10 ปี พฤษภา 53 แกนนำแดงจ่อคุก จากขุนพล ศอฉ. สู่เก้าอี้คณะรัฐมนตรี

กาลเวลาผ่านไปครบ 10 ปี กับเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลางเดือนพฤษภาคม 2553

ที่เกิดขึ้นในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตรึงกำลังทหาร-ตำรวจขึงเขตแนวใช้กระสุนจริง ภายใต้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ภายหลังมี “ชายชุดดำ” ลอบสังหารทหารกลางใจเมือง

หลากหลายเรื่องราวตลอด 1 ทศวรรษ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกาลเวลา

คนที่อยู่ในสปอตไลต์ กลางดงม็อบเมื่อทศวรรษที่แล้ว ต่างแยกย้าย มีบทบาทที่ต่างกันในวันนี้

ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน ในฝ่าย “ศอฉ.” มี 2 นักการเมืองที่มีบทบาทสูงสุด คือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันแม้จะลาออกจากหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แล้ว ทำตามคำพูดที่ว่าไว้ก่อนเลือกตั้ง ถ้าแพ้จะยุติบทบาทหัวหน้าพรรค แต่เขาก็ยังมีบทบาททางความคิดภายในพรรค

ส่วน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. วันนั้น ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง-ผู้มีบารมีพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แตก-หัก ออกจากประชาธิปัตย์

สำหรับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ รั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ศอฉ. อาจกล่าวได้ว่าเป็นโควตา “กองทัพ” ที่แทรกเข้ามาอยู่ในการเมือง ซึ่งในปัจจุบันเป็น รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พลังประชารัฐ เป็น “หัวหน้าก๊กบิ๊กป้อม”

ขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำ ผู้บัญชาการใหญ่วันนั้น คือ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คุมกำลังทหารทั้งมวล ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คุมกลไก ฐานการเมืองท้องถิ่นเบ็ดเสร็จ

วันนั้น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังเป็นรอง ผบ.ทบ. เป็นรองจาก “พล.อ.อนุพงษ์” ซึ่งมีชื่อ “เต็งจ๋า” ในโผทหารว่าจะเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป สถานะปัจจุบันเป็น “นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม” กำกับทั้งทหาร-ตำรวจ

“พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ในสถานการณ์เสื้อแดงยึดเมืองหลวงเมื่อ 10 ปีก่อน เขาเป็น ผบ.ร.11 รอ. เป็นที่บัญชาการ ศอฉ. นำกำลังทหารปฏิบัติการยึดคืนสถานีดาวเทียมไทยคม ปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการทหารบก-ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904-คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

“พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” อดีตเป็นโฆษก ศอฉ. จะออกมาเล่าแผนปฏิบัติในแต่ละวันช่วงค่ำ ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ คุมกลไกสื่อของรัฐ-โฆษกรัฐบาลในยามวิกฤต

ส่วนฟากของ นปช.เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่มีใครมีบทบาทนำเกินไปกว่า 3 เกลอ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์

ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง หลังเวทีที่แยกราชประสงค์ จะมี “ตู้คอนเทนเนอร์” ไว้เป็นที่ “ประชุมลับ” ของบรรดาแกนนำ วันนั้น ประธาน นปช.คือ “วีระกานต์” แต่ช่วงท้าย ๆ เขาสละการนำไม่ไปต่อ ปัจจุบันหลังย้ายไป “ทำการเมือง” ในนามพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ช่วงก่อนเลือกตั้ง มี.ค. 2562 แต่ ทษช.ก็ถูกยุบ เจ้าของฉายา “ไข่มุกดำ” ก็เงียบหายไป

เช่นเดียวกับ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” หลังการชุมนุม นปช. เขาโลดแล่นอยู่ในการเมือง เป็นถึง รมช.พาณิชย์ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และกระโดดไปลงเลือกตั้งในนาม ทษช. หลังพรรคถูกยุบยังไม่กลับพรรคเพื่อไทย แต่ยังคงเคลื่อนไหว เป็นคอมเมนเตเตอร์การเมืองผ่านโลกโซเชียลในนาม เลขาธิการ นปช.

“จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.คนปัจจุบัน หลังจบเหตุการณ์พฤษภาปี’53 เขาเข้า-ออกเรือนจำพิเศษจากคดีการเมือง-คดีหมิ่นประมาท “อภิสิทธิ์” ได้เข้าไปเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ

ส่วน “สุภรณ์ อัตถาวงศ์” หรือ “แรมโบ้อีสาน” หนึ่งในแกนนำ นปช.เมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันย้ายค่ายมาอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เดินข้าง “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ฝั่ง นปช.ยังมีลุ้นที่จะจ่อติดคุกเพิ่ม คือ คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2550 จำเลยคนสำคัญ อาทิ วีระกานต์, ณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท, นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. รวมอยู่ด้วย

โดยศาลอาญาจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา 26 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00 น.