เสนอชื่อ “บิ๊กตู่-ธนาธร” ชิงนายกฯ-ส.ส.พท.รุมซักคุณสมบัติ “บิ๊กตู่” ซัด เป็นจนท.รัฐ-เคยฉีกรธน.

วันนี้ (5 มิ.ย.) เวลา 11.00 น เข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่รองประธานการประชุม โดยทันทีที่เข้าสู่ระเบียบวาระ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังชารัฐ ประเป็นนายกฯ ขณะที่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯ พรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ทั้งสองฝ่ายเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯ ปรากฎว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ได้ลุกขึ้นประท้วงประธานในที่ประชุม เนื่องจากเห็นว่าประธานอาจทำผิดข้อบังคับที่ระบุว่า เมื่อมีการเสนอชื่อแล้วจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของที่ประชุม จึงกังวลว่าการยกมือรับรองอาจมีการยกมือรับรองซ้ำกัน ขอให้ประธานนับองค์ประชุมโดยการขานชื่อเพื่อป้องกันการรับรองชื่อซ้ำกัน แต่นายชวน ชี้แจงว่า การขานชื่อจะใช้เวลานาน เพราะไม่มีเครื่องมือในการนับคะแนน พร้อมยืนยันว่า ตนนั่งอยู่บนบัลลังก์เห็นชัดเจนว่า มีผู้รับรองถูกต้องตามจำนวนที่ข้อบังคับกำหนด

ต่อมา นายจิรวัฒน์ อรัณกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อสมควรเป็นนายกฯทั้ง 2 คนได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา ทำให้นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นคัดค้านทันที โดยระบุว่า ถือเป็นการเสนอญัตติซ้อน อาจจะทำให้เรื่องที่พิจารณาต้องตกไป ก่อนที่ น.ส.ภาดาห์ วรกานนนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติสวน โดยขอให้ดำเนินการลงมติเลือกนายกฯตามระเบียบวาระ เพราะที่ผ่านมาไม่มีเคยมีการแสดงวิสัยทัศน์มาก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับก็ไม่ได้กำหนดเอาไว้ ทำให้นายชวน ต้องขอมติต่อที่ประชุมเพื่อหาทางออก แต่เนื่องจากต้องใช้วิธีการขานชื่อรายคน จึงอาจกระทบเวลาการประชุม เพราะไม่มีเครื่องนับคะแนน ทำให้ นายจิรวัฒน์ ลุกขึ้ขอถอนญัตติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้กระทบเวลาการประชุมตามที่นายชวน ในฐานะประธานการประชุมได้หารือ

จากนั้น นายชวน ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ โดยนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เป็นนายกฯ ตามมาตรา 160(4)(5) และ (6) ระบุว่า บุคคลที่จะเป็นนายกฯ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม และกำหนดว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกฯต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ และต้องไม่เป็นพนักงานของรัฐอื่น ฉะนั้น ถ้ามีการรับรองชื่อคนที่ขาดคุณสมบัติจะต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแน่นอน เพราะได้รับเงินเดือนประจำจากภาษีประชาชน และกระทำการในการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รับเงินเดือนของรัฐ ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐอื่น จึงผิดคุณสมบัติแน่นอน

“วันนี้พรรคพลังประชารัฐ กลั่นกรองมาแล้วว่า บุคคลนี้มีคุณสมบัติ แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เสนอไม่ได้ เพราะถ้าเสนอคนที่ไม่มีคุณสมบัติจะเท่ากับไม่ได้มีการเสนอ ผมถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด และทำผิดคุณสมบัติหลายข้อ ฉะนั้น การฝ่าฝืนเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สภานี้ต้องพิจารณา ขณะเดียวกับ มาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 5 ที่ระบุว่า ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่หากย้อนกลับไป 4 – 5 ปี พล.อ.ประยุทธ์ เคยฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ไม่เคารพประชาชน การใช้ปากกระบอกปืนผมถือว่าไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ผิดหลักจริยธรรมอย่างร้ายแรง” นายขจิตร กล่าว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์