1 ปีฝ่ายค้าน 6 พรรคแตกพ่าย ยุบพรรค ย้ายค่าย ขายเสียงงูเห่า

ผ่านมา 1 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกตัดสินโดยผลโพลหลายสำนักว่า “สอบตก” วิชาแก้วิกฤตเศรษฐกิจ

แม้จะเอาวิกฤตโควิด-19 อยู่หมัด แต่เศรษฐกิจอยู่ในขั้นย่ำแย่ ตัวเลขจีดีพีเสี่ยงที่จะติดลบไปถึง 2 หลัก อาการหนักที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะที่ 1 ปีของฝ่ายตรวจสอบ-ถ่วงดุลในฝ่ายนิติบัญญัติ ก็อาการหนัก ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่แพ้ฝ่ายรัฐบาล ไม่สามารถ “คัด-ง้าง” ฝ่ายตรงข้ามได้

ทั้งที่จากเดิมที่ออกสตาร์ตในฤดูกาลแรกฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลมีเสียงคู่คี่-สูสีสุด ๆ

เพราะตอนนั้นฝ่ายค้านมี 7 พรรค กำเสียง 246 เสียง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมี 19 พรรค กุม 254 เสียง รัฐบาลอยู่ในสภาพปริ่มน้ำ แต้มห่างกันไม่ถึง 10 เสียง

แต่ไป ๆ มา ๆ ขึ้นฤดูกาลที่ 2 รัฐบาลกำเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ 20 พรรค เพิ่มจาก 254 เป็น 276 เสียง ส่วนจำนวนมือฝ่ายค้านมี 212 เสียงในสภา วูบไปถึง 34 เสียงในช่วงเวลาเพียง 1 ปี จาก 7 พรรคฝ่ายค้าน เหลือแค่ 6 พรรค สถานะพรรคฝ่ายรัฐบาลจึงไม่ใช่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอีกต่อไป

จุดเปลี่ยนแรก เกิดงูเห่าฝ่ายค้านเพ่นพ่านในสภา เกิดการ “เปิดตลาด” ช็อปตัว ส.ส.ให้หันมาเป็นงูเห่า ทั้งชั่วคราวและประจำ แก้เสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล

ฝากเลี้ยงไว้ในฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยอย่างน้อย 2 ชื่อ พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และ พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. ที่ยกมือทีไรก็โหวตให้กับฝ่ายรัฐบาล แต่ถูกแบนออกจากการทำกิจกรรมของพรรค แต่ยังไม่ถูกขับออก ฝากไว้กับพรรคประชาชาติ 1 เสียง คือ อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายค้านเสียงยวบลงไป เพราะผลพวงจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ 11 กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.ต้องยุติบทบาทไปด้วย

เอฟเฟ็กต์จากยุบพรรคอนาคตใหม่ ส่งแรงกระเพื่อมทั้งกระดานการเมือง เมื่อ ส.ส.อนาคตใหม่ ตัดสินใจสละเรือพร้อมกันทีเดียว 11 ชีวิต ไปอยู่ขั้วรัฐบาล แบ่งเป็นซบตักพรรคภูมิใจไทยของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ทันที 9 ตัว ประกอบด้วย อาทิ นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กทม. เขต 23 ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม. เขต 20 นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. เขต 21 นายเอกการ ซื่อทรงธรรม ส.ส.แพร่ เขต 1 และไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนาอีก 2 คน นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.เขต 2 สมุทรสาคร และนายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ต่อจาก “งูเห่าสีส้ม” ลอตแรก ที่ถูกขับออกจากพรรคเมื่อปลายปี 2562 กระจายไปอยู่ทั้งพรรคภูมิใจไทย 1 ตัว คือ “ศรีนวล บุญลือ” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชารัฐ 1 ตัว พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี และพรรคพลังท้องถิ่นไท 2 ตัว คือ น.ส.กวินนาถตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี จารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี

ทำให้อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ไปต่อในนามพรรคก้าวไกล มี ส.ส.เหลือแค่ 54 คน จากเดิมที่เคยมีอยู่ 80 คน นอกจากนี้ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง ที่เคยปักหลักอยู่กับฝ่ายค้านก็ยกขบวนไปซบฝ่ายรัฐบาลยกแผง 5 คน ทิ้ง “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” อดีตหัวหน้าพรรคไว้ที่ฝ่ายค้านเพียงคนเดียว

จุดเปลี่ยนที่สอง การเลือกตั้งซ่อมที่พรรคฝ่ายค้าน “ไม่เคยชนะ” กลับเพิ่มแต้มให้กับฝ่ายรัฐบาลโดยตลอด ทั้งเลือกตั้งซ่อม เขต 4 นครปฐม ที่ “เผดิมชัย สะสมทรัพย์” จากพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าวินเป็น ส.ส. เลือกตั้งซ่อมกำแพงเพชร เขต 2 เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ จากพลังประชารัฐ ก็ชนะเลือกตั้งเข้าเป็น ส.ส.แทนบิดา “พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์” ที่ต้องพ้น ส.ส.เพราะถูกจำคุกข้อหาล้มการประชุมอาเซียนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

การเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น เขต 2 ที่ สมศักดิ์ คุณเงิน ก็เพิ่มแต้มให้กับพรรคพลังประชารัฐ และล่าสุด เลือกตั้งซ่อมลำปาง เขต 4 วัฒนา สิทธิวัง ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ก็ชนะคู่แข่งฝ่ายค้านจากพรรค “เสรีรวมไทย” เข้าป้ายเป็น ส.ส.

และอีกจุดเปลี่ยน คือการไม่เป็นขบวน ในศึกอภิปรายใหญ่-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านเพื่อไทยอภิปรายจนเวลาหมด ไม่เหลือให้อนาคตใหม่ได้อภิปรายในวันสุดท้าย

รัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติซักฟอกอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รอดการถูกซักฟอกแบบไร้รอยขีดข่วน เพราะเวลาของฝ่ายค้านมีไม่พอ ไม่เหลือแม้กระทั่งทดเวลาบาดเจ็บ จนเกิดภาพขบเหลี่ยมกันระหว่างเพื่อไทย-อดีตอนาคตใหม่

แต่ล่าสุด “สุทิน คลังแสง” ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน การันตีว่า ภาพไม่เป็นขบวนจะไม่เกิดขึ้น

“ที่ผ่านมาอาจมีขลุกขลักบ้าง เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราเพิ่งกลับมาเป็น ส.ส. การผสมผสานระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านยังต้องแชร์ประสบการณ์เรียนรู้กันอีกเยอะ แต่เมื่อเข้าที่จะเห็นผลงานที่น่าพอใจ รวมถึงงานบริการพี่น้องประชาชน สะท้อนว่าการทำงานเป็นเอกภาพ”

ยังไม่นับรอยแยกในแกนนำฝ่ายค้าน “เพื่อไทย” ในระดับ “แกนนำ” ที่เปิดหน้าชกอย่างเปิดเผย จนบางส่วนต้องไปตั้งกลุ่มแคร์