ไฮไลต์ แถลงนโยบายรัฐบาล เศรษฐา นินจา-ล่องหน–เบาหวิว-หลงทิศทาง

เศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบาย

รัฐบาลเศรษฐา แถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันแรก และเป็นครั้งแรกที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ย่างกรายด้วยความสูง 192 เซนติเมตร เข้าสู่ห้องประชุมรัฐสภา

เพียงแค่ “วันแรก” เขาก็เจอ “รับน้อง” จากการอภิปรายของ “ฝ่ายค้าน” ที่รุมอัดนโยบายรัฐบาล นินจา-ล่องหน-เบาหวิว และไม่มี “จีพีเอส” จึงหลงทิศทาง

หลายนโยบายที่ไม่ได้บรรจุไว้ในนโยบายถูก “ทวงถาม” นโยบายที่ไร้รายละเอียดในคำแถลง ก็ถูกซักค้าน ต่อไปนี้คือ ไฮไลต์การอภิปรายวันแรก

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นสมาชิกคนแรกที่ขึ้นอภิปรายการแถลงนโยบายในวันนี้ โดยกล่าวถึงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยระบุว่า

คำแถลงนโยบายที่ดีต้องบอกเป้าหมายว่ารัฐบาลใน 4 ปีนี้จะเดินทางไปด้วยเส้นทางไหน ด้วยวิธีการใด และจะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ ซึ่งคำแถลงนโยบายเมื่อครู่นี้ไม่แตกต่างไปจากเอกสารที่ออกมาก่อนหน้า ไม่ได้บอกอะไร มีแต่คำพูดกว้าง ๆ ไม่มีตัวชี้วัด และมีแต่คำขยายเต็มไปหมด ถ้าบอกว่านี่คือจีพีเอส ประเทศก็คงหลงทาง ว่างเปล่า และเบาหวิว

ศิริกัญญาตัดเกรดคำแถลง “เศรษฐา” ว่า ให้อยู่ในเกรดเดียวกับรัฐบาลประยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะดีกว่า เพราะ “ยาวกว่า”

ADVERTISMENT

ที่น่าผิดหวังคือพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาตรฐานตกจากสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายชัด มีนโยบายที่หาเสียงบรรจุไว้ตรงเกือบทั้งหมด มีกรอบเวลาตั้งแต่ช่วง 1-4 ปี

การแถลงนโยบายที่ดี สิ่งแรกที่ควรจะมีคือเป้าหมายที่ชัดเจน ตัวชี้วัดที่วัดผลได้ มีกรอบเวลาชัดเจน ไม่ใช่แค่บอกว่าอยากให้ประเทศเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่มีตัวชี้วัดว่าประเทศไทยบรรลุเป้าหมายนั้นหรือยัง ไม่ใช่การเขียนแบบพูดอีกก็ถูกอีก เหมือนพูดว่า “น้ำเป็นของเหลว”

ADVERTISMENT

“คุณเศรษฐาแถลงเป้าหมายของบริษัทแสนสิริด้วยมาตรฐานการแถลงเป้าหมายของบริษัทระดับโลก มีเป้าหมาย กรอบระยะเวลา ตัวชี้วัดที่ชัดเจน แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐากลับแถลงเป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทยด้วยมาตรฐานเดียวกันกับรัฐบาลประยุทธ์ คือเลื่อนลอย ไม่ยอมสัญญาอะไรที่เป็นรูปธรรมทั้งนั้น”

1.รัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวทำไม่ได้อย่างที่สัญญา หรือมองว่าบางนโยบายไม่สามารถทำได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรหาเสียงกับประชาชนไว้แบบนั้นแต่แรก

2.การเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่นโยบายเป็นคนละขั้ว ซึ่งสุดท้ายหาข้อตกลงไม่ได้ จึงต้องเขียนให้ลอยและกว้างไว้ก่อน แถมที่มาของอำนาจต้องเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มทุน จึงไม่กล้าทำเรื่องยากที่ต้องปะทะกับใครเลย

“ถ้าพรรคการเมืองไหนที่คิดจะกลับคำ ตระบัดสัตย์ ไม่ยอมบรรจุนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการแถลงนโยบาย หรือไม่ดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลโดยปราศจาคคำอธิบายที่รับฟังได้ แบบนี้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน”

ตั้งคำถามเงินดิจิทัล

การจะมีเงินสดกองไว้เต็มจำนวน 5.6 แสนล้านบาท มีอยู่สองทางเลือกเท่านั้นคือ การใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือ 2) เงินนอกงบประมาณ ซึ่งปัญหาของการใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2567 จะไม่พออย่างแน่นอน เพราะงบประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท

มีหลายค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถตัดทอนได้ เช่น งบประมาณชำระหนี้ ดอกเบี้ย เงินคงคลัง เงินอุดหนุนท้องถิ่น สวัสดิการตามกฎหมาย เหลือใช้จ่ายได้จริง ๆ ก็แค่ราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเอามาลงในโครงการดิจิทัลวอลเลตได้ทั้งหมด

หรือหากจะใช้ดุลเงินสดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ต้องลดรายจ่ายจาก 1.2 ล้านล้านให้เหลือครึ่งหนึ่ง คุมเงินนอกงบประมาณให้สมดุล ซึ่งเงินสดก็ยังคงจะไม่พออยู่ดี จะมีการกู้ชดเชยขาดดุลล่วงหน้ามาใช้กับโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็จะเกิดค่าเสียโอกาสคือค่าดอกเบี้ย หากทำแบบนี้ก็จะสุ่มเสี่ยงว่านอกจากงบประมาณจะไม่พอแล้ว เงินสดก็จะไม่พอด้วย

ส่วนการใช้เงินนอกงบประมาณ ก็ไม่สามารถใช้ได้ ถ้าไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง หรือหากจะยืมเงินกองทุนหมุนเวียนมาใช้ ก็มีอยู่สองกองเท่านั้น คือกองทุนของผู้ประกันตน หรือข้าราชการบำนาญ ซึ่งก็ไม่สมควรที่จะทำ หรือสุดท้ายหากจะกู้ธนาคารรัฐ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีกรอบอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของรายจ่ายงบประมาณประจำปี

ซึ่งวันนี้กำลังจะถึงจุดนั้นแล้ว หากจะกู้จริงก็ต้องแก้ ม.28 ของกรอบนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งก็จะไม่สง่างามเท่าไหร่

วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ไทยเปลี่ยนไปแล้ว ระดับหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เงินเฟ้อกำลังสูงทั่วโลก ส่งออกก็ไม่รุ่ง ตลาดก็กระจุกตัวขึ้น รัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

“ขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้ดี จะเทหมดหน้าตักแล้วหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ แต่ข้อดีของการแถลงกว้าง ๆ แบบนี้ คือท่านยังมีโอกาสได้แก้ไขในการแถลงงบประมาณ เพื่อส่งมอบนโยบายอะไรบ้างใน 1 ปีข้างหน้าจากนี้”

นินจา-ล่องหน

ขณะที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปราย 10 นโยบายรัฐบาลเศรษฐา ไม่ตรงปก เป็นนโยบาย “นินจา-ล่องหน”

อาทิ นโยบายแรก เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ตอนหาเสียงอึกทึกครึกโครม สร้างความหวังให้เด็กที่กำลังจะเรียนจบ วันนี้นโยบายนี้หายไปไหนเสียแล้ว กลายเป็นนโยบายนินจาเพราะหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ตอนหาเสียงหลายฝ่ายท้วงว่าหากขึ้นค่าแรงทันที 600 บาทต่อวัน น่าเป็นห่วงเอกชน และเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะรับต้นทุนที่สูงขึ้นกะทันหัน สุดท้ายหากต้นทุนสูงขึ้นต้องไปผลักภาระให้สินค้า ผลิตผล กรรมตกไปอยู่กับประชาชน ในที่สุดเอสเอ็มอีเจ๊ง ผู้บริโภคก็เจ๊ง

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขีดเส้นใต้ว่า ทำทันที ล่องหนไปอีกนโยบาย นักข่าวทนไม่ไหวตามไปสัมภาษณ์นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ท่านอึกอักบอกว่า อีกสองปีจะทำ ไม่เป็นไร อย่างน้อยท่านก็ผิดคำพูดไปอีกหนึ่งคำ แต่อย่าผิดคำพูดที่สองต่อไป ท่านต้องทำเกิดขึ้นให้ได้ คำถามคือ เอาเงินที่ไหนมาทำ จะต้องเอาเงินประเทศไปชดเชยให้บริษัทเอกชนหรือไม่ อย่างไร นี่คือสิ่งที่รัฐบาลและนายกฯต้องตอบ

เติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ทุกเดือน แต่ให้นักวิชาการดูคร่าว ๆ ว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน มีเกือบ 20 ล้านครอบครัว หากจะทำนโยบายนี้ต้องเติมเงินหลักแสนล้าน จะนำเงินมาจากไหน หรือสุดท้ายกลายเป็นนโยบายล่องหน

แค่ลมปากตอนหาเสียง เพราะท่านไม่เขียนในนโยบายที่แถลง ตนต้องพูดเพราะมีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารแทนประชาชน และต้องพูดให้รัฐบาลได้ตระหนักว่า หาเสียงได้แต่ต้องมีความรับผิดชอบ

“อย่าให้เหมือนตอนไล่หนูตีงูเห่า สุดท้ายทั้งหนูทั้งงูเห่าอยู่ด้วยกัน แล้วก็กลายเป็นแค่เทคนิคการหาเสียง หรือแค่นโยบายการละคร สิ่งนี้ประชาชนไม่ต้องการเห็น ต้องการยกระดับมาตรฐานการหาเสียงของพรรคการเมืองให้สูงกว่านี้ พูดแล้วต้องทำอย่างที่ประชาชนคาดหวัง”

ทวงรัฐบาลสานต่อ “บัตรคนจน”

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในนโยบายรัฐบาลไม่มีการพูดถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาท และบัตรประชารัฐ 700 บาท ขณะนี้ชาวบ้านจำนวนมากสอบถาม สส.มาว่า 2 โครงการนี้ยังมีอยู่หรือไม่ อยากได้ความชัดเจน

อยากให้นายกฯพิจารณาทบทวนให้ 2 โครงการนี้ยังอยู่ เพราะบัตร 2 ใบนี้คือชีวิต มีคุณค่าต่อประชาชนชนบท ทุกคนรอคอย อย่างน้อยถ้าไม่เพิ่มเงินก็ขอให้คงอยู่ ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทนั้น ขอให้พิจารณาปรับเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้ให้เหมาะสม

นายกฯ เคยใช้ “บัตรทอง 30 บาท” ไหม ?

ขณะที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายนโยบายด้านสาธารณสุข ตั้งคำถามถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคว่า จากที่ฟังนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับสาธารณสุขทั้งหมด นโยบายที่ละเอียดที่สุดคือการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค สรุปแล้วประชาชนต้องกลับไปจ่าย 30 บาทหรือไม่ เพราะปัจจุบันเป็นหลักประกันว่าประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะรักษาได้ทุกโรค ทุกที่อยู่แล้ว

ตนจับประเด็นได้ว่านายกรัฐมนตรีได้พูดออกมาทั้งหมด 6 ประกอบด้วย

1.บริการพื้นฐานใกล้บ้าน ท่านบอกว่าจะให้ผู้ป่วยพบแพทย์ตรวจเลือด รับยาได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกล แต่จากช่วงหาเสียง ตนเคยไปดีเบตเจอกับคนของพรรคเพื่อไทยหลายคน บอกว่าจะมีนโยบายเรื่องการนัดคิวกับหมอออนไลน์ ตนไม่แน่ใจว่าทำไมจึงหายไปจากคำแถลง

2.การลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะลดอย่างไร

3.การสร้างเสริมและป้องกันที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะเน้นในเรื่องของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งวัคซีนตัวนี้มีฉีดอยู่แล้วในประเทศไทย แต่ปัญหาคือมีแบบกะปริบกะปรอย บางปีมี บางปีไม่มี ฉะนั้น เราอยากได้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้วัคซีนตัวนี้มีได้ทุกปีหรือไม่

4.สถานชีวาภิบาลประจำท้องถิ่น ดูแลผู้ป่วย ระยะสุดท้าย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เราอยากให้มีทุกอำเภอ 1 อำเภอ 1 สถานชีวาภิบาล แต่ของรัฐบาลระบุว่าประจำท้องถิ่น ไม่ทราบว่าระดับไหน ประจำตำบล หรือจังหวัด

5.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรค รักษาทุกที่ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว จึงไม่แน่ใจว่า นายกรัฐมนตรีเคยไปใช้บัตรทองหรือไม่

และ 6.ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อบนฐานข้อมูลที่ปลอดภัย ปัญหาคือเราไม่แน่ใจว่าการเชื่อมฐานข้อมูลของท่าน ท่านจะรวมศูนย์หรือจะกระจายออก เพราะหากรวมศูนย์และถูกโจมตีเหมือนรัฐบาลที่แล้ว ที่มีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจากแอปพลิเคชั่นการแพทย์สาธารณะ จึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีความอ่อนไหวกับเรื่องนี้แค่ไหน และจะป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะรวมข้อมูลของคนทั้งประเทศอย่างไร