เดิมพันรัฐบาลใหม่ 7 แสนล้าน คิกออฟ 7 โปรเจ็กต์ด่วน ทำทันที

ทันทีที่มี รัฐบาลใหม่ – รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ก่อร่าง-ขึ้นรูป ตามคำปรารภของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี 2 สมัย  ทว่ากว่า “รัฐบาลใหม่” จะเริ่มทำงานได้ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน

ความยากของการจัดทำร่างนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 เพราะต้องผสมผสานนโยบาย (ขายฝัน) รัฐบาลผสมถึง 19 พรรคแล้ว ยังต้องแจกแจงที่มา-ที่ไปของเงินจำนวนมหาศาลด้วย

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จึงเปิดประตูต้อนรับพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 18 พรรค ส่งนโยบายของแต่ละพรรคเพื่อจัดทำเป็นร่างนโยบายรัฐบาล

สำหรับร่างนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน ระยะ 1 ปีแรก 4 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจที่ 1 การแก้ปัญหาปากท้อง ภารกิจที่ 2 การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ-ยกระดับระบบสวัสดิการ ภารกิจที่ 3 การสร้างอนาคต ภารกิจที่ 4 การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน และนโยบายระยะยาวในช่วง 4 ปี

ภายใต้ 3 ทัพเศรษฐกิจ 3 พรรคแกนนำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ภาคสอง นโยบายของ พปชร.กุมความได้เปรียบเพราะเป็น “คนถือเงิน” โดยกระทรวงการคลัง เคยให้ “สัญญาประชาคม” ไว้ว่าจะ “ทำทันที” อาทิ

“มารดาประชารัฐ” ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท รวมสูงสุด 27,000 บาท ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาทจนครบ 6 ขวบ รวม 144,000 บาท รวมทั้งสิ้น 181,000 บาทต่อเด็ก 1 คน ด้านเกษตรยั่งยืน ข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน อ้อย 1,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม ด้านค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน อาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้จะมี ส.ส.เพียง 53 เสียง ไม่ได้เป็น “พรรคแกนนำ” แต่ด้วยความ “เขี้ยว” ทางการเมือง ทำให้ได้กระทรวงเกรดเอ-กระทรวงเศรษฐกิจหลัก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทั้งกระทรวงเกษตรฯและพาณิชย์ภายใต้นโยบาย “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” สำหรับนโยบายที่ ปชป.ได้หาเสียงไว้ ได้แก่ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หรือ “เกิดปั๊บ รับสิทธิ์เงินแสน” จำนวน 17,832 ล้านบาทต่อปี ค่าคลอด 5,000 บาท ค่าเลี้ยงดู 1,000 บาทต่อเดือนจนถึง 8 ขวบ เมื่อโครงการดำเนินไปครบ 8 ปี จะต้องใช้เงินเพิ่ม 59,000 ล้านบาทต่อปี

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน 37,302 ล้านบาทต่อปี โดยจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 4.8% หรือ 393,600 คน ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ประมาณปีละ 4,700 ล้านบาท

เบี้ยผู้ยากไร้ (บัตรคนจน) ได้รับเงินสดเพิ่มขึ้นรายละ 800 บาทต่อเดือน จำนวน 14.47 ล้านคน วงเงิน 68,794 ล้านบาทต่อปี เบี้ยคนพิการคนละ 1,000 บาทต่อเดือน จำนวน 2 ล้านราย วงเงิน 5,000 ล้านบาทต่อปี

ประกันรายได้พืชผลเกษตร จำนวน 100,000 ล้านบาทต่อปี หากพืชเกษตรตามโครงการประกันรายได้มีราคาตกต่ำที่สุดพร้อมกันในรอบปี รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี ประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำจำนวน 50,000 ล้านบาทต่อปี

เรียนฟรีถึง ปวส.จำนวนเงินที่ใช้ 23,852 ล้านบาทต่อปี อาหารเช้า-กลางวันถึง ม.3 จำนวน 28,441 ล้านบาทต่อปี เด็กทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ (English for All) จำนวน 5,500 ล้านบาทต่อปี

ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีทั่วไทย จำนวน 4,555 ล้านบาทต่อปี เพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 739 ล้านบาทต่อปี กองทุนน้ำชุมชน 30,000 ล้านบาทต่อปี และบ้านหลังแรก 20,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ชง “กัญชาเสรี” แก้กฎหมายขนส่ง ทำให้ Grab Car ถูกกฎหมาย “บุรีรัมย์ โมเดล” ต้นแบบการพัฒนาเมืองกีฬาคู่ท่องเที่ยวกระจายไปยังเมืองอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ก็มีนโยบายด้านเกษตร “กำไรแบ่งปัน” สร้างระบบแบ่งปันผลกำไรการเกษตร profit sharing เช่น ข้าว 70% : 15% : 15% ชาวนาได้เงิน 70% ข้าวขาว 7,900+800=8,700 หอมมะลิ 18,000+1,500=19,500 ราคาข้าวปี 2561+ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนข้าว ปาล์มทะลายกิโลกรัมละ 5 บาท รวมถึงนโยบายยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำบ้านได้ค่าตอบแทน 2,500-10,000 บาท

นโยบาย “แก้หนี้” กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มูลหนี้อยู่ 5 แสนล้านบาท 1.ปลดภาระผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป 2.ไม่มีดอกเบี้ย 3.ไม่ต้องมีเบี้ยปรับ 4.ใช้ภาษีเงินได้ประจำปีมาหักลดยอดหนี้เงินกู้ได้ 5.ผ่อนคืนเงินต้น 10 ปี และ 6.พักหนี้ 5 ปี

ทุกนโยบายต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลหลายแสนล้าน…เพื่อสานฝันให้เป็นจริง

คลิกอ่านเพิ่มเติม…โปรดเกล้าฯ ครม.พล.อ.ประยุทธ์2 “ม.ร.ว.จัตุมงคล-แรงงาน “ร.อ.มนัส” รมช.เกษตรฯ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!