อัพเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2567 เวลา 15.33 น.
เปิดร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ฉบับใหม่ นายกฯ คุมบอร์ดนโยบาย ใบอนุญาตให้นานสุด 30 ปี ประเมินทุก 5 ปี ต่ออายุ 10 ปี จ่ายครั้งแรก 5 พันล้าน รายปีอีก 1 พันล้าน คุมเข้มเด็กต่ำกว่า 20 ปีห้ามเข้าใช้บริการ ไม่ปิดกั้นคนไทยแต่ต้องลงทะเบียน-เสียค่าธรรมเนียมค่าเข้า 5,000 บาท ห้ามเชื่อมต่อการเข้าเล่นผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกับบุคคลภายนอก
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลถึงการเดินหน้าโครงการสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ว่า ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบรายงาน “รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ” ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานกรรมาธิการ ด้วยเสียง 253 ต่อ 0 เสียง เมื่อ 28 มีนาคม 2567
ต่อมา 8 เมษายน 2567 รายงานผลการศึกษาดังกล่าวได้นำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้รับการเห็นชอบ พร้อมกับมอบหมายกระทรวงการคลัง รับศึกษาความเป็นไปได้รายละเอียดของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือกาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย ให้นำมาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
จากนั้นวันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ให้กระทรวงการคลัง โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เร่งรัดการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ยกร่างร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ….เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จากนั้นจะจัดทำรายงานสรุปผลรับฟังความคิดเห็นเพื่อมาประกบในร่างกฎหมาย ก่อนกระทรวงการคลังจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ต่อไป
เปิดความหมาย “กาสิโน”
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวมีอยู่ทั้งสิ้น 65 มาตรา แบ่งออกเป็น 9 หมวด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร 2.คณะกรรมการบริหาร 3.สํานักงานกํากับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร 4.เลขาธิการ 5.พนักงานเจ้าหน้าที่ 6.การอนุญาตให้ประกอบสถานบันเทิงครบวงจร 7.การควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร 8.บทกำหนดโทษ และ 9.บทเฉพาะกาล
ส่วนสาระสำคัญตามมาตราอื่น ๆ มีดังนี้ มาตรา 3 ได้กำหนดความหมายของ “สถานบันเทิงครบวงจร” หมายความว่า การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้หลายประเภทรวมกัน ร่วมกับกาสิโน
“กาสิโน” หมายความว่า การจัดให้มีการเข้าเล่นหรือการเข้าพนันในสถานที่ที่กำหนดเป็นการเฉพาะ
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
“ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการบริหารงานของผู้รับใบอนุญาต ไม่ว่าโดยพฤติการณ์หรือโดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารของผู้รับใบอนุญาต
“บริษัทในกลุ่ม” หมายความว่า (1) นิติบุคคลที่ผู้รับใบอนุญาตถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออก
เสียงทั้งหมดของนิติบุคคล (2) นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นทั้งในนิติบุคคลนั้นและในนิติบุคคลที่เป็นผู้รับใบอนุญาต ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลและนิติบุคคลที่เป็นผู้รับใบอนุญาต
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งสำนักงานแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
นายกฯ คุมบอร์ดนโยบาย
ขณะที่การควบคุมและกำกับนโยบายจะมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยบัญญัติในมาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการนโยบาย” ประกอบด้วย
1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
2.รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
3.กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 9 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
4.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินหกคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย หรือสังคม ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ขณะที่มาตรา 8 ระบุ วาระของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ 4 ปี
อำนาจของบอร์ดชุดใหญ่
มาตรา 11 กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ 21 ข้อ
1.กำหนดนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร
2.กำหนดนโยบายการบริหารจัดการสถานบันเทิงครบวงจร
3.กำหนดนโยบายป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานบันเทิงครบวงจร
4.เสนอแนะแนวทางการกำหนดจำนวนใบอนุญาต และพื้นที่ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
5.เสนอแนะอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องกับกาสิโนต่อคณะรัฐมนตรี
6.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การให้ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียม โดยจะกำหนดเป็นอัตราเดียวหรือหลายอัตราตามปีที่ได้รับใบอนุญาตก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
7.กำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ ประเภท ลักษณะ และรายละเอียดของธุรกิจสถานบันเทิงที่อาจดำเนินการได้ในสถานบันเทิงครบวงจรตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
8.กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร
9.กำหนดวันเวลาเปิดปิดและสถานที่ตั้งของสถานบริการ เวลาและสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเขตสูบบุหรี่ในเขตสถานบันเทิงครบวงจร
10.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
11.กำหนดวิธีการลงทะเบียนและอัตราค่าธรรมเนียมของผู้มีสัญชาติไทยที่จะเข้าสถานประกอบการกาสิโน แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
12.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าเล่น หรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโน
13.กำหนดลักษณะของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการกาสิโน
14.กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภท คุณสมบัติ มาตรฐาน ความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของพนักงานในสถานบันเทิงครบวงจร
15.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น โครงสร้างองค์กร หรือการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของผู้รับใบอนุญาต
16.พิจารณาให้ ต่ออายุ หรือเพิกถอนใบอนุญาต
17.พิจารณาการโอนสิทธิตามใบอนุญาตให้บุคคลอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
18.แต่งตั้งเลขาธิการ หรือให้เลขาธิการออก โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
19.กำกับการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร
20.ออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
21.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี
บอร์ดบริหาร
ขณะเดียวกัน ให้มีบอร์ดบริหารขึ้นมาบริหารบัญญัติใน มาตรา 15 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบริหาร” ประกอบด้วย
1.บุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นประธานกรรมการ
2.กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 11 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย หรือสังคม ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการ
มาตรา 17 กำหนดหน้าที่และอำนาจบอร์ดบริหาร 16 ข้อ
1.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เกี่ยวกับกาสิโน
2.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบแทนใบอนุญาต
3.พิจารณาอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบาย
4.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
5.พิจารณาอุทธรณ์เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร
6.กำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นของเลขาธิการ พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงาน
7.คัดเลือกหรือประเมินความรู้ความสามารถของเลขาธิการ เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือน หรือเสนอความเห็นให้เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพิจารณา
8.แต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน รวมทั้งกำหนดจำนวน อัตราค่าตอบแทน และระยะเวลาการปฏิบัติงานของตำแหน่งดังกล่าว
9.กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการมอบอำนาจของเลขาธิการ
10.กำหนดข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การพัสดุ การตรวจสอบภายใน การสงเคราะห์ และสวัสดิการต่าง ๆ ของสำนักงาน
11กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้เงิน ทุน หรือทรัพย์สินของสำนักงาน
12.พิจารณาคำอุทธรณ์หรือคำร้องทุกข์ และดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน
13.กำหนดค่าใช้จ่ายของสำนักงาน
14.รายงานการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการนโยบาย
15.ออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ
16.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบาย
ตั้งสำนักงานกำกับ
มาตรา 20 ให้มี “สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร” มีวัตถุประสงค์ในการกำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และสนับสนุนสถานบันเทิงครบวงจรให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนแต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
โดยให้มี “เลขาธิการ” ซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งโดย ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารกิจการของสํานักงาน ระบุไว้ในมาตรา 29
มาตรา 24 กำหนดเรื่อง ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงาน ประกอบด้วย
1.เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
2.เงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล
3.ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย
4.ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้อันเกิดจากการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน
5.ค่าปรับตามมาตรา 61 และมาตรา 62 (การให้บุคคลที่ห้ามใช้บริการ มาใช้บริการ)
6.ดอกผลของเงิน หรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน เงินและทรัพย์สินของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด เหลือเท่าใดให้สำนักงานนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
อนุญาตครั้งละ 30 ปี ประเมินทุก 5 ปี
มาตรา 49 ใบอนุญาตมีอายุ 30 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปีตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
ทุก 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้สำนักงานประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามรูปแบบและแผนการประกอบการสถานบันเทิงครบวงจรของผู้รับใบอนุญาต และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบาย เพื่ออาจพิจารณาทบทวนรูปแบบและแผนการประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร
ต่ออายุครั้งละ 10 ปี
เมื่อใบอนุญาตครบอายุ ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจให้การพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตได้คราวละไม่เกิน10 ปี ทั้งนี้ การขอต่ออายุใบอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตจากสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบการสูญหายหรือการถูกทำลายดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนด
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
ในบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ระบุค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังนี้
- การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 100,000 บาท
2.ใบอนุญาต แบ่งเป็น ครั้งแรก ฉบับละ 5,000 ล้านบาท รายปี 1,000 ล้านบาท
3.ใบอนุญาต (ต่ออายุ) ฉบับละ 5,000 ล้านบาท รายปี 1,000 ล้านบาท
4.ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100,000 บาท
ประเภทเครื่องเล่น
มาตรา 52 กาสิโนให้กระทำได้เฉพาะในสถานบันเทิงครบวงจร โดยผู้รับใบอนุญาตและให้มีเฉพาะประเภท ดังต่อไปนี้
1.ใช้เครื่องเล่นซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใดที่ใช้เล่น โดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ไม่ว่าจะโดยการนับแต้มหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม
2.ใช้อุปกรณ์ซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ไม่ว่าจะโดยการนับแต้มหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม
ขณะที่ มาตรา 53 ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีการเข้าเล่น หรือเข้าพนันผ่านการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้บุคคลภายนอกสถานประกอบการกาสิโนเข้าเล่นหรือเข้าพนันได้
10 กิจกรรม สถานบันเทิงครบวงจร
ทั้งนี้ ในบัญชีแนบท้ายกฎหมายระบุประเภทธุรกิจสถานบันเทิง ประกอบด้วย
1.ห้างสรรพสินค้า
2.โรงแรม
3.ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์
4.สนามกีฬา
5.ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ
6.สถานที่เล่นเกม
7.สระว่ายน้ำและสวนน้ำ
8.สวนสนุก
9.พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP
10.กิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
ห้ามเด็กต่ำกว่า 20 ปี-คนไทยต้องเสียค่าเข้า
มาตรา 55 ห้ามมิให้บุคคลดังต่อไปนี้ เข้าไปในสถานประกอบการกาสิโน
1.ผู้มีอายน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์
2.ผู้ซึ่งสำนักงานสั่งห้ามเข้าสถานประกอบการกาสิโน
3.ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียม ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
4.ผู้ที่มีลักษณะของบุคคลต้องห้ามตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ในบัญชีแนบท้ายกฎหมายระบุค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทยครั้งละ 5,000 บาท
มาตรา 62 ผู้รับใบอนุญาตที่ปล่อยปละละเลย หรือยินยอมให้บุคคลต้องห้าม เข้าไปในสถานประกอบกาสิโน ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 1 แสนบาทให้แก่สำนักงาน
ห้ามโฆษณา-จ่ายใต้โต๊ะ
มาตรา 58 ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการ เชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน หรือให้ผู้ใดดำเนินการดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนด
ให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้าง หรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดให้แก่บุคคลใด โดยผู้รับใบอนุญาตหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้รับใบอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลผู้รับค่าจ้างหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดต้องเพิ่มยอดการเข้าเล่นหรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโน ไม่ว่าการจ่ายค่าจ้างหรือผลตอบแทนจะคำนวณจากมูลค่าการเข้าเล่น หรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโนหรือไม่ก็ตาม เป็นการเชิญชวนหรือโฆษณาตามวรรคหนึ่ง
ให้ถือว่าการจัดกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการชักจูงให้บุคคลใดมีความประสงค์จะเข้าเล่น หรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโน เป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายตามวรรคหนึ่ง
ให้สินเชื่อผู้เล่น
มาตรา 59 ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด