
1 เดือนกว่าของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นอกจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ที่เป็นแคมเปญเรือธงตอนหาเสียงเลือกตั้ง กลับกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” กลบผลงานในรอบ 1 เดือน ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
และยังตกอยู่ในวังวนที่เกี่ยวข้องกับปมร้อนของกองทัพถึง 2 เรื่องซ้อน ๆ กัน
ปมแรก กับปมร้อนที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ต้องเจอกับแรงเสียดทาน จากปมไม่ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
“ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจ และไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้แม้แต่น้อย” เศรษฐา ในฐานะ ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของ กอ.รมน. เมื่อ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา
และยังทวีตข้อความลงใน X ว่า “ไม่ได้เอาใจทหารครับ เอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมก็พูดไปแล้ว ว่าการทำงานของหน่วยงานนี้จะต้องเน้นเรื่องการพัฒนา ไม่ใช่แค่ป้องกันอย่างเดียวตามที่ได้เสนอข่าวไป”
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังพรรคก้าวไกล เปิดแคมเปญเชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน.
ด้าน “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม กล่าวถึงพรรคก้าวไกลว่า “คนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ แต่การจะยุบต้องประเมินปัจจัยหลาย ๆ อย่าง บางเรื่องพูดได้ แต่บางเรื่องก็เปิดเผยข้อมูลไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ทุกอย่าง แต่เมื่อมาเป็นแล้วก็ต้องมาดูความเป็นไปได้อีกทีว่าทํายากแค่ไหน”
ตามท้องเรื่อง กอ.รมน.ยุคปัจจุบัน ที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 51/2560 อัพเกรด กอ.รมน.ให้เป็นเสมือน “รัฐซ้อนรัฐ” เพราะในคำสั่งข้อ 1 ที่ไปแก้นิยาม “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยให้ใช้ถ้อยคำว่า
“การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัย หรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ รวมถึงในกรณีที่เกิด หรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กลับสู่ภาวะปกติ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ”
“สถานการณ์ใดที่เป็นภัย” จึงถูกตีความได้ครอบจักรวาล ในยุคพรรคเพื่อไทย เป็น “ฝ่ายค้าน” คู่ปรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพบเจอกับอิทธิฤทธิ์ของ กอ.รมน. เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การเสวนาแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อ 3 ตุลาคม 2562 ถูก “พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ” ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการจำนวน 12 คน
ในความผิดตามมาตรา 116 เนื่องจากจัดเวทีเสวนา ? “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ? ในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยมีเนื้อหายุยง ปลุกปั่น เมื่อ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ? 7 ฝ่ายค้าน เพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ เพื่อชาติ เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย เศรษฐกิจใหม่ ประชุมสุมหัวกันทันที
ก่อนจะยกองคาพยพฝ่ายค้าน 7 พรรค นำโดยพรรคเพื่อไทย ไปแจ้งความไว้ที่กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 เพื่อเอาผิด พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน. ภาค 4 และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่กองบังคับการปราบปราม ในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานอันอาจทำให้ประชาชนหรือผู้อื่นเสียหาย
ครั้น 4 ปีให้หลัง เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่ด้วยสถานการณ์และบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป จึงไม่ยุบ กอ.รมน.
อีกปมหนึ่งคือ “เรือดำน้ำ” ที่กองทัพเรือของไทยทำ MOU ซื้อเรือดำน้ำกับจีน ซึ่งครั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน เคยทักท้วงอย่างหนัก ดังนั้น เมื่ออำนาจกลับกลาย เพื่อไทยเป็นรัฐบาล จึงต้องเปลี่ยนจากเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต
ซึ่ง “สุทิน” รอดูจังหวะ-ท่าทีของ “จีน” ก่อนจะไปพบผู้นำกองทัพจีน ระหว่างการเดินทางไปร่วมงาน Defense & Security 2023 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ วันที่ 6-9 พฤศจิกายน
แต่แฟ้มการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ก็ยังไม่ปิดตาย ยังมีอีกหลายตลบให้จับตา เมื่อ “สุทิน” กล่าวว่าเรือดำน้ำยังไม่จม
“คำว่าจมคือการปิดโอกาส 100% วันนี้ถ้าสมมติจีนไปเอาเครื่องยนต์จากเยอรมนี หรือเยอรมนีเปลี่ยนใจขายให้ เราก็กลับไปใช้ช่องทางเดิม ตัวเลือกเดิมได้”
แต่ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยเดิมเกมผิด โอกาสตกเป็นฝ่ายถูกขย้ำจากฝ่ายตรงข้ามมีสูง