10 รัฐมนตรีชนักปักหลัง โปรไฟล์เป็นพิษ ฝ่ายค้านจองกฐิน “ซักฟอก-ถอดถอน”

โฉมหน้าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 จำนวน 36 คน 39 ตำแหน่ง 6 พรรคการเมือง ที่ออกมา 99.99 เปอร์เซ็นต์ “ไม่พลิกโผ” มีเพียงบางรายชื่อ-บางตำแหน่งที่สลับไปสลับมา จนถึง “วินาทีสุดท้าย”

รายแรก “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” มีชื่อ “อัครา-น้องชาย” อยู่ในโผ “ว่าที่ รมว.ดีอี” ก่อนจะพลิกโผเป็น “ร.อ.ธรรมนัส”ขึ้นเป็น รมช.เกษตรฯ ชนิดหืดจับ

อีกรายคือ “คุณชายเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ถูกโยก 3 ตลบ จาก รมว.แรงงาน ไป รมว.ต่างประเทศ ก่อนจะขึ้นหิ้ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ สุดท้ายกลับมาเป็นเจ้ากระทรวงจับกัง 1

โดยเฉพาะ “ร.อ.ธรรมนัส” เพราะ “โปรไฟล์เป็นพิษ” กว่าจะได้เลื่อนชั้นเป็นเสนาบดี “ร.อ.ธรรมนัส” ต้องแหกด่านคัดกรองคุณสมบัติ หลังเคยถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุกคดียาเสพติด

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เนติบริกร การันตีว่าไม่ขาดคุณสมบัติ-ไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นแหรัฐมนตรี โดย “ยกเคส”อดีต ส.ส. ต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ ขนยาเสพติดเข้าฮ่องกง

“ไม่มีผลกระทบในส่วนของไทย แต่จะกระทบเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ อาจจะเป็นข้อห้ามอีกแบบหนึ่ง แต่จะเอาข้อหานั้นตรง ๆ มาใช้ไม่ได้ แม้ข้อหาอาจจะตรงกันแต่ศาลไทยไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน”

รวมถึงเคย “ถูกไล่ออกจากราชการ” ว่า “แล้วแต่ว่าถูกไล่ออกจากราชการเพราะอะไร หากถูกไล่ออกเพราะทุจริตนั้นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่กรณีทุจริตไม่เป็นไร โดยเฉพาะเมื่อกลับเข้ารับราชการแล้ว”

“ร.อ.ธรรมนัส” ต้องสิ้นสุดเส้นทางข้าราชการทหาร ในปี 2542 หลัง “ร.อ.พชร”(ชื่อเดิม) พันคดีฆ่าคนตาย แต่ในปี 2546ศาลพิพากษายกฟ้อง

ขณะที่ขุมข่ายธุรกิจของ “ร.อ.ธรรมนัส”แตกไลน์ทั้งสีขาว-สีเทา อาทิ ธุรกิจรักษาความปลอดภัย “1 ใน 5 เสือกองสลาก” ให้เช่าพื้นที่-บริหารตลาดนัดจตุจักร-คลองเตย รถเมล์ สโมสรฟุตบอล รวมสินทรัพย์มูลค่าหลายร้อยล้านบาท

ทันทีที่รัฐประหาร 22 พฤษภาฯ 57 “ร.อ.ธรรมนัส” จะถูกคำสั่ง คสช.เรียกมารายงานตัว พร้อมกับ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์-พล.อ.ทวนทอง อินทรทัต ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ “ทักษิณ”

นอกจาก “ร.อ.ธรรมนัส” แล้ว ยังมีอีก 9 รัฐมนตรี ที่มี “ชนักปักหลัง” ได้แก่

1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยเป็น รมว.คมนาคม ปี 2548 ถูกซักฟอก-ไม่ไว้วางใจกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX 9000

สุดท้ายเสียงข้างมากลงมติ “ไว้วางใจ” และในปี 2555 ป.ป.ช.มีมติยกคำร้อง พ้นข้อกล่าวหาทางการเมือง-กฎหมาย

ทว่า “ชนักปักหลัง” ที่ยังสลัดไม่หลุด คือ “คดีสินบนโรลส์-รอยซ์” หลังจากเมื่อปี 2560 บริษัทโรลส์-รอยซ์ รับสารภาพต่อ ป.ป.ช.สหราชอาณาจักร (SFO) ว่า ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 จำนวน 3 ครั้ง วงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องยนต์ T-800 ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในยุคที่ “สุริยะ” เป็น รมว.คมนาคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างองค์คณะไต่สวน ป.ป.ช.ตรวจสอบ ผู้ถูกกล่าวหารวม 26 ราย

2.นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตกเป็นเป้าโจมตีจาก “กงกรรมเก่า” สมัยเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้สินเชื่อให้กับบริษัทเครือกฤษดามหานครกว่าหมื่นล้านบาท แม้ว่าคดีจะถึงที่สุดไปแล้ว ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินลงโทษจำเลย และชื่อ “อุตตม” ก็ไม่ได้เป็นจำเลยถูกฟ้องร้องในชั้นศาล แม้กระทั่ง คตส.-ป.ป.ช.-อัยการร่วม ป.ป.ช.

ทว่ากลับเป็น “ตราบาป” ให้ “อุตตม” ต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ เพราะฝ่ายค้านเตรียมลับฝีปากรอซักฟอกในสภาอีกครั้ง

3.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี มีข้อกังขาเรื่องโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย จ.อุทัยธานี มูลค่าโครงการ 501 ล้านบาท จากปัญหาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และแก้ไขสัญญา 5 ครั้ง-ขยายสัญญา สมัย “มนัญญา” นั่งนายกอุทัย และถูกปล่อยทิ้งร้างมากว่า 10 ปี เกิดความเสียหายเกือบ300 ล้านบาท โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเรื่องต่อไปให้สำนักงานป.ป.ช.ไต่สวนต่อ

4.นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เจ้าของโรงงานแป้งมันเอี่ยมเฮง เจ้าของฉายา “เสี่ยแป้งมันพันล้าน”

เคยถูกดำเนินคดีสำคัญ เช่น บุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 1,200 ไร่ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาว่า บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด บุกรุกที่ ส.ป.ก. ซึ่งศาลมีคำพิพากษาที่สุด “มีความผิดจริง” แต่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแล้ว นอกจากนี้ ยังถูกร้องให้ตรวจสอบกรณีออกโฉนดที่ดินโรงงานโดยมิชอบ และอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินแปลงที่ตั้งโรงงานดังกล่าว

5.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก่อนรับตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ต้องต่อสู้กับวิบากกรรม-โปรไฟล์เป็นพิษ หลังจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ 5 โครงการหนัก

1.โครงการประมูลซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ชนิด 10 ล้อ

2.โครงการเงินอุดหนุนสมาคมกีฬาจังหวัด

3.โครงการจัดซื้อจัดจ้างรถอุบัติเหตุฉุกเฉินในราคาที่แพงเกินเหตุ

4.โครงการสร้างสวนสาธารณะเมืองสงขลาเพื่อการท่องเที่ยว

และ 5.อนุมัติงบฯโครงการให้ 4 อำเภอในสงขลามากกว่าอำเภออื่น จนเจ้าตัวออกมาตั้งโต๊ะชี้แจงความโปร่งใสเป็นฉาก ๆ

โดยเฉพาะกรณีถูก สตง. ตรวจสอบกรณีเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับสมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 22 ล้านบาทเศษสมัยที่นายนิพนธ์เป็น นายก อบจ.สงขลา ระหว่างปี 2558-2559 ขณะเดียวกันก็เป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัด ต่อมา คตง.มีมติว่า การอุดหนุนเงินดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ และมีคำสั่งให้เรียกเงินคืนทั้งหมด

นอกจาก 6 รัฐมนตรีแล้ว ยังมีอีก 4 รัฐมนตรี ที่ต้องลุ้นระทึกศาลรัฐธรรมนูญเตรียมอ่านคำวินิจฉัยกรณี “ถือหุ้นสื่อ” ได้แก่ 1.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 2.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน 3.นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ 4.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

เป็น 10 รัฐมนตรี-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ 7 พรรคฝ่ายค้านจองกฐินซักฟอก-ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง