จากเขาพระวิหาร ถึง เกาะกูด นพดล : อย่าจุดความเท็จล้มรัฐบาล

นพดล ปัทมะ
นพดล ปัทมะ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ประเด็นบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนของไหล่ทวีป (MOU 44) กลายเป็นประเด็นร้อนการเมือง เรื่องเสียดินแดน

ภาพดังกล่าวเหมือนย้อนอดีตไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ภายหลังกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ฝ่ายไทยจึงต้องทำคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อให้ฝ่ายกัมพูชาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัว “ปราสาท” ไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน

แต่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อน ขึ้นถึงศาลรัฐธรรมนูญ จน “นพดล ปัทมะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้อง “ลาออกจากตำแหน่ง” คดีเขาพระวิหารต้องขึ้นสู่ศาลโลก

ขณะที่ “นพดล” ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สู้คดี ข้อหามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่สุดท้าย “ศาลยกฟ้อง”

16 ปีให้หลัง “นพดล” มีสถานะเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ของสภาผู้แทนราษฎร

เขาย้อนความหลัง-ความเหมือน ความต่าง จากกรณีเขาพระวิหาร ถึง MOU 44 เกาะกูด

Advertisment

ย้อนอดีตพระวิหาร

นพดลอธิบายความคล้ายกันระหว่างคดีเขาพระวิหาร กับ MOU 44 คือ ความพยายามที่จะนำประเด็นเรื่องดินแดน ความเป็นชาตินิยมมาเคลื่อนไหว ถามว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองไหม…น่าจะมี เพราะช่วงที่พวกเขาเป็นรัฐบาล (รัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลเพื่อไทย) ก็ใช้ MOU 44 ในการเจรจากับกัมพูชาในเรื่องนี้ และทุกรัฐบาลก็ใช้ฉบับนี้เหมือนกัน

แล้วทำไมเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล กลายเป็นว่า MOU 44 ที่ตัวเองเคยใช้กลับมีผลเสีย คิดว่ามีพิรุธในการให้เหตุผลค่อนข้างเยอะ และประเด็นเรื่องเขตแดนจุดกระแสง่ายเพื่อกระทบรัฐบาล

Advertisment

แต่ความต่างของเรื่องนี้คือ มันจะใช้ล้มรัฐบาลไม่ได้ผล เพราะตัวเองก็ใช้เอกสารเดียวกัน คือ MOU 44 และคนรู้ว่าการจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหารเมื่อ 16 ปีก่อน ก่อให้เกิดผลเสียหายกับประเทศ ทำให้เกิดความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดน มีการรบกัน มีทหารเสียชีวิต

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างไทยกับกัมพูชา ขณะนั้นก็เสื่อมทรามลง จะเจรจาสร้างความสัมพันธ์แทบไม่มีบรรยากาศทำได้ และทำให้กัมพูชายื่นให้ศาลโลกตีความเรื่องคำตัดสินตอนปี 2505 ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง”

คนไทยรู้ทันแล้ว

นพดลกล่าวว่า ที่ไทยเสียแน่ ๆ คือค่าทนายนับร้อย ๆ ล้านบาท และเสียเวลา เสียทรัพยากรในการสู้คดี และผลคำวินิจฉัยที่ออกมา 11 พฤศจิกายน 2556 (ศาลโลกพิพากษาให้กัมพูชาเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหาร) คือผลกระทบตามมา

แต่ท้ายที่สุด การกล่าวหาว่ารัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ขายชาติ และนพดลทำให้เสียดินแดน บิดเบือนแม้กระทั่งว่านพดลยกตัวปราสาทให้กัมพูชา ทั้งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกให้

“สิ่งที่นพดลทำเป็นการปกป้องดินแดน ตัดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรออก ไม่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียน”

“เขาเอาศาลพระภูมิบวกสนามหญ้า เราก็ไปตัดสนามหญ้าออก ให้เขาขึ้นเฉพาะตัวศาลพระภูมิตามคำตัดสินของศาล นี่คือที่เราทำ แต่ถูกกล่าวหาว่าทำให้เสียดินแดน” นพดลเปรียบเทียบ

นพดลกล่าวว่า แม้ต่อมา ป.ป.ช.ฟ้องไปที่ศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง นอกจากนั้น ในคำพิพากษายังระบุว่า

“เป็นสิ่งที่พึงกระทํา และแสดงให้เห็นเจตนาของจําเลย ว่าได้คํานึงถึงผลประโยชน์และระมัดระวังรักษาสิทธิในดินแดนของประเทศไทยเป็นอย่างดีแล้ว” คำพิพากษาศาลฎีกา หน้า 31 ระบุ

ดังนั้น ประเด็น MOU 44 เกาะกูด จะไม่บรรลุผล เพราะคนไทยรู้ทัน ทั้งพวกชนชั้นกลางที่มีการศึกษา รวมถึงชาวบ้าน คนเข้าใจเรื่องสถานการณ์

เขายืนยันว่า ผลงานของเขาควรจะได้เครดิตมากกว่า เพราะมองย้อนกลับไป 16 ปีที่แล้ว เป็นการเจรจาทางการทูตที่มีชั้นเชิง ประสบความสำเร็จ และเป็นตำนาน

โคตรชัด เกาะกูดของไทย

“นพดล” กล่าวว่า ส่วนเรื่อง MOU 44 เกาะกูดเป็นของใคร โคตรชัดเจนเลย ไม่มีประเด็น เพราะสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุว่า เกาะกูดเป็นของไทย

และขณะเดียวกันเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ตราด และกัมพูชาไม่เคยอ้างสิทธิ เมื่อกัมพูชาไม่เคยอ้างสิทธิ แล้วคุณก็บอกว่าจะเสียเกาะกูด

เกาะกูดไม่เกี่ยวกับ MOU 44 แต่มีประเด็นที่พยายามจะพูดว่าไปยอมให้เขาลากเส้นผ่านเกาะกูด อันนี้เท่ากับยอมรับว่าเสียเกาะกูดใช่ไหม.. คำตอบคือไม่ใช่ ไทยไม่ได้ยอมรับการประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียว และกัมพูชาก็ไม่ได้เอาเกาะกูด กัมพูชาไม่เคยอ้างสิทธิ เขาลากเส้นเว้นเป็นขนมครกไว้

และข้อกล่าวหาที่กัมพูชาประกาศเส้นแบบนี้ เขากลัวว่าเดี๋ยวประเทศไทยจะเพลี่ยงพล้ำ ถ้าหากมีข้อพิพาทเท่ากับจะถูกตีความว่ายอมรับเส้นของกัมพูชา

ข้อเท็จจริงคือ ไทยไม่เคยยอมรับเส้นเขตแดนที่กัมพูชาประกาศ และการประกาศเช่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ

ถ้ายอมรับจะมาเจรจาเพื่ออะไร แสดงว่าไม่ยอมรับ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ พูดชัดเจนว่าเราไม่เคยยอมรับการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา 2515

ที่บอกไปขนาดว่าเกาะกูดแม้เป็นของไทยจริง แต่น่านน้ำ 12 ไมล์ทะเล กัมพูชาไม่ได้เว้นให้ ก็กัมพูชาต้องเว้นให้ โดยเจรจากัน เพราะการลากเส้นของกัมพูชาไม่ถูกกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ถ้ามิชอบ เราจะนั่งอยู่ส่งโทรจิตหากัน หรือเจอหน้าคุยกัน ถึงเป็นที่มาของ MOU 44

“คุณจะไปตีความให้เป็นโทษกับประเทศทำไม ในเมื่อท่าทีของประเทศไทยจะต้องไม่ยอมรับ และไม่เคยยอมรับเส้นของกัมพูชา”

MOU 44 รักษาสมดุลเจรจา

นพดลย้ำว่า การเจรจาเรื่องนี้ตาม MOU 44 จะต้องผูกติดกันไป คือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการแบ่งเขตทางทะเล ส่วนพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการพัฒนาร่วมกัน

ใน MOU 44 กำหนดให้ ก. กับ ข.ผูกติดกันเป็นปาท่องโก๋ ห้ามไปเจรจา ค. แล้ว ก.ไว้ทีหลัง การที่จะไปตกลงเรื่องของพัฒนาร่วมก่อน โดยเฉพาะแหล่งพลังงานมันจะไม่เกิดขึ้น และรัฐบาลจะไม่สามารถเบี่ยงประเด็นจาก MOU 44 ไปได้

และความงดงามของ MOU 44 คือ กัมพูชาพยายามเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลก่อน โดยสนใจน้อยเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล แต่ MOU 44 เราไปเจรจาจนรักษาสมดุลของ 2 ประเด็นนี้ เป็นการวางกรอบที่ให้กัมพูชาจะต้องเจรจาทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน

ถ้าไปยกเลิก MOU 44 กัมพูชาอาจไม่เจรจา แล้วใครเสียประโยชน์ แม้ยกเลิก MOU 44 ที่ต่างฝ่ายต่างเคลมเรื่องเส้นเขตแดนก็จะยังเหมือนเดิม และพื้นที่ทับซ้อนจะ 26,000 ตารางกิโลเมตรเหมือนเดิม โดยไม่รู้ว่าจะเจรจากันอย่างไรต่อไป

และทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่สามารถไปพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนได้ ขุดเจาะไม่ได้ เข้าไปพื้นที่ที่อ้างสิทธิไม่ได้ตามกฎหมายทางทะเล ก็ไม่มีใครได้ประโยชน์

“ในแผนที่ก็มีทั้งเส้นไทยและเส้นกัมพูชา ทำไมไม่ตีความว่ากัมพูชายอมรับเส้นไทยบ้างล่ะ ดังนั้น MOU 44 เป็นพื้นฐานในการพูดคุย ไม่ใช่การยอมรับ”

“การทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล ต้องกระทำจากความผิดพลาด ไม่ใช่จุดประเด็นจากความเท็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องสำนึกถึงความเสียหาย และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งความมั่นคง ความสัมพันธ์ งบประมาณ เวลา และอื่น ๆ โดยมีบทเรียนให้เห็นจากกรณีคดีเขาพระวิหารมาแล้ว”

“บ้านเมืองอยู่ได้ด้วยความจริง ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยความเท็จ” นพดลทิ้งท้าย