนอเชิงสังคมที่เป็นปัญหาเร่งด่วน เรามุ่งหวังว่าวิสัยทัศน์ที่เราเสนอเปรียบเทียบจะเป็นเครื่องมือที่เราส่งต่อให้รัฐบาลรักษาการเข้าไปดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

“การส่งต่อภารกิจจากรัฐบาลรักษาการก็จะเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเราตระหนักตลอดว่า เรายังไม่มีหน้าที่และอำนาจในการเป็นรัฐบาล เพราะอยู่ในขั้นตอนเตรียมจัดตั้งรัฐบาล และถ้าเราจะมีอำนาจจริงเราต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ตั้งสภาให้ได้ เลือกนายกฯให้ได้ และตั้งคณะรัฐมนตรีให้ได้ และสุดท้ายคือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจึงจะทำหน้าที่ได้” นพ.ชลน่านกล่าว

วาระร่วมที่ยังไม่ร่วม

อย่างไรก็ตาม เมื่อส่องนโยบายของ 8 พรรคพันธมิตรก้าวไกล ที่ลงมือจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน ยังมีหลายนโยบายที่ยังปรับจูน บางนโยบายก็ยังไม่มีข้อเสนอ ที่ต้องหาทางออกร่วมกันก่อนเสนอเป็นร่างนโยบายรัฐบาล

อาทิ คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล มีนโยบายที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ของพรรคก้าวไกล หัวใจอยู่ที่รัฐต้องยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน และผลักดันให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์

ส่วนของพรรคเพื่อไทยใช้วิธี “ปรับโครงสร้างพลังงาน” บริหารจัดการ โดยนำเอาแก๊สราคาถูกที่ผลิตในประเทศ กับแก๊สราคาแพงจากการนำเข้า มาถัวเฉลี่ยกัน เพื่อให้เกิดราคาที่เหมาะสมต่อพี่น้องประชาชน

คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง และเอสเอ็มอี พรรคเพื่อไทย หลีกทางให้กับนโยบาย “หวยใบเสร็จ” กับค่าแรง 450 บาท ของพรรคก้าวไกล โดยชะลอแผนดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ออกไปก่อน

คณะทำงานภัยแล้ง และเอลนีโญ พรรคก้าวไกลยังไม่มีแผนการที่แก้ปัญหาน้ำแล้งอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ออกมาเฉลยวิธีแก้ปัญหาน้ำแล้งหลังเลือกตั้งผ่านไปแล้ว

ผ่านความคิดของ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย อาทิ บูรณาการระบบบริหารจัดการน้ำข้ามกระทรวง ข้ามกรม ของสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ ที่มีกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมการข้าว

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรน้ำ และ

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ที่มีภารกิจเชื่อมโยงกับ จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และหน่วยงานผู้จัดหา และผู้ใช้น้ำอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ควบคู่กับการสร้างระบบ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ที่ใช้หลักการเติมน้ำลงใต้ผิวดินด้วยบ่อขนาดพื้นที่ไม่ต้องเกิน 1 ไร่ ความลึกให้ทะลุชั้นดินดาน คือประมาณ 7-10 เมตรในจุดที่เหมาะสม เพื่อส่งน้ำฝนที่ตกลงมาจำนวนมากในช่วงฤดูฝนลงไปไว้ในพื้นที่ใต้ผิวดิน

ส่วนเรื่องที่เห็นตรงกันคือเรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่พรรคก้าวไกล ชงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ใช้งบฯ 3,000 ล้านบาท

สำหรับการทำประชามติ ใช้งบประชามติ 2 ครั้ง เพื่อขอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เตรียมแผนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี ส.ส.ร.เช่นกัน โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 18 เดือน

คณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน เป็นแผนก้าวไกลและพันธมิตร โหมประโคมอีเวนต์การมีตัวตนของ 8 พรรคการเมือง 312 เสียง จากการเลือกตั้งของประชาชน 25 ล้านเสียง

เพื่อเปลี่ยนผ่าน “ระบอบประยุทธ์” ที่อยู่ยาวกว่า 9 ปี