ดนุชา หวั่นรัฐบาลใหม่ลากยาว 10 เดือน กระทบลงทุน 3 ปีงบประมาณ

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

เลขาฯ ครม.-เลขาฯ กฤษฎีกา-เลขาฯ สภาพัฒน์ ประสานเสียง จัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า 10 เดือน กระทบลงทุน “ดนุชา” หวั่นจัดทำงบประมาณประจำปีล่าช้า 3 ปีงบประมาณ แคนดิเดตปลัดกระทรวงระทึก ลุ้น 2 เด้ง สุดท้ายจบที่ กกต.

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) กรณี 8 พรรคร่วมรัฐบาลเลื่อนการประชุมออกไปไม่มีกำหนดและผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ลงมติการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพหรือไม่อาจจะส่งผลต่อการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ไทม์ไลน์เดิม คาดว่าจะได้รัฐบาลใหม่และสามารถทำงานได้ต้นเดือนสิงหาคม

“สมมุติฐานของเราที่ทำล่าสุด หากได้นายกรัฐมนตรีวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 การทำงานของ ครม.ใหม่จะล่าช้าออกไปจนถึงเกือบ ๆ อาทิตย์ที่สามของเดือนสิงหาคม 2566” นายณัฐฏ์จารีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า Worst Case Scenario จะได้รัฐบาลล่าช้าที่สุดคือเมื่อไหร่ นางณัฐฏ์จารีกล่าวว่า เมื่อไม่มีสมมุติฐานที่เป็นระยะเวลาตั้งต้นจึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะได้รัฐบาลเมื่อไหร่ แต่คำนวณได้เบื้องต้นว่า นับจากวันเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป 2-3 สัปดาห์

เมื่อถามว่าหากล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรบ้าง นางณัฐฏ์จารีกล่าวว่า ส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ถึงแม้ว่าจะสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี’66 ไปพลางก่อน แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้ ไม่ได้ทำได้ทุกเรื่อง เช่น งบฯลงทุนใหม่ ๆ ไม่เกิด

เมื่อถามว่าการตั้งแต่โยกย้ายข้าราชการระดับสูง ปลัดกระทรวง อาทิ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงานจะสะดุดหรือไม่ นางณัฐฏ์จารีกล่าวว่า จากการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สามารถทำได้ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามให้มีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เพราะสุดท้ายต้องไปจบที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

Advertisment

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ทุกวันนี้สามารถทำได้ทั้งหมด ยกเว้นเรื่องที่เป็นนโยบายและผูกพันรัฐบาลใหม่ เช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

“ถ้างบประมาณออกช้าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาพรวมของประเทศ เรื่องนโยบายกฎหมายใหม่ ๆ ในเรื่องเศรษฐกิจต้องรอรัฐบาลใหม่” นายปกรณ์กล่าวว่า

Advertisment

เมื่อถามว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงรัฐบาลรักษาการจะทำได้หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ทำได้ แต่ต้องขอ กกต. ประเทศจะต้องเดินไปข้างหน้า

เมื่อถามว่า ถ้า กกต.ไม่เห็นชอบใครจะเป็นผู้รักษาการปลัดกระทรวง นายปกรณ์กล่าวว่า ถ้าปลัดกระทรวงไม่อยู่ โดยระบบจะมีรองปลัดกระทรวงดูแลแทน แต่รองปลัดกระทรวงจะยังไม่มีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ จะไม่ทำงานเชิงรุก ทำงานรูทีนไปวัน ๆ

ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีหากตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า 10 เดือน ว่าการที่รัฐบาลรักษาการยาวนานออกไปจะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการจัดทำงบประมาณ และการทำงบประมาณการลงทุนที่ไม่สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นงบฯลงทุนใหม่ โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปกว่า 10 เดือนจะกระทบกับการจัดทำงบประมาณถึง 3 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2569 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะปกติการจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น

นายดนุชากล่าวว่า สศช.ได้ประเมินวงเงินที่จะลงไปในระบบเศรษฐกิจเฉพาะ 2 ไตรมาสหลังจากที่หมดปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ใช้งบประมาณไปพลางก่อนประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินจากภาครัฐ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบประจำ และงบลงทุนที่มีการผูกพันไว้แล้ว

ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทเป็นเม็ดเงินที่มาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากการจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไปก็ต้องไปดูว่าจะมีเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนได้เพิ่มหรือไม่ ส่วนเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นรายการใหม่นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะต้องมาจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

นายดนุชากล่าวว่า นอกจากจาการจัดทำงบประมาณและการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนที่ล่าช้า อีกส่วนที่จะกระทบก็คือการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ (FTA) รวมทั้งความตกลงต่าง ๆ ที่มีการเจรจาหารือกับต่างประเทศไว้แล้วต้องการการลงนามในสัญญาที่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการนั้นจะไม่สามารถขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็น ครม.รักษาการได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะกระทบการค้า การลงทุน ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้รับด้วย