เปิด 6 กลโกง “กรรมาธิการ” ส.ส.-ข้าราชการ สมคบคิดงาบหัวคิว

รายงานพิเศษ

กลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั้งสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ “ศักดา วิเชียรศิลป์” อธิบดีกรมน้ำบาดาลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โวยในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่มี น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน

โดยระบุว่า มีอนุกรรมาธิการบางคนโทรศัพท์เรียกเงิน 5 ล้านบาท แลกกับการผ่านงบประมาณให้ !

ยังไม่ทันข้ามวัน ก็ปรากฏข่าวต่อเนื่องอีกชุดหนึ่งว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICTรัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน “สุพล ฟองงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานอนุกรรมาธิการ

ขณะที่มีการชี้แจงงบประมาณของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ที่นำโดย “วิทยา ยาม่วง” อธิบดีกรมเจ้าท่า โดยเสนอของบฯในภาพรวมกว่า 300 ล้านบาท ที่มีงบฯเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือยางติดเครื่องยนต์ จำนวน 7 ล้านบาทต่อลำ งบฯ ซ่อมบำรุงประมาณ 36 ล้านบาท

ระหว่างที่อนุกรรมาธิการหลายคนกำลังซักถาม ปมคุณภาพ-ราคา ปรากฏว่ามี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในอนุกรรมาธิการ เข้ามาโต้แย้งการซักถามของอนุฯ กมธ.ชุดดังกล่าว

ตามข่าวระบุว่า ส.ส.เพื่อไทยรายนี้ได้ “ต่อสาย” ไปยังแกนนำพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ให้มา “ช่วยเคลียร์” เรื่องการผ่านงบฯให้

กระทั่งสภาทั้งสภาก็ปิดเรื่องอื้อฉาวไม่มิด ถูกนำมา “แฉ” นอกสภา

ทุจริตงบฯชดใช้-ตัดสิทธิการเมือง

อย่างไรก็ตาม การทุจริตซื้อ-ขาย-ตบทรัพย์หน่วยงานราชการ ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่ “เรื่องใหม่” สำหรับรัฐสภาไทย

กระทั่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ได้เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 ไว้ป้องกันไม่ให้ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี แปรญัตติเงิน-งบประมาณ ลงพื้นที่ หรือเข้ากระเป๋าตัวเอง

หาก ส.ส.หรือ ส.ว. 1 ใน 10 พบเห็นการกระทำดังกล่าว ให้ยื่นเรื่องต่อประธานที่ตนเองสังกัด และให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความผิดจริง ให้การแปรญัตติสิ้นผลไป ถ้าผู้แปรญัตติเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ถ้าเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีอันเป็นไปทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเรียกเงินคืนใน 20 ปีงบประมาณ พร้อมดอกเบี้ย

ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ยัง “คุ้มครอง” ข้าราชการที่เปิดโปงกระบวนการทุจริตงบประมาณ โดยระบุว่า

“เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทําโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดําเนินการ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ให้พ้นจากความรับผิด”

ดังนั้น จึงมีข้าราชการที่ “กล้าทักท้วง” เช่นอธิบดีกรมน้ำบาดาลก็แฉกลางห้องประชุมอนุ กมธ.

เปิดกลวิธีทุจริตงบฯ

กลยุทธ์ที่นักเลือกตั้งนำมาใช้งาบ “หัวคิว” วิธีแรก ใช้วิธีบลัฟหน่วยราชการว่าจะตัดงบฯ แล้วไปเคลียร์หลังห้องว่าไม่ตัด เมื่อไม่ตัด จากนั้น ในส่วนงบฯ ที่ไม่ตัดก็มาแบ่ง ส.ส.ในพื้นที่ สมประโยชน์กันทั้งนักการเมืองและส่วนราชการ

ดังนั้น นักการเมืองเขี้ยวลากดินของแต่ละพรรค จึง “วิ่งเต้น” เข้าไปเป็นใน กมธ.งบประมาณ เพื่อที่จะแปรญัตติมาแบ่งเพื่อน ส.ส.ด้วยกัน

วิธีที่สอง เจรจา ส.ส.พื้นที่ ว่าอย่าไปยุ่งกับงบฯ ของหน่วยงานนี้มาก เดี๋ยวจะแปรญัตติงบฯ ลงพื้นที่ให้

“ยืนยันว่าทั้ง 2 วิธีทำทุกพรรคไม่มีฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล สมประโยชน์ทั้ง ส.ส.ที่เป็น กมธ. ส.ส.ในพื้นที่ และข้าราชการ” แหล่งข่าวกล่าว

วิธีที่สาม ส.ส.ที่เข้าไปเป็น กมธ. หรือ อนุ กมธ. บางราย จะเลือกอยู่ใน กมธ.ที่มีงบฯครุภัณฑ์ งบฯฝึกอบร งบฯสิ่งก่อสร้าง ที่ไม่ใช่งบฯผูกพัน แล้วพยายามเกลี่ยงบฯลงพื้นที่ ซึ่งเรียกว่า “งบประมาณ ส.ส.”

วิธีที่สี่ จะใช้ในกรณีที่ข้าราชการที่ไม่อยากให้ ส.ส.เข้ามายุ่งกับงบประมาณ ข้าราชการก็มาเจรจากับ ส.ส. ว่าผมเป็นพวกคุณ ดูแลคุณ อย่าตัดงบฯผมได้ไหม เช่น ที่เกิดข่าวเรื่องเรือยาง ของกรมเจ้าท่า

วิธีที่ห้า ส.ส.จะบอกว่าหน่วยงานราชการได้งบฯตรงนี้เยอะ ขอแบ่งได้ไหม มีการ โทร.ไปขอแบ่งงบประมาณนอกรอบ ถ้าข้าราชการไม่แบ่งก็ยื้อไว้แล้ว “ขู่” ตัดงบประมาณ เรียกว่าวิธีรีดเงิน

วิธีที่หก เป็นวิธีบูรณาการระหว่าง ส.ส. ข้าราชการ และผู้รับเหมา โดย ส.ส.และข้าราชการร่วมมือ กันงบฯลงพื้นที่ให้บริษัทเอกชนที่ล็อกสเป็กเอาไว้แล้ว

จากนั้นจึงไปลดสเป็ก เช่น ได้งบฯมา 100 ทำ 15 หรือ 20 ส่วนใหญ่เป็นงบฯภัยแล้ง งบฯน้ำท่วม งบฯขุดเจาะบาดาล ทำถนน หรืองบฯฝึกอบรม งานอีเวนต์ ค่าจัดงาน 50 ล้าน ทำจริง 10 ล้าน

งบฯครุภัณฑ์ เช่น งบฯจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบคอมพิวเตอร์ จากงบฯ 50 ล้านก็เพิ่มขึ้นไปเป็น 100-150 ล้าน ซ่อนไว้โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของระบบ พวกนี้จะไม่ซื้อเป็นกล่อง แต่จะเป็นระบบ ซึ่งสามารถ top up ได้ ส.ส.ที่ผ่านงบฯก็ได้ค่าหัวคิว

บูรณาการงาบงบฯสนามฟุตซอล

มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริตงบประมาณขึ้นสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวอย่างที่คดีกำลังเดินหน้า คือ คดีทุจริตสนามฟุตซอล

หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา คือ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล

ย้อนไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว 2 สิงหาคม 2562 ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายวิรัช และนางทัศนียา รัตนเศรษฐ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับพวก รวม 24 ราย กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 (งบฯแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงานปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล)

มีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบรายการและวิธีการก่อสร้าง สนามกีฬาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

โดยมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียง ชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 24 ราย ประกอบด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย ข้าราชการ 11 ราย เอกชน 10 ราย (บุคคลธรรมดา 7 ราย นิติบุคคล 3 ราย)

ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช.สรุปตอนหนึ่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย และเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามบทบาทตามหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี และเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ

“โดยทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ. 2555 (งบฯแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่น รวมจำนวน 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน2 โครงการหลัก หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์”

ในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำคำขอเพิ่มเติมงบประมาณในรายการที่ 4 จำนวน 7,000,000,000 บาท โดยที่ไม่มีรายละเอียดว่าจะใช้ก่อสร้างสนามกีฬาที่ใด อย่างไร ในวงเงินเท่าใด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมเงินงบประมาณให้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ผู้ประสานงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น กับพวก เข้าไปแทรกแซงการใช้จ่ายงบประมาณตามความต้องการ โดยให้ข้าราชการประจำทำคำของบประมาณที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของโรงเรียนเสนอขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม “วิรัช” ปฏิเสธว่า ไม่ได้ทุจริตตามที่ ป.ป.ช.มีมติ

ทั้งนี้ ความคืบหน้าคดีล่าสุด สำนวนคดีดังกล่าวยังไม่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ และ ป.ป.ช.ว่า จะสั่งฟ้องต่อศาลหรือไม่

ส.ว.ก็เคยแฉรัฐมนตรีตบทรัพย์

หรือต้นปีที่ผ่านมา 20 มกราคม 2563 ในการประชุมวุฒิสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท สมชาย แสวงการ ส.ว.อภิปรายว่า มีข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าชี้แจง กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ของสภาผู้แทนราษฎร ว่าพบความไม่โปร่งใส

เนื่องจากมีอดีตรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งมีคดีทุจริตเรียกเจ้าหน้าที่ไปคุยหลังบ้าน เพื่อขอย้ายงบประมาณไปลงจังหวัดหนึ่ง หากไม่ให้ จะตัดลดงบประมาณ

การซื้อขาย-ทุจริตงบประมาณ คือ “เรื่องปกติ” ที่ “ไม่ปกติ” ในสภาผู้แทนราษฎรไทย