“เพื่อไทย” หวั่นงบปี 63 ทำธุรกิจล้มละลาย ถล่ม “นายกฯ” แจกเงิน ดูถูกคนไทยโง่-ขี้เกียจ

“เพื่อไทย” หวั่นงบปี 63 ทำธุรกิจล้มละลาย ถล่ม “นายกฯ” แจกเงิน ดูถูกคนไทยโง่-ขี้เกียจ ด้าน “บิ๊กป๊อก” ลุกแก้ต่าง ยัน “บิ๊กตู่” ไม่เคยพูด มีแต่พูดว่าคนไทยขยัน-เก่ง แต่ต้องสร้างโอกาสให้ วอนคนอภิปรายฟังคำชี้แจงบ้าง

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่รัฐสภา นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย(พท.) อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่สนับสนุนผู้ประกอบการ เพราะมีการตัดงบพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมลงเหลือ 1,886 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับ 2,028 ล้านบาทในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ซ้ำเติมและไม่ให้โอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับการดูแล ทำให้คนตกงาน และธุรกิจล้มละลายตามมา ทั้งที่ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รัฐบาลไม่เข้าใจในเศรษฐกิจระดับกลางและระดับล่าง ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นทีมเศรษฐกิจ มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค จะปรับหนี้ เติมเงิน ลดภาษี สร้างเศรษฐีใหม่

ด้าน น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอตั้งคำถามต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมจริงหรือไม่ งบประมาณการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่ตั้งไว้ 7.6 แสนล้านบาทนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เพราะตั้งสมมติฐานว่าคนไทยโง่ และขี้เกียจ มีแต่นโยบายแจก แต่ไม่ยอมสร้างโอกาสพัฒนาให้ประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ไม่สร้างโอกาสใหม่ยังไม่พอ ยังทำลายโอกาสเดิมอีก ทำให้คนไทยรอคอยแต่โอกาสการช่วยเหลือจากสวัสดิการภาครัฐ ทั้งที่เคยมีกองทุนหมู่บ้าน โอนเงินเข้ากองทุนให้ประชาชนไปคิดกันเอง อยากได้อะไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ 5 ปีที่ผ่านมาเอางบไปไล่แจก ไม่สอนให้คนไทยคิดทำอะไร

น.ส.ชนก กล่าวต่อว่า ส่วนงบลงทุนก็ไม่เสริมปัญญา เอาแต่เสริมอาวุธ เป็นไปได้หรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์จะเปลี่ยนจากซื้อรถถัง เรือดำน้ำ มาซื้อแทปเล็ต ติดอุปกรณ์ให้นักศึกษาแข่งขันกับต่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังโยกเงินไปไว้ที่งบกลางถึง 5.18 แสนล้านบาท เพื่อใช้อัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามอำเภอใจ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่รู้โยกไปใช้เพื่ออะไร นอกจากนี้ ยังสงสัยว่าเมื่อไรจะจัดงบประมาณแบบสมดุลได้ นายกฯบอกว่า 10 ปีข้างหน้า จะทำงบแบบสมดุลได้ แต่มองไม่เห็นหนทาง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งงบขาดดุลมาตลอด ตั้งแต่ปี 2557-2562 รวม 6 ปี กู้เงินไป 2.6 ล้านล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์อาจลืมไปว่า ประเทศไทยเคยจัดงบแบบสมดุลมาแล้ว ปี 2548 ในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ถ้าคิดไม่ออกว่าผู้นำในอดีตมีหลักคิดยังไง ให้กลับไปดูปี 2548 ว่ารัฐบาลยุคนั้นทำไมจึงทำได้

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลุกชี้แจงแทนนายกฯ ว่า การที่ท่านทั้งหลายได้อภิปรายและให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อติเตียน ตนรับฟังทุกอย่าง แต่ที่พูดถึงนายกฯว่า คิดว่าคนไทยโง่นั้น ตนอยู่ใกล้ชิดนายกฯ ยืนยันนายกฯไม่เคยพูดว่าคนไทยโง่ คนไทยขี้เกียจ นายกฯมีแต่พูดว่าคนไทยขยัน เก่ง แต่ต้องสร้างโอกาส โดยเฉพาะคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และไม่ว่านายกฯจะไปที่ไหน ไปหาร้านอาหารญี่ปุ่น กุ๊กก็เป็นคนอีสาน ช่างแอร์ ช่างเฟอร์นิเจอร์ ก็เป็นคนอีสานหมด ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเขาก็กลับไปทำนาให้พอกิน ซึ่งทำนาได้ปีละครั้ง แล้วก็กลับไปใช้แรงงานต่อ ดังนั้น นายกฯไม่เคยพูด ไม่เคยคิด แต่ผู้อภิปรายพูดเอง

ADVERTISMENT

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องแนวความคิดที่ว่าแจกอย่างเดียว ทุกคนคงทราบกันดีว่าไม่มีใครอยากทำอย่างนั้น เราอยากให้เขาเป็นนกที่บินได้เอง โดยเราต้องสอนให้เขาบินเอง เราไปบินแทนไม่ได้ เราไม่อยากแจกปลา แต่อยากแจกเบ็ด โครงการไทยนิยมยั่งยืนเป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเราสำรวจและรู้ว่าเขามีรายได้ต่ำ จึงมีการเข้าไปฝึกอบรมแล้วถึงจะจ่ายเงิน อย่างไรก็ตาม คนบางกลุ่มเราก็ต้องไปดู เพราะเขายังอ่อนด้อยอยู่ ที่เรียกว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ผู้อภิปรายก็บอกว่าไม่เหมาะสม ซึ่งตนก็รับฟัง ไม่เป็นไร แต่เมื่อตนชี้แจง ผู้อภิปรายก็กรุณารับฟังบ้าง

ADVERTISMENT

ต่อมาเวลา 12.35 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลุกขึ้นชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ติดชายทะเลกว่า 3 พันกิโลเมตร จำนวน 23 จังหวัด มีพื้นที่ที่เป็นปัญหาเรื่องการกัดเซาะประมาณ 700 กว่ากิโลเมตร คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ โดยได้แก้ไขไปแล้วประมาณ 640 กิโลเมตร เหลืออีก 80 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กัดเซาะรุนแรง ปานกลาง และน้อย ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมมี 2 ส่วน คือทำกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด และการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2561 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขและป้องกันการกัดเซาะ 3 ระดับ ได้แก่ 1.มาตรการสีขาว คือลดผลกระทบของการกัดเซาะต่อสิ่งมีชีวิต โดยกำหนดแนวถอยร่น 2.มาตรการสีเขียว เป็นการรักษาเสถียรภาพ ป้องกันการกัดเซาะโดยใช้วิธีปลูกป่า และ 3.มาตรการสีเทา ป้องกันการกัดเซาะโดยใช้เขื่อน เช่น เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในระดับ 3 ต้องผ่านการทำอีไอเอ ทั้งนี้ การกัดเซาะชายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนของทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย และยืนยันว่ารัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่แพ้นโยบายอื่น

 

ที่มา มติชนออนไลน์