มติศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 สั่งโหวตวาระ 2-3 ใหม่ พ.ร.บ.งบประมาณ 63

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระพิจารณาวินิจฉัย พร้อมนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ กรณีคำร้อง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดรัฐบาล 90 คน กรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทน นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สุมทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมบูรณ์ ชารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือไม่

อันเป็นผลมาจาก มี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน และมีการเสียบบัตรค้างไว้ ในเครื่องลงมติอัตโนมัติ ในระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2 และ 3 โดยคำร้องหลักมาจาก ส.ส. รัฐบาล 90 คน นำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 หรือไม่

2.หากมีปัญหา จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และกรณีนี้จะถือว่าสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่

3.จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร

เป็นการใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 139 ที่เปิดทางให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสองสภา หรือ 75 จาก 750 คน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายใน 3 วันหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (7 ก.พ.63) ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุม และลงมติ 5 ต่อ 4 ว่า กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 หรือไม่ ศาลลงมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า

“เนื่องจากปรากฏว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ในวันเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

ให้มีการลงมติใหม่ในวาระที่ 2 และ 3

ทั้งนี้ข้อพิจารณาของศาลมีดังนี้

ปัญหาว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตกไปทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 หรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อวินิจฉัย พฤติการณ์แห่งคดีและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแตกต่างจากประเด็นข้อวินิจฉัย พฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดีนี้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ คดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราต่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น

ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ปรากฏชัดว่าการพิจารณาออกเสียงลงมติของสภาผุ้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก่อนเสนอให้สภาผุ้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่สองได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทุกประการ ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต

อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่สองและวาระที่สาม และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ แต่การพิจารณาลงมติในวาระที่หนึ่ง และในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก่อนนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่สอง ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว

จากนั้นให้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

ส่วนคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 78 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 นั้น เห็นว่า เหตุแห่งคำร้องดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปในคดีนี้แล้ว กรณีไม่มีเหตุจำเป็นต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีก จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย