รมว.คมนาคม ออกโรงแจงไอเดียเวนคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาล ไม่ใช่ยึด แต่เป็นการซื้อคืนแล้วจ้างเดินรถ เพื่อให้ ปชช.ได้ใช้ราคา 20 บาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นว่าการที่รัฐบาลจะไปขอเจรจาเวนคืน หรือซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหารในปัจจุบันให้กลับมาเป็นของรัฐบาล “จะไปยึดสัมปทานเอกชนคืน“ หลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ต่อประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายนั้น
นายสุริยะชี้แจงว่า มีการสื่อออกไปที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ทำนองว่ารัฐบาลมีนโยบายจะยึดสัมปทานคืนมา และการสื่อสารของนายทักษิณไม่ได้ไปในทำนองดังกล่าวเลย ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานอยู่มีปัญหา และการจะไปรังแกเอกชนจนทำให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เกิดความปั่นป่วน
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเรื่องที่นายทักษิณสื่อออกไปเป็นเรื่องที่ต้องการให้เห็นว่ารัฐบาล โดยเฉพาะประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ได้รับการบริการรถไฟ รถไฟฟ้าในราคาถูก เพื่อสอดคล้องกับนโยบาย โดยการดำเนินการกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม จะทำงานร่วมกัน ซึ่งจะมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อไปเจรจากับทุกบริษัทในการซื้อสัมปทานคืน และศึกษาในเรื่องข้อกฎหมาย
โดยสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีส้ม สีเหลือง สีชมพู ยังเหลือ 25-30 ปี ยกเว้นสายสีเหลือง
ที่จะเหลือ 5 ปี ฉะนั้น ตรงนี้เมื่อรัฐบาลซื้อกลับคืนมาก็จะจ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งเอกชนก็จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเดินรถ ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้ใช้รถไฟฟ้าในราคา 20 บาท
“ขอยืนยันว่าข่าวที่ออกไปว่าจะยึดสัมปทานคืนจากเอกชน มันไม่มี และถ้ารัฐบาลไปทำแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้ามาลงทุน“
นายสุริยะยืนยันว่า การไปซื้อสัมปทานคืนจากเอกชนนี้ จะอยู่ในราคาที่เป็นธรรม และรัฐจะสามารถกำหนดราคา 20 บาทตลอดสายได้
ส่วนการจ้างเอกชนเดินรถ หลังรัฐซื้อคืนสัมปทานมานั้น รมว.คมนาคมย้ำว่าจะเป็นการจ้างคู่สัญญาเดิม รวมถึงสัญญาของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่หมดในปี 2572 ซึ่งก็ต้องเข้าสู่กระบวนการประมูล
ขณะที่การตั้งราคาเพื่อไปขอซื้อสัมปทานคือจากเอกชนนั้น นายสุริยะระบุว่า ประเด็นดังกล่าวมีกระบวนการสามารถตอบกับสาธารณะชนได้อยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่าจะไม่ให้เอกชนเอาเปรียบรัฐบาล ซึ่งจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“นโยบายตอนนี้เราต้องการให้ประชาชนได้ราคาค่าโดยสารที่ถูก ขณะเดียวกัน ไม่ต้องการทำให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานเดิมได้รับความเดือดร้อน เพราะเรายังเคารพในสัญญาเดิมอยู่“