นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง กลายเป็น “หมัดเด็ด” ของพรรคการเมือง ที่จะมัดใจโหวตเตอร์ได้ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ก่อนเข้าโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” ฉายภาพนโยบายกู้เศรษฐกิจ ผ่านมือเศรษฐกิจ 4 พรรคที่อาจเป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า
ลดภาษีดีเซล 2 แสน ล. ขยาย EEC ทั่วประเทศ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย มองว่า เศรษฐกิจไทย เป็นรูปแบบแข็งบนอ่อนล่าง ข้างบนแข็งแรงดี แต่ข้างล่างอ่อนแอ ทั้งนี้ รูปแบบปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่รูปแบบแจกเงินอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อก่อนภาคการเกษตรยังไม่ปรับปรุง ยังไม่มี productivity แล้วข้ามไปอุตสาหกรรมเน้นแรงงานราคาถูก ทั้งที่การเกษตรยังไม่พัฒนา อุตสาหกรรมก็เริ่มเป็นแรงงานราคาสูง ยังไม่มี R&D ยังไม่มีแบรนด์ของตัวเอง สองตัวนี้ทำให้เราติดกับดักรายได้ปานกลาง
ดังนั้น ต้องแก้ที่ตัวโครงสร้าง คีย์หลัก productivity ทุกคนสามารถเพิ่ม productivity ได้ ทรัพยากรที่เท่ากันจะต้องมีผลผลิตที่มากขึ้น ไม่ว่าแรงงานคน SMEs จำนวนเกษตรกร มุ่งไปที่ประสิทธิภาพ ปัจจุบันแรงงานอาจจะประสิทธิภาพต่ำแต่ค่าแรงสูง ผู้ประกอบการจึงหนีไปที่อื่น เกษตรกรเราผลิตภาพต่ำ ปลูกข้าวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เรื่อง productivity อยู่อันดับ 9 ดังนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รัฐเป็นตัวที่ผลักดัน
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำขณะนี้ยังไม่มีการปรับเพิ่ม แต่ถ้าแรงงานมีประสิทธิภาพดีพอ ควรขึ้นค่าแรงตามความเป็นจริง ส่วนการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เช่น จำนำสินค้าเกษตรไม่เอา มีบทเรียนจากอดีตแต่จะช่วยตามความจำเป็น
ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง หัวใจคือต้องไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ที่กลัวคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ได้คำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม คิดไว้หรือยังว่าสร้างรถไฟความเร็วสูงจะไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร นี่คือปัญหาที่ต้องแก้อยากจะลดภาษีน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุน 10 เปอร์เซ็นต์ ของการทำนา เป็นเม็ดเงิน 2 แสนล้าน แต่มาตรการภาษีเป็นทางเลือกสุดท้าย ทั้งนี้ การเพิ่มฐานภาษีขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจ ถ้าทำสินค้ามูลค่าสูงได้ หรือ แรงงานมีความสามารถสูงขึ้น ภาษีก็มาเอง ต้องเน้นการศึกษาและนวัตกรรม เอาเอกชนมาร่วมขับเคลื่อน แต่สิ่งที่จะต้องทำเป็นเรื่องเร่งด่วนหากได้เป็นรัฐบาล คือ ความเชื่อมั่น ความต่อเนื่องทำให้ชัดเจน นักลงทุนมองตรงนี้ โครงการอีอีซี พรรคเพื่อไทยทำต่อแน่นอน อาจมีปรับนิดหน่อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมจังหวัดอื่น ๆ และเน้น made in Thailand ทุกมิติ สร้างแบรนด์ไทยแลนด์ให้เข้มแข็งขึ้น ทั้ง SMEs ท่องเที่ยว เกษตร
ชูโครงสร้างดิจิทัลพลิกรายได้เกษตรกร
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า โลกใบนี้เปลี่ยนไปมาก disrupt ทำให้ landscape ประเทศเปลี่ยน ดังนั้น ต้องกลับมาดูว่าอะไรคือจุดแข็งของประเทศ 1.เกษตร 2.ด้านบริการ ซึ่งภาคเกษตร ถ้าปล่อยให้เกษตรกรทำแบบตามมีตามเกิด ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรหรือต่อยอด เท่ากับไม่ได้ใช้ศักยภาพของประเทศในการแก้ปัญหาโครงสร้างการเกษตร เช่นเดียวกับการบริการที่เรามีศักยภาพที่จะเติบโต
เรื่องนโยบายโครงสร้างพื้นฐานนั้น เป็นทิศทางที่ชัดเจนของพรรค ขณะนี้ระบบรถไฟรางคู่ถ้าเต็มทั้งโครงการ 4,000 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าลงทุนระบบรางมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และรถไฟความเร็วสูงซึ่งถือว่าเป็นเส้นแรกที่มีความจำเป็นจะต้องมี ถ้าออกจากเส้นทาง belt and road ของจีน หมายความว่า เราออกจาก landscape ของโลก พปชร.ต้องเดินเส้นนี้แน่นอน
ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งในอนาคตจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะจุดแข็งของประเทศไทยคือ connectivity เป็น center of Asian และถ้าเราไม่ใช้จุดแข็งเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นการทำลายจุดแข็งของประเทศ ส่วนจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องดูให้สอดรับกับค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีไตรภาคีดูเรื่องนี้อยู่
แต่โดยค่าเฉลี่ยควรจะอยู่ที่ 400 บาท แต่หัวใจไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว ต้องมองว่าทิศทางแรงงานในอนาคต ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องเทคโนโลยี และหุ่นยนต์ที่จะเข้ามา หากแรงงานได้พัฒนาทักษะ ก็ควรจะมีเพดานการยกระดับค่าแรงเมื่อได้รับการพัฒนาทักษะ เพราะแรงงานประเภทนี้เป็นแรงงานคุณภาพ ส่วนสินค้าเกษตรต้องทำสินค้าเกษตรที่สอดรับกับกลไกตลาด และที่ผ่านมาไม่ได้บริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดสิ่งแรกที่จะทำหากเป็นรัฐบาล อะไรเป็นปัญหาเร่งด่วนต้องแก้ไข ไม่เฉพาะคนฐานราก แต่ต้องมองเศรษฐกิจด้านบน เพราะเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ กลุ่มนี้จะต้องแข็งแรง คนกลุ่มตรงกลางคือ SMEs คือมีปริมาณมากในผู้ประกอบการ และคนกลุ่มล่าง ซึ่งเป็นคนตัวเล็ก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะต้องแก้ด้วยดิจิทัล ถ้าไม่แก้ด้วยดิจิทัลจะไปด้วยกันไม่ได้ เพราะทั้ง 3 ระดับต้องไปเป็นแพ็กเกจ
ปฏิรูปขนส่งระบบรางรื้อแพ็กเกจภาษีบีโอไอ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ต้องให้น้ำหนักการเกษตร เพราะมีปริมาณคนที่อยู่ในภาคการเกษตร 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่มีผลิตผลเพียงแค่ 6-7 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี เอาแรงงานที่เยอะไปสร้างผลผลิตที่น้อย ถ้าจะแก้ต้องดูเรื่องการผลิต การแปรรูป การขาย ใช้เทคโนโลยีมาจัดการ เช่น พืชสวน โลกทั้งโลกเห็นตรงกันว่าการใช้เรือนกระจกเข้ามาจะควบคุมคุณภาพ ควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมความชื้น ติดโซลาร์เซลล์ ต่อเข้ากับแบตเตอรี่ เชื่อมโยงมาที่ควบคุมการหยอดน้ำ หยอดปุ๋ย ไม่ต้องใช้คน ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ได้ทันที
พรรคเห็นความซ้ำซ้อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ยกตัวอย่าง กทม.-นครราชสีมา ทั้งสร้างมอเตอร์เวย์ใหม่ ทำรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซ้ำซ้อนเกินไป ดังนั้น ต้องเปลี่ยนงบฯลงทุนของกรมการขนส่งทางบก โยกจากถนนเป็นราง ตั้งเป้าอนาคตกระดูกสันหลังของคมนาคมไทยจะต้องเป็นราง ขยายรางให้เยอะขึ้น เอาความต้องการมาสร้างอุตสาหกรรมรางรถไฟ ผลิตรถไฟภายในประเทศ ตอบโจทย์การจ้างงานในประเทศ
อีกทั้งต้องปฏิรูปสิทธิพิเศษทางภาษีบีโอไอ เพราะปัจจุบันบีโอไอยกเว้นภาษีให้กับบธุรกิจต่างประเทศ กลุ่มทุนขนาดใหญ่กว่า 200 ประเทศ ให้เหลือเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เพราะภาษีที่เรายกเว้นปีละแสนกว่าล้านเกือบสองแสนล้าน
ส่วนเรื่องแรงงาน ปัญหาที่สำคัญของผู้ใช้แรงงานคือสิทธิการรวมตัว พรรคเสนอให้รับรอง ILO 87 และ 98 เป็นเรื่องใหญ่กว่าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น โดยไม่ถูกเลิกจ้างหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนค่าแรงขั้นต่ำถ้าสวัสดิการล้อมรอบชีวิตคนตัวอื่นดี ค่าแรงไม่จำเป็นต้องเพิ่มสูงขึ้น
ต้องสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศให้ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จะใช้กลไกตลาดไม่เกิดหรอก
บริษัทที่เป็นแชมเปี้ยน รัฐต้องไปอุดหนุนให้เกิดบริษัทที่เป็น national champion ให้ได้ และจำเป็นต้องยกเลิกทุนผูกขาด เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสทำมาหากิน
ระบบรัฐราชการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ คืนอำนาจให้ประชาชนจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ และปัญหาการเมือง องค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กองทัพ องค์กรอิสระ ต้องดึงกลับมาเป็นประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจไม่มีความมั่นคง
เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเฟซบุ๊ก-กูเกิล
กรณ์ จาติกวณิช ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าจะต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดในการบริหารประเทศ ที่ผ่านมาใช้ GDP ประเมินผลงานเศรษฐกิจ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้น รวยกระจุก จนกระจาย เศรษฐกิจฐานรากที่ฝืดเคือง เป็นปัญหาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดย GDP ทั้งสิ้น
พรรคตั้งใจจะริเริ่มประเมินการพัฒนาของประเทศด้วยดัชนีที่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงเศรษฐกิจ แต่จะมีตัววัดด้านความเหลื่อมล้ำว่า การเข้าถึงสาธารณสุข การเข้าถึงการศึกษา ซึ่งในอดีตไม่ได้นำมาเป็นตัววัด
สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น หลักสำคัญต้องให้ไทยเป็นประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตอนใต้ให้ได้ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในแง่โลจิสติกส์ โหมดที่เราด้อยที่สุดคือระบบราง ขาดการลงทุนมานาน ตอนพรรคเป็นรัฐบาลได้ออกแผนแม่บทการลงทุนรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร ครอบคลุมเพียง 40 กว่าจังหวัด ซึ่งยังไม่พอ
ส่วนวิธีการลงทุนที่ไม่ให้กระทบต่อสถานการณ์การคลังเสนอว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงควรเป็นแนวทางการร่วมลงทุนกับคู่ค้าที่มีประโยชน์ด้วย ให้ความสำคัญกับเส้นทางที่เชื่อมกับจีนตอนใต้ จีนอาจได้ประโยชน์มากกว่าเรา ดังนั้น เขาควรมีส่วนร่วมในการแบกภาระค่าใช้จ่ายลงทุนในเส้นทางที่ผ่านประเทศไทย แต่วันนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงกับจีน ไทยลงเงินฝ่ายเดียว ถ้ามาเป็นรัฐบาลสงวนสิทธิ์ว่าจะทบทวนวิธีการและที่มาของเงิน
ส่วนการแก้ปัญหาสินค้าเกษตร ใช้หลักคิดประกันรายได้ที่เคยใช้ภาคการเกษตร ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมยางกับปาล์มด้วย ความใหม่คือ นำแนวคิดประกันรายได้มาใช้กับผู้ใช้แรงงาน รัฐกำหนดค่าแรงที่แรงงานควรได้รับขั้นต่ำ โดยประกันรายได้ 120,000 ต่อปี ถ้าต่ำกว่านี้รัฐบาลจะเติมให้ตรงส่วนต่าง
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีต้องมีการปรับเปลี่ยน คนที่รวยมากแต่ไม่ได้มีเงินเดือน อาจรวยจากปันผลหุ้น ควรรับภาระภาษีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติเฟซบุ๊ก หรือ กูเกิล ไม่ได้เสียภาษีให้ประเทศไทย นี่คือปัญหา ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีข้ามชาติมาจดทะเบียนเป็นตัวเป็นตนในประเทศไทย หลังจากนั้นจะได้ตามเก็บภาษีได้ ต้องดำเนินการโดยเร็ว