“อภิสิทธิ์” ชูแคมเปญ ประชาธิปัตย์ 10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ! “กรณ์” เอาใจคนชั้นกลาง-มนุษย์เงินเดือนลดภาษี

“อภิสิทธิ์” ชูแคมเปญ ประชาธิปัตย์ 10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ! “กรณ์” เอาใจคนชั้นกลาง-มนุษย์เงินเดือนลดภาษี ลั่นเก็บภาษีคนรวย-ธุรกิจผูกขาด-บริษัทยักษ์ข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายกรณ์ จาติกวานิช รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานนโยบายเศรษฐกิจ พร้อมทีมเศรษฐกิจ แถลงนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้ชุดนโยบาย “สร้างชาติ” : 10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย

นายอภิสิทธิ์นำแถลงว่า นับตั้งแต่มีการหาเสียง หรือมีการแข่งขันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนโยบายในส่วนของการแก้จน และการสร้างคน ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่อยู่ในใจของประชาชน เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเราได้มีการนำเสนอนโยบายว่าจะฟื้นกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียนได้อย่างไร เราได้พูดถึงการที่จะต้องมีการขยายสวัสดิการต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันความอบอุ่นใจให้กับประชาชนได้อย่างไร

“วันนี้ประชาธิปัตย์จะนำเสนอ 10 จุดเปลี่ยนที่สำคัญ จะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องวิธีการวัดประเมินว่า เศรษฐกิจของเราและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไป ดีขึ้น แย่ลง มีความก้าวหน้าแค่ไหนอย่างไร มาพูดถึงว่าการลงทุนของรัฐควรจะต้องตอบโจทย์อะไร มาพูดถึงว่าบทบาทของรัฐที่มีต่อเทคโนโลยีควรจะเป็นอย่างไร มาพูดถึงทุกภาคการผลิตไม่ว่าจะเป็นเกษตร อุตสาหกรรม บริการ จะต้องมีการปรับตัวอย่างไร มาพูดกันให้ชัดว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดทับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะสะสางกันอย่างไร”

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า พูดถึงการที่จะสร้างหลักประกันเงินออม เพื่อให้เราไม่อยู่ในภาวะที่ยากลำบาก เมื่อกลายเป็นสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบอย่างไร และแน่นอนการบริหารการเงินการคลังที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ทั้งหมดจะต้องทำอย่างไร และสุดท้ายระบบเศรษฐกิจ เหมือนระบบการเมือง ประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะต้องมีความสุจริต มิฉะนั้นแล้วเราก็จะมีปัญหาความไม่เสมอภาคในการแข่งขัน มีปัญหาการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของเราด้วย

นายอภิสิทธิ์เริ่มกล่าวถึงจุดเปลี่ยนที่ 1 ว่า 1.GDP >>> PITI (Prosperity Index Thailand Initiative) : เปลี่ยนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ จาก “GDP” เป็น “ดัชนีปิติ” ให้สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน ถือเป็นเศรษฐกิจของชาวบ้าน เศรษฐกิจเพื่อชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง แนวคิด คือจะสร้างดัชนีที่ชื่อว่า PITI ปิติ เป็นคำภาษาไทย คำว่า ปิติ มาจากคำว่า PITI – Prosperity Index Thailand Initiative จากนี้เราจะไม่ได้ดูตัวเลข GDP อย่างเดียว เราจะดูความก้าวหน้าของประเทศผ่านมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านสังคม ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กล่าวว่า 2.Logistics สร้างชาติ – โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยง “มหานคร” : โดยเร่งรัดผลักดันสร้างรถไฟฟ้าทุกสีและลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ลงทุนโดยรัฐ 15 บาทตลอดสาย รวมทั้งสถานีบางใหญ่ถึงสถานีหัวลำโพง เดิมราคา 70 บาท ให้เหลือ 43 บาท และสถานีบางใหญ่ถึงสถานีเตาปูน จาก 52 บาท เหลือ 42 บาท

รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เน้นเส้นยุทธศาสตร์ East-West Corridor – รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโลก เชื่อมจีนถึงสิงคโปร์ ที่หนองคาย-กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ จะสานต่อรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ ฯ-หนองคาย โดยเฉพาะช่วงหนองคาย-นครราชสีมา เป็นอันดับแรก มอเตอร์เวย์สุดชายแดนเหนือใต้ เชียงราย-บางปะอิน สุไหงโกลก-นครปฐม และพัฒนา 12 มหานคร กระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทั่วไทย

นางการดี เลียวไพโรจน์ 3.GovTech : ปฏิรูประบบราชการ ให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยี ปรับกลไกของรัฐ ใช้ Blockchain และ ปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) เพื่อการทำงานที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ) จัดตั้งกองทุน Smart Health และ Smart Education ใช้ Big Data จัดการฐานข้อมูล แก้และปรับปรุงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและกฎหมายที่ถ่วงภาครัฐ ให้บริการประชาชนได้เต็มที่ ผลักดันให้ Startups เชื่อมโยงการทำงานกับภาครัฐ

นายเกียรติ สิทธีอมร กล่าวว่า 4.ปฏิวัติเขียวอุตสาหกรรม : ส่งเสริมอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ให้ไทยเป็น EV Global Supply Chain ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมรถไฟ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตกระแสไฟฟ้า ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานลมและแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจยั่งยืน ทั้งนี้จะปรับกองทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุน SMEs 2 หมื่นล้านบาท

นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่า 5.เศรษฐกิจ Hi-Touch ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นเป้าหมายใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนศักยภาพไทย (Thainess) ผลักดันการท่องเที่ยวพรีเมียม อุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ศิลปะ (Arts) งานสร้างสรรค์และออกแบบ และเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่

นายศุภชัย ศรีหล้า กล่าวว่า 6.เกษตรยุคใหม่ : ส่งเสริมเกษตรกรเป็น Entrepreneur ทางการเกษตร ส่งเสริมวนเกษตร “ป่าพารวย” ส่งเสริม Modern Co-op เน้นการพัฒนาการบริหารจัดการ กระบวนการผลิต R&D แปรรูป Marketing Branding ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันในรูปแบบสหกรณ์ยุคใหม่ เข้าถึงตลาดได้เอง มีการแปรรูปข้ามอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่า

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กล่าวว่า 7.ปีแห่งการแก้หนี้ 3 หนี้ 1.หนี้นอกระบบ 2.หนี้บัตรเครดิต และ 3.หนี้เกษตรกร หนี้บัตรเครดิต โดยพรรคประชาธิปัตย์กำลังร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ให้คิดดอกเบี้ยให้เป็นธรรม รีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบเข้าในระบบ ไม่ให้ ธ.ก.ส. ยึดที่ดินทำกินของเกษตรกรที่เข้าโครงการแก้หนี้ ฟื้นฟูรายได้ ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการถึง 8 แสนราย

นายธราดล เปี่ยมพงษ์ศาสน์ กล่าวว่า 8.เกษียณเงินล้าน : เปลี่ยนสังคม ให้เป็นสังคมการออมรองรับสังคมสูงอายุ ด้วยการยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ ออมหลักร้อยตอนเข้าทำงาน รับหลักล้านตอนเกษียณ ทั้งแรงงานในและนอกระบบ เช่น บริษัทเอกชน เริ่มต้นที่มีพนักงานเกิน 5 คนขึ้นไป ให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โครงการเงินออมเพื่อประชาชน เดือนละ 100 บาท

9. “คลังเข้มแข็ง ภาษีเท่าเทียม” ปฏิรูประบบภาษี และการหารายได้ภาครัฐ ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม เก็บคนรวย ดูแลคนรายได้ปานกลาง และให้สวัสดิการพื้นฐานแก่คนยากจน เก็บรายได้ภาษีจากเศรษฐีหุ้น-ที่ดิน-ทรัพย์สิน สร้างรายได้เพิ่มจากการบริหารเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ บริหารจัดการปรับลดงบกลาง ปรับลดงบซ้ำซ้อน เพื่อการสร้าง “คลังเข้มแข็ง ภาษีเท่าเทียม”

“จากนโยบายที่พรรคนำเสนอทั้งหมดจำเป็นที่ต้องใช้เงิน จำนวน 3.92 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเพิ่มจากการใช้งบประมาณบริหารราชการปกติ ส่วนที่มา แบ่งออก รายได้จากการประมาณการในปี 2563 จำนวน 2.7 ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับนโยบายของพรรคที่ประมาณไป 3.92 แสนล้านบาท ทำให้มีความต้องการใช้เงินมากสุด คือ 5.9 แสนล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ วินัยการคลัง เราสามารถเข้าถึงเงินได้ 6.98 แสนล้านบาท พูดง่าย ๆ คือ เรามีช่วงสำรอง 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีความพอเพียงในการขับเคลื่อนทุกนโยบายที่ประกาศไป”

นายกรณ์ กล่าวว่า ที่มาของเงินมาจากไหน คือ มีรายได้เพิ่มเติมมาจากการบริหารเศรษฐกิจยุคใหม่ตามนโยบายของพรรค การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นภาระรัฐบาลน้อยละ ทบทวนภาระค่าใช้จ่าย เช่น งบรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ งบกลาง ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันตั้งงบไว้จำนวนสูง 9 หมื่นล้านบาท สามารถลดลง 5 หมื่นล้านบาท ให้คงเหลือ 4 หมื่นล้านบาท และปรับการคำนวณไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันกับรัฐบาลชุดใหม่ เช่น ประกันรายได้

“เพื่อให้ระบบภาษีเป็นธรรมกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด ผู้มีรายได้สูงสุด จะไม่มีการลดภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้น จะเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ตามกฎหมายภาษีที่ดินที่พรรคประชาธิปัตย์เคยร่างไว้สมัยเป็นรัฐบาล เราจะมีภาษีการขายที่ดินที่เป็นธรรมมากขึ้น จากปัจจุบันในราคาประเมินที่ราชการประเมินกำไรต่ำเกินจริง เป็นการประเมินตามราคาตลาด เราจะเก็บภาษีตลาดหลักทรัพย์ (ภาษีหุ้น) ในตลาดหลักทรัพย์ เก็บภาษีจากธุรกิจผูกขาดที่มีการผูกขาดและมีสิทธิในการกำไรสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปเพราะใบอนุญาตประเภทพิเศษที่ได้จากรัฐ”

นายกรณ์กล่าวว่า สำหรับคนชั้นกลางที่มีรายได้ปานกลางจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลแต่ไม่ปรับลดผู้ที่มีรายได้สูงสุด โดยจะปรับลดบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อปี 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มนุษย์เงินเดือนต้องมีเครื่องมือการออมในยามเกษียณ โดยลดหย่อนการลงทุนกองทุน RMF และ LTF ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ส่วน SMEs จะขยายฐานภาษีมากขึ้น แต่ภาระภาษีน้อยลงโดยลดการเก็บภาษีให้เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 20 เปอร์เซ็นต์ สุดท้าย กลุ่มธุรกิจข้ามชาติที่หากินกับเทคโนโลยีและค้าขายกับประเทศมากขึ้นและกินสัดส่วนมากขึ้น จะเก็บภาษีการค้าภาษีกำไรและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการเทคโนโลยีขนาดใหญ่ข้ามชาติ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 10. No Corruption : มีมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด จริงจัง! โดยนโยบายเกี่ยวกับการเมืองสุจริตจะเตรียมเปิดนโยบายก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62


นายอภิสิทธิ์แถลงสรุปว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ EEC ประเทศไทยต้องมี 12 มหานครทุกภาค ประเทศไทยต้องมีโครงการขนาดใหญ่ที่ประชาชนใช้บริการได้อย่างแท้จริง วันนี้ประชาธิปัตย์พร้อมแล้วในการที่จะเดินไปข้างหน้า แก้จน สร้างคน สร้างชาติ ด้วย 10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ทำให้ทุกคนก้าวไกลอย่างเท่าเทียม