แกนนำพรรคตัวแปร ขายนโยบายเศรษฐกิจถ้าได้เป็นรัฐบาล

“สุวัจน์” ชู บุมอีสานเชื่อมอินโดจีน-ทะเล “กรณ์” ชู สร้างคน – สร้างชาติ กระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าฯ พปชร. “กิตติรัตน์” เชื่อ นักลงทุนแห่ลงทุน เมื่อมี ปชต. ด้าน “อนุทิน” ลบ “ดุลพินิจ” แก้อุปสรรคลงทุน
ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาตลาดทุนไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยภายใต้รัฐบาลหลังเลือกตั้ง” โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมงานสัมมนา อาทิ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายกรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายสุวัจน์ ลิปตภัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา

สุวัจน์ บูมอีสานเชื่อมอินโดจีน

ทั้งนี้ นายสุวัจน์ กล่าวว่า มองว่าอนาคตควรยึดการเกษตรกับการท่องเที่ยวเป็นเรื่องเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้น จะต้อง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง ภูเก็ตลดภาษีการจอดเรือยอร์ช ทำให้มีท่าเรือยอร์ชหลายแห่งนำมาสู่แหล่งรายได้ ขณะที่ฝั่งอ่าวไทยอย่าง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไม่มีท่าเรือยอร์ชแม้แต่แห่งเดียวทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้าทำได้จะมีเรือยอร์ชจากทั่วโลกมาจอด และนำวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายให้จังหวัดท่องเที่ยว ส่วนให้ความสำคัญของโซนนิ่งการเกษตร ให้มหาวิทยาลัยมาวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร จะทำให้เกษตรเป็นกระดูกสันหลังอย่างแท้จริง

“นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้อีสานหลุดพ้นจากความยากจน เพราะภาคอีสานเป็นภาคที่ยากจนที่สุด ถ้าชนะทั้งเลือกตั้งอีสานได้ถือว่าชนะทั้งประเทศ ที่สำคัญพื้นที่ภาคอีสานเป็นภาคเดียวที่มีความเป็น International เพราะเชื่อมกับแม่น้ำโขงและอินโดจีน ดังนั้นจะต้องเชื่อมโยงสู่อินโดจีนให้มากขึ้น เป็นการบูมอีสาน พร้อมทั้งสร้างมอเตอร์เวย์จากอีสานออกสู่ทะเล เชื่อมกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ถ้าทำได้จะแก้ไขความยากจนทั้งประเทศ เพราะความยากจนที่สุดสู่อีสาน“ นายสุวัจน์ กล่าว

ปชป.ประกันรายได้ 1.2 แสนต่อปี

ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มี 3 นโยบายที่จะขับเคลื่อนใน 4 ปี ถ้าหากได้เป็นรัฐบาล คือ ภารกิจแก้จน การสร้างคน และสร้างชาติ ซึ่งการแก้จน พรรคเสนอให้มีการประกันรายได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวเคยใช้มาแล้วกับภาคการเกษตรช่วงที่เป็นรัฐบาล และพิสูจน์มาแล้วว่าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จะขยายประกันรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงานด้วย โดยไม่ผลักภาระค่าแรงไปที่นายจ้างเพียงอย่างเดียว จึงนำแนวคิดประกันรายได้มาใช้กับผู้ใช้แรงงาน ขีดเส้นรายได้ที่ 120,000 หมื่นบาทต่อปี ใครที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ รัฐจะจ่ายส่วนต่างให้ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้มีโฉนดสีฟ้า และขยายพื้นที่ชลประทานให้ทั่วถึง

“ส่วนการสร้างคน ทำให้เข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐานที่ดีอย่างทั่วถึง เริ่มต้นตั้งแต่เด็กแรกเกิด เกิดปั๊บรับสิทธิเงินแสน ซึ่งการลงทุน 2-3 ปี แรกคุ้มค่าต่อการลงทุน เพิ่มทักษะให้กับเด็กไทย ให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ สร้างชาติจะมีการกระจายอำนาจด้านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระจายอำนาจออกจากกระทรวงศึกษาธิการ กระจายความเจริญออกจาก กทม. 10 มหานคร” นายกรณ์ กล่าว

พปชร.กระจายความเจริญสู่ชนบท

นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับพรรคพลังประชารัฐ มีพันธกิจหลัก 3 พันธกิจ คือ 1.สวัสดิการประชารัฐ ไม่ใช่การแจกแต่เป็นการที่จะทำให้คนไทยมีในสิ่งที่ควรจะมี โอกาสที่ควรจะมี เป็นการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เช่น สาธารณสุข การศึกษา ให้คนไทยมีสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน มีความมั่นคงด้านรายได้ เป็นหลักประกันในชีวิตให้คนไทย ถ้ามุ่งแต่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้วจะดีเอง ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว
นายอุตตม กล่าวว่า 2.เศรษฐกิจประชารัฐ สร้างประเทศก้าวหน้าต่อไปอย่างสมดุล ในภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องมีเทคโนโลยีดิจิทัลเขามาในภาคการเกษตร ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีเข้าถึงคนไทยอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้การเกษตรปรับโฉมได้ไปสู่การเกษตรที่เพิ่มมูลค่าและยั่งยืน การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งต่างกับการกระจายอำนาจ เพราะถ้ากระจายอำนาจให้อำนาจไปความเจริญก็ไม่เกิด ดังนั้น ต้องนำเศรษฐกิจเข้าสู่ชุมชน ขยาย 30 เมืองน่าอยู่ นอกจากมีโครงการ EEC จะมี SEC ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เชื่อมโยงสู่เพื่อนบ้านกระจายความเจริญที่มีแผนและเป้าหมาย 3.สังคมประชารัฐ สร้างคนไทยให้พร้อมศตวรรษที่ 21 บทบาทตลาดทุนมีส่วนในการเตรียมคนไทย ตลาดทุนต้องฝังอยู่ในการศึกษาตั้งแต่มัธยมเป็นอย่างน้อย ชี้ให้เห็นหนี้นอกระบบ แชร์เถื่อน การลงทุนมีหนทางมีโอกาสอย่างไร

พท.ยกเครื่องท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ ปชช.

ขณะที่นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หากเปรียบประเทศไทยเหมือนรถยนต์ 4 ล้อ ล้อแรกให้เป็นการส่งออกและการท่องเที่ยวของต่างประเทศ เพราะได้รับเงินตราต่างประเทศเข้ามา ซึ่งการท่องเที่ยวมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีถึงร้อยละ 15 แต่กลับดูแล้วดูแลเพียงครึ่งกระทรวง การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว กลับมีแค่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาทำหน้าที่ ไม่สามารถทำให้ครบวงจรได้ ถ้ามีการการปรับปรุงการท่องเที่ยว ให้ล้ออันแรกทำงานได้ ถ้าทำดีๆ จะมีรายได้จากคนที่ยอมเดินทางมามากขึ้น

“ล้อที่ 2 คือการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงกลับมาสู่ประชาธิปไตยช่วยให้นักลงทุนมั่นใจ จะนำไปสู่การเจรจา FTA เกิดการลดกำแพงภาษี นักลงทุนจะลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง ปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อรับลูกค้า การลงทุนก็จะไปได้ ล้อที่ 3 การอุปโภคบริโภค ถ้าคนมีรายได้มากก็นำไปจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็หมุนเวียนได้ ต้องหยุดภูมิใจกับการมีค่าจ้างถูก เพราะทำให้ประชาชนไม่มีกำลังบริโภคของที่มีคุณภาพ นักธุรกิจไม่กลัวค่าแรงแพง แต่กลัวไม่คุ้ม ดังนั้น ถ้าทำให้แรงงานมีรายได้ดีขึ้นก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น เชื่อว่าจะไม่มีเรื่องตกงาน เพราะคนที่ต้องการจ้างคนก็มีอยู่ ล้อตัวที่ 4 การใช้จ่ายภาครัฐ ดูระดับความสำคัญอะไรที่ไม่ควรก็ไม่ควรเอาเงินหลวงไปทำอย่างนั้น และอย่าภูมิใจกับรายได้ที่เยอะ ต้องเก็บรายได้ให้พอดี” นายกิตติรัตน์ กล่าว

ภท.ยกเลิก “ดุลพินิจ”

ส่วนนายอนุทิน กล่าวว่า ไม่พูดถึงเรื่องการเมือง แต่มุ่งเน้นเรื่องปากท้องประชาชน คนที่เป็นผู้ประกอบการก็มีปัญหาปากท้องจะไปขอทำอะไรก็ยังติดกฎระเบียบ ดังนั้นต้องทำให้คำว่า “ดุลพินิจ” หมดไปจากประเทศไทย แล้วใช้วิธีเช็คลิสต์เข้ามาแทน เช่น บริษัทที่จะเข้าระดมทุนในคลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลังทรัพย์ (กลต.)แทบจะไม่มีดุลพินิจ ถ้ามีกฎเกณฑ์ครบตามที่ตั้งไว้ก็สามารถเข้าตลาดได้ เมื่อไม่มีดุลพินิจตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นที่น่าเชื่อถือ ทำไมไม่ประยุกต์ไปกับหน่วยงานอื่นๆ จะสร้างตึกต้องขออนุญาต 7 หน่วยงาน อำนาจรัฐล้วนๆ จึงต้องลดอำนาจรัฐ เพื่อปากท้องประชาชน

“การใช้งบประมาณของรัฐ การจัดลำดับความสำคัญ ที่เกี่ยวยุทโธปกรณ์พอก่อนได้ไหม เอาเรื่องที่เกี่ยวกับการคมนาคมสัญจร เอาเงินทั้งหมดมาพัฒนาประเทศ ต้องพัฒนา made in Thailand เน้นสิ่งที่คนไทยทำได้หมด ทุกอย่างจะโตหมด เอาเศรษฐกิจประเทศไทยกลับสู่สภาพปกติแล้วค่อยไปต่อยอด เติบโตอย่างยั่งยืน” นายอนุทิน กล่าว