ยกฟ้อง”กิตติศักดิ์”ขนบึ้มปี’53 ทนายนำคำพิพากษายื่นประกอบอุทธรณ์คดีชายชุดดำ ลั่นตามคดีกปปส.เช็กบิลทีมอัยการ

เมื่อเวลา 09.45 น.วันที่ 6 กันยายน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี หนึ่งในกลุ่มชายชุดดำ เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิด อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันสมควร

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 จำเลยได้ร่วมกับพวกอีก 2 คน ร่วมกันครอบครองวัตถุระเบิด วงจรระเบิด อาวุธปืนสงครามซุกซ่อนในรถยนต์ฮอนด้าซีวิค ซึ่งมีผู้แจ้งหายจอดทิ้งไว้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.โคกคราม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) หลังได้รับทราบแจ้งเหตุจากผู้หวังดี จึงเข้าตรวจค้นรถยนต์ของกลาง พบของกลางระเบิดซีโฟร์ ทีเอ็นที ดินระเบิด ระเบิดขวด ถังดับเพลิงบรรจุปุ๋ยยูเรีย และอาวุธปืนอาก้า ลูกกระสุนเอ็ม 79 รวมจำนวน 20 รายการ ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ย่านถนนรามอินทรา

คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เนื่องจากพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้ดูแลอพาร์ตเมนต์ที่เคยให้การในชั้นสอบสวนนั้น เบิกความขัดแย้งกับที่มาเบิกความในศาล และเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับผลการตรวจดีเอ็นเอและลายนิ้วมือแฝงของจำเลยเทียบกับวัตถุพยานของกลางไม่ตรงกัน เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ลงโทษจำเลยได้

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำ เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังในคดีอื่น

โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ที่ยื่นฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้อง

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลย กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณศาลที่ยกฟ้อง เนื่องจากคดีนี้ศาลอาจจะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เชื่อมโยงกับจำเลย ก่อนหน้านี้ในชั้นสอบสวนมีการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ในคดีนี้กับการปฎิบัติการชายชุดดำเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 แต่พยานหลักฐานที่ไม่สมเหตุสมผลทำให้ศาลมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลย ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการชั่งน้ำหนักพยาน คดีนี้ศาลยกฟ้องทั้งสองศาลแต่ตัวจำเลยยังถูกคุมขังอยู่ในคดีชายชุดดำ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีเริ่มต้นที่มีการปูทางมายังคดีชายชุดดำ เนื่องจากพยานโจทก์หลายปากมีการอ้างถึงเรื่องที่จำเลยในคดีนี้มีการขนระเบิดมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติการชายชุดดำด้วย และพยานที่มายืนยันในคดีชายชุดดำก็เป็นพยานที่ไม่ใช่ประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ชัดเจน โดยคดีชายชุดดำที่เกี่ยวเนื่องกันศาลสั่งลงโทษจำเลย แต่เมื่อคดีระเบิดศาลยกฟ้อง ตรงนี้เราก็จะนำคำพิพากษาไปประกอบการยื่นอุทธรณ์ในคดีชายชุดดำด้วย เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกัน

นายวิญญัติกล่าวว่าต่อว่า ในฐานะทนายความที่ติดตามคดีการเมืองมา ในวันที่ 11 กันยายนนี้ จะตามความคืบหน้าคดี กปปส.ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ที่ตนเคยไปยื่นหนังสือถามความคืบหน้ากรณีที่ยังไม่มีการฟ้องแกนนำ กปปส.หลายคนทั้งที่เวลาผ่านมานานแล้ว ซึ่งพ้นระยะเวลาตามที่อัยการสูงสุดเคยแจ้งกำชับมาแล้ว และทราบว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งความเห็นที่มีการให้สอบสวนเพิ่มเติมไปยังคณะทำงานของอัยการแล้ว ประกอบกับตนจะขอให้เปิดเผยรายชื่อของคณะทำงานอัยการทุกคนเพื่อที่จะดำเนินการทางกฎหมาย หากพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องยังไม่สั่งฟ้องตามระยะเวลาที่ควรดำเนินการ ซึ่งอาจจะเป็นการเข้าข่ายปฎิบัติหน้าที่มิชอบ เพราะตนเห็นว่าการดำเนินคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้าทั้งที่มีพยานหลักฐานชัดเจนอาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายกิตติศักดิ์ จำเลยในคดีนี้ ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา 5 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำที่ก่อเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่แยกคอกวัว ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และถูกจับกุมได้เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2557 โดยเจ้าหน้าที่ทหารและพนักงานสอบสวน ที่ตั้งขึ้นเป็นคณะทำงานพิเศษนำตัวมาแถลงข่าวว่า ชายชุดดำทั้ง 5 คน (มีหญิง 1 คน) ให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ก่อเหตุในวันที่ 10 เมษายน 2553 แต่ต่อมาทั้ง 5 ได้ให้ทนายความนำหนังสือยืนยันว่า ถูกบังคับและทำร้ายร่างกายในการสอบปากคำในสถานที่แห่งหนึ่ง พร้อมขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง อย่างไรก็ตาม ต่อมาอัยการได้ฟ้องชายชุดดำทั้ง 5 คนต่อศาลอาญา ข้อหาร่วมกันมีและครอบครองอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ และข้อหาพาอาวุธไปในเมือง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4022/2557 ซึ่งคดีชายชุดดำดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ให้จำคุกนายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา อยู่เย็น จำเลยที่ 2 คนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 ยกฟ้อง ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

 

ที่มา : มติชนออนไลน์