ก้าวไกล เสนอปฏิวัติการศึกษา กำจัดความรุนแรง-อำนาจนิยมในโรงเรียน

ภาพนักเรียน

พรรคก้าวไกล เสนอนโยบายปฏิวัติการศึกษา กำจัดความรุนแรง และอำนาจนิยมในโรงเรียน หลังเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน 

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (31 พ.ค.) เพจพรรคก้าวไกล-Move Forward Party โพสต์ข้อความระบุเกี่ยวกับแนวทางการสร้างโรงเรียนปลอดภัย แก่นักเรียนทุกคน ต้องได้รับความปลอดภัย และไม่ควรได้รับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีเนื้อหาระบุว่า

แนวทางการสร้าง “โรงเรียนปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม” โดยรัฐบาลก้าวไกล

ปัญหาเรื่องอำนาจนิยมและความรุนแรงในโรงเรียน เป็นปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาไทย ซึ่งถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง หลังปรากฏคลิปที่ถูกเผยแพร่โดย The Isaan Record เมื่อวานถึงเหตุการณ์ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ที่คุณครูมีการตบหน้านักเรียน โดยอ้างว่านักเรียนไม่ตั้งใจเรียน ซึ่งผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ วิศรุต สวัสดิ์วร ได้เข้าไปสอบถามและรับฟังปัญหาเพิ่มเติม

พรรคก้าวไกลยืนยันว่าความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียนที่ต้องได้รับการคุ้มครองทุกคน และไม่มีเหตุผล หรือกรณีใด ๆ ที่ทำให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษามีสิทธิที่จะละเมิดสิทธิของนักเรียน ไม่ว่าจะทำในนามของการสอนหรือการลงโทษก็ตาม

พรรคก้าวไกลต้องการกำจัดปัญหาความรุนแรง และอำนาจนิยมในโรงเรียน เพื่อทำให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ด้วยการเสนอนโยบายเบื้องต้นดังต่อไปนี้

1.กฎระเบียบทุกโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน และไม่เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิ

1.1 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และกำชับไปยังหน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษา เพื่อกำหนดหลักการว่า กฎระเบียบของทุกสถานศึกษา ทุกสังกัดต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนักเรียน พร้อมระบุตัวอย่างของกฎระเบียบที่เป็นการละเมิดสิทธิ (เช่น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ การบังคับเรื่องทรงผม)

1.2 แก้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 (โดยเฉพาะข้อ 6) ให้ชัดเจนและรัดกุมขึ้น ในการปิดทุกช่องโหว่ที่เสี่ยงจะนำไปสู่การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง โดยอ้างถึง “เจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน” (เช่น การอ้างว่า “ตีเพื่อสั่งสอน”)

2.ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที

2.1 แก้ข้อบังคับคุรุสภา เพื่อเพิ่มเงื่อนไข กระบวนการ และกรอบเวลาที่ชัดเจน ในการพักใบประกอบวิชาชีพครูที่มีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น

3.ผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่เป็นอิสระจากโรงเรียน-เขตพื้นที่

3.1 เพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ (MOE Safety Center) ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในโรงเรียน โดยรับประกันกรอบเวลาในการดำเนินการสืบสวน สอบสวน และรับประกันความเป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่ โดยอาจพิจารณาให้เป็นกลไกที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

4.เพิ่มทักษะครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่องสิทธิมนุษยชน

4.1 เพิ่มความรู้และทักษะให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก / พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546) และแนวทางการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ในห้องเรียนโดยปราศจากความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้เรียน

4.2 เพิ่มการดูแลสุขภาพจิตของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อลดภาวะทางความเครียดที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในห้องเรียน

4.3 รณรงค์กับสังคมในวงกว้าง เพื่อส่งเสริมให้เด็กตระหนักถึงสิทธิของตนเอง และส่งเสริมให้ผู้ปกครองคุ้มครองสิทธิเด็ก

การทำให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นหนึ่งในหลายวาระที่สำคัญของการ “ปฏิวัติการศึกษา” ภายใต้ #รัฐบาลก้าวไกล”