เพื่อไทย ชิ่ง “พรรคทักษิณ” ปิดฉาก ทษช. หมดสิทธิ์เข้าสภาตลอดชีพ

รายงานพิเศษ

high risk high return เสี่ยงสูง เดิมพันสูง ผลตอบแทนยิ่งสูง อาจใช้ได้กับ “หมากอันตราย” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” กับการผลักดันชื่อ “มิบังควร” ไว้ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เพราะดอกผลที่ return กลับมา สูงถึงขั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ “ยุบพรรค” ด้วยมติเอกฉันท์ 7-0

ในคำร้องของ กกต.ที่ชงศาลรัฐธรรมนูญยุบ ทษช. เมื่อ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา มีใจความว่า

“กกต.ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ราย และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ตามมาตรา 92”

ประเมิน 3 ทางไร้ข่าวดี

ในช่วง 48 ชั่วโมง หลังเกิดกระแสข่าว “ยุบพรรค” บรรดาแกนนำ-แกนตาม ใน ทษช. นัดหารือนอกรอบ-ในรอบ หลายสถานที่เพื่อประเมินสถานการณ์

แต่กลุ่มที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ รับคำสั่งตรงจาก “ทักษิณ” มักไปรวมตัวกันที่อาคารชินวัตร 3 อันเป็นฐานบัญชาการหลักของทั้งแกนนำเพื่อไทย-ทษช.

หลัง กกต.ชงศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคแบบ fast track โดยที่ ทษช.โอดครวญว่าจะโดนประหารชีวิตทางการเมืองทั้งที่ไม่ได้เห็นคำร้อง ไม่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา มีการประเมินไว้ 3 ทาง

ทางแรก สายกลาง ศาลรัฐธรรมนูญให้คู่ความ คือ กกต. และ ทษช.เสนอพยานหลักฐาน ข้อต่อสู้เป็นลายลักษณ์อักษรของแต่ละฝั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ก่อนลงมติตัดสิน

ทางสอง มองแบบโลกสวย ศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. และ ทษช.เสนอพยานหลักฐาน และให้โอกาสแถลงปิดคดี ก่อนตัดสิน

ทางสาม ทางร้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบรวดเร็ว สายฟ้าแลบ เนื่องจากพยานหลักฐานที่ได้ยื่นต่อศาลเพียงพอ คดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานอีกต่อไป

แต่ทุกทางไม่มีข่าวดี…

“เพราะองค์กรที่ชี้ขาดถือพระราชโองการคนละฉบับกับ ทษช. โดย ทษช.ยึดเมื่อปี 2515 แต่องค์กรที่เกี่ยวข้องขณะนี้ยึดถือคืนวันที่ 8 ก.พ. ถ้ามองในแง่ความเป็นธรรม ทษช.เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ โดยยึดพระบรมราชโองการปี 2515 ประกอบคุณสมบัติต้องห้ามความเป็นนายกฯ มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ ไม่มีอะไรที่ผิดต่อกฎหมาย” แหล่งข่าว ทษช.ระบุ

เสียวห้ามสมัคร ส.ส.ตลอดชีวิต

ทว่า…อัตราโทษกับการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจาก “ยุบพรรค” ยังเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) โดยไม่กำหนดเงื่อนไขเวลา สามารถตีความได้ว่า ห้ามสมัคร ส.ส.ตลอดชีวิต ตามมาตรา 92

รวมถึง ห้าม กก.บห.ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายใน 10 ปี ในมาตรา 94

แกะชื่อคนที่เป็น กก.บห. มีแต่ประเภทนักการเมือง young blood ไม่เคยผ่านสนามการเมืองในฐานะผู้แทนราษฎร อาทิ “มิตติ ติยะไพรัช” เลขาธิการพรรค “คณาพจน์ โจมฤทธิ์” กก.บห. “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” นายทะเบียนพรรค “ฤภพ ชินวัตร” รองหัวหน้าพรรค “พงษ์เกษม สัตยาประเสริฐ” โฆษกพรรค “นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์” เหรัญญิกพรรค

แม้แต่ “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” หัวหน้าพรรค ก็เพิ่งเป็น ส.ส.ได้แค่ 2 สมัย อายุยังไม่ถึง 40 ปี ส่วนพวกที่ “เก๋าเกม-ลายคราม” ไม่ขอมีชื่อเป็น กก.บห.พรรคตั้งแต่แรก

กรธ.กางเจตนารมณ์ รธน.

“อุดม รัฐอมฤต” คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ชี้เหตุตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตของ กก.บห.ไทยรักษาชาติ ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งเรื่องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กับเรื่องสิทธิสมัครรับเลือกตั้งออกมาเป็นเรื่องเฉพาะ และกำหนดไม่มีระยะเวลา คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมีแต่ตลอดชีวิตอย่างเดียว โดยไม่มีเวลา ไม่ให้เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน เพราะถือเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ “มาตรา 235 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใด ๆ ทั้งนี้ คนที่ถูกตัดสิทธิสมัครยังคงมีสิทธิไปเลือกตั้ง ไม่ใช่ถูกตัดสิทธิความเป็นพลเมืองทั้งหมด”

“การกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง สะท้อนว่าไม่ควรจะมาเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่จะมาทำนุบำรุงประเทศ ไม่ใช่มาล้มล้างระบบ ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง เพราะเทียบเท่ากับการกบฏ”

ทษช.ผู้สมัครร้องศาล รธน.

อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์ของ ทษช.อยู่ในขั้นโคม่าตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เกิดปฏิกิริยาจากผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรค 175 คน หาแนวทางต่อสู้ครั้งใหม่ หากเกิดอุบัติเหตุกับพรรคขึ้นมา

หนึ่งในแนวทางหนึ่งที่ถูกชูขึ้นมาถามความเป็นไปได้จากฝ่ายกฎหมาย ที่จะตอบโต้กับเกม “ยุบพรรค” ถ้าพรรคถูกยุบขึ้นมา ผู้สมัคร ส.ส.เขตจะระดมไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทวงถาม “สิทธิของผู้สมัคร” ที่อดลงเลือกตั้ง หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นว่าใครจะรับผิดชอบ เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กก.บห.ที่ผลักดันชื่อ “ต้องห้าม” เป็นแคนดิเดตนายกฯ

หวังสะวิงเพื่อชาติ

แหล่งข่าวจาก ทษช.ประเมินสถานการณ์ว่า ในกรณีที่ ทษช.ถูกยุบแบบสายฟ้าแลบอาจเป็นผลดีแง่ ได้รับคะแนนสงสารจากมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย และกระแสอาจจะสะวิงกลับมาที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย โดยเฉพาะพรรคเพื่อชาติ จะสำคัญขึ้นมาทันที ขณะที่พรรคเพื่อไทยอาจจะได้คะแนนในระบบ ส.ส.เขตมากขึ้น

ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงของพรรค วิเคราะห์สถานการณ์ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยว่า สถานการณ์พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย มีหลายพรรคการเมืองประกาศจุดยืนนี้และจากพูดคุยกับประชาชนจำนวนมากเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หยุดสืบทอดอำนาจ

เพื่อไทยหนีตายไม่ผูกพัน ทษช.

ขณะที่พรรคพี่ แหล่งข่าวที่เป็นหนึ่งในทีมงานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ประเมินการยุบ ทษช.จะมีผลอย่างไรต่อเพื่อไทยหรือไม่ว่า

พรรคเพื่อไทย ถือเป็น “นิติบุคคล” ที่แยกออกจาก ทษช. และการจะลงโทษต้องดูการกระทำผิด ซึ่งเพื่อไทยไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้นในแง่กฎหมาย การยุบพรรค ทษช.อาจไม่มีผลกระทบกับเพื่อไทย แต่อาจกระทบในยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่วางเอาไว้ เพราะเพื่อไทยอาจจะได้แค่ ส.ส.เขต แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย

ทางที่ดีที่สุดคือ เพื่อไทยต้องช่วยตัวเองให้ได้คะแนนมากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าคนที่จะโหวตให้ ทษช.จะไปเลือกพรรคไหน

เปิดขั้นตอนพิจารณาในศาล

ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ระบุขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล ภายหลังศาลรับคดีไว้พิจารณา ดังนี้

1.เมื่อศาลรับคําร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสําเนาคําร้องแก่ผู้ถูกร้อง (ทษช.) 2.ให้ผู้ถูกร้องยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือในเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งในกรณี ทษช. ศาลกำหนดให้ส่งคำชี้แจงภายใน 7 วัน

3.กกต.จะแก้ไขเพิ่มเติมคําร้อง หรือ ทษช.ผู้ถูกร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคําชี้แจง ก่อนวันที่ศาลกําหนดว่าจะมีคําวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 วัน 4.หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย โดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้

5.หากศาลเปิดการไต่สวนจะต้องนั่งพิจารณาอย่างเปิดเผย ซึ่งคู่กรณีสามารถยื่นพยานหลักฐานในการสู้คดี 6.คําวินิจฉัยของศาลให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ปรึกษาหารือกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ

ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณากรณีของ ทษช. ในวันที่ 27 ก.พ.

ทุกชั่วโมงของ ทษช.จึงเต็มไปด้วยความระทึก

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!