ชัยธวัช : ถอดสลัก “ม็อบปลดแอก” ล้มโต๊ะแก้ รธน.รายมาตรา สังคมถึงทางตัน

ชัยธวัช ตุลาธน
ชัยธวัช ตุลาธน

การชุมนุมของกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ที่ถนนราชดำเนิน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 กว่า 90% เป็นเยาวชน นิสิต นักศึกษา และนักเรียน

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ สั้น ๆ ง่าย ๆ แต่รัฐบาลอาจทำยาก ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน พ่วงวาระไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ไม่เอาปฏิวัติ บวกกับอีก 1 ความฝันที่แหลมคม

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล มีฐานเสียงเป็นเยาวชน-คนรุ่นใหม่ หาทางออกจากวิกฤตการเมืองครั้งล่าสุด

“ชัยธวัช” ยืนยันคำขาด-ทางออกมีทางเดียว คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดทางให้มีรัฐธรรมนูญใหม่

Q : แฟลชม็อบเยาวชนถูกมองว่าเลยธง สถานการณ์จะนำไปสู่จุดอะไร

หลายฝ่ายเป็นกังวล แต่ไม่อยากให้มองเฉพาะมิตินั้น เพราะสิ่งที่เขาแสดงออกมา สะท้อนปัญหาที่สั่งสมมายาวนานในอดีต และไม่ได้แก้ไข ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ นักศึกษาอาจมองว่ายังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล และ ส.ว. ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ให้ยุติการคุกคามดูเหมือนยังไม่ลดราวาศอก จึงเป็นอาการคับข้องใจปะทุมากขึ้น

พรรคก้าวไกลมองว่า สถานการณ์สามารถทำให้ดีขึ้นได้ โดยกลับมาดูข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ยุติการคุกคาม เพราะรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องใจกลาง ที่เป็นทั้งวิกฤตและเป็นทางออกสำหรับทุกฝ่ายได้

ผู้มีอำนาจควรจะทำก็คือการตั้งสติดี ๆ ปรับมุมมองตนเองเสียใหม่ และเรียกร้องวุฒิภาวะของสังคม ควรทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ไม่ใช้วิธีแบบเดิม ๆ ไปกดปราบ เพราะจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง หรือไปลดทอนพื้นที่ปลอดภัยที่นักศึกษาแสดงออกให้แคบลงเรื่อย ๆ ก็ยิ่งเป็นการผลักให้เขาออกมาในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น การแสดงความคิดเห็นโดยสันติ สงบ ไม่ใช่อาชญากรรม

Q : จะเริ่มปลดชนวนแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้พ้นวิกฤต

ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย โดยให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งทางตรง จากทุกจังหวัด 200 คน ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และใช้สิทธิ 1 คน 1 เสียง มีข้อดีจะเปิดช่องให้ ส.ส.ร.ในแต่ละจังหวัดมีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้ามาได้ ไม่ผูกขาด โดยเสียงข้างมากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จะทำให้คนกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองต่างเฉดกัน มีส่วนผสมที่หลากหลาย

Q : สมาชิกวุฒิสภาถามถึงหลักประกันหากมี ส.ส.ร.จะไม่แก้หมวดสถาบัน

ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ระบุไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ น่าจะทำให้หลายคนคลายกังวลได้

แต่ ส.ว.บางท่านบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นการตีเช็คเปล่า ให้แก้กันอย่างไรก็ไม่รู้ ทำให้เกิดคำถามกลับกันว่า ไม่เห็นมีใครมาโวยว่า ทำไมเราถึงยอมตีเช็คเปล่าให้กับคณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วมาร่างใหม่

ส.ว.มีสิทธิอะไรมาว่า ถ้าเรายอมตีเช็คเปล่าให้กับประชาชน ในเมื่อประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

กลับกัน ส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชน มาจากคณะรัฐประหาร ยังจะมากะเกณฑ์ ว่าเป็นผู้อนุญาตให้แก้รัฐธรรมนูญแบบใดแบบหนึ่ง เอาความชอบธรรมตรงไหนมา

ยิ่ง ส.ส.ร.ยึดโยงกับประชาชนมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ระบบการเมืองที่ถูกออกแบบมาตอบสนองความต้องการของประชาชนมาก จึงต้องตีเช็คเปล่าให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า เขาอยากให้การเมืองของเขามีหน้าตาเป็นอย่างไร

Q : แรงกดดันภายนอกที่มีวาระแหลมคม ส่งผลถึงโฉมหน้ารัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

การชุมนุมเรียกร้องตอนนี้ ให้มีการเปิดช่องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนหน้าตาจะเป็นอย่างไรนั้น หลังจากนี้ ประชาชน หรือกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ ควรระดมความคิดเห็นว่า อยากจะเห็นรัฐธรรมนูญเป็นแบบไหน ถ้ามีเวที ส.ส.ร.เมื่อไหร่ ก็นำความเห็นเหล่านั้นมาอภิปราย ถกเถียงกัน หาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้มากที่สุด กลไกในสภาจะมีส่วนสำคัญ

เพราะโจทย์ในอดีตยังไม่คลี่คลาย เช่น ต้องการระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองใดชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ทำให้ระบบการเมืองให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ บริหารประเทศลำบาก

การออกแบบองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองไม่ให้ทุจริต แต่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ ซ้ำร้ายองค์กรอิสระกลับถูกตั้งคำถามว่าใช้อำนาจฉ้อฉล อำนาจสูงสุดอยู่ที่ไหนกันแน่ในสังคมไทย อยู่ที่ประชาชน หรืออยู่ที่อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

Q : ฐานเสียงพรรคก้าวไกลคือคนรุ่นใหม่ จะนำข้อเรียกร้องของพวกเขามาถกในสภาไหม

จนถึงวันนี้ พรรคก้าวไกลเราอยู่ตรงจุดที่พยายามดึงสติ และวุฒิภาวะของสังคมก่อน อย่าว่าแต่เราจะพูดคุยกันเลย เอาแค่ขั้นในการฟังก่อน สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ สังคมไทยยังไม่มีวุฒิภาวะ หรือพร้อมที่จะฟังด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่ฟังแล้วจะคุยกันได้อย่างไร ก็ตีกันอย่างเดียว เราพยายามให้ความสำคัญประเด็นนี้

ยิ่งสถานการณ์เป็นแบบนี้ ยิ่งเร่งหาข้อยุติแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นรูระบายที่สำคัญ ถอดสลักระเบิด เพื่อไม่ให้ความตึงเครียดของสังคมระเบิดขึ้นมา ต้องรีบทำเพราะเป็นรูปธรรมที่ทุกฝ่ายน่าจะพอพูดคุยกันได้ ส่วนเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร ใช้เวทีทั้งสังคมถกเถียงกัน

แน่นอนว่านักศึกษาก็จะไม่สามารถผลักดันทุกอย่างตามที่เขาต้องการได้ กลุ่มที่ชื่นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่สามารถผลักดันให้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างที่เขาต้องการได้ คิดว่าสังคมมีกลไกที่จะหาสมดุล เพียงแต่อย่าเพิ่งกลัวกับความคิดที่รู้สึกว่านอกกรอบเกินไป แล้วกดปราบให้สถานการณ์รุนแรง

แทนที่จะเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัย คุยกันได้อย่างเสรี หาข้อยุติด้วยกัน ถ้าเราล้มโต๊ะ ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถไว้ใจ ส.ส.ร.ได้ แล้วไม่ให้อีกฝ่ายได้พูด คิดว่ายิ่งไม่มีทางออก

Q : การเรียกร้องให้สังคมมีวุฒิภาวะ ผู้มีอำนาจอย่ากดปราบ ส่วนกลุ่มนักศึกษา ก้าวไกลจะบอกอะไรพวกเขา

ไม่ว่านักศึกษา ประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องกันอยู่ รวมถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ต้องยืนอยู่บนหลักการ เคารพเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติของทุกฝ่าย อย่าไปถึงจุดที่บีบบังคับให้คนอื่น ๆ คิด และทำเหมือนกันทั้งหมด เป็นไปไม่ได้

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนักศึกษาก็มีสิทธิที่ออกแสดงความคิดเห็น หรือมาชุมนุมไม่เห็นด้วย แต่ไม่ควรจะมาถึงเส้นที่บอกว่า เมื่อไม่ชอบอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งพูด หรือเข้าไปปะทะ

ในทางกลับกัน ถ้านักศึกษาคิดว่าฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ไม่คิดเหมือนตัวเอง ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของตัวเอง แล้วไปทำอะไรที่กระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนอื่น ผมก็ไม่เห็นด้วย

นักศึกษาคงต้องคิดว่า การเคลื่อนไหว การชูข้อเรียกร้องทางการเมืองต่าง ๆ จะไปจบอย่างไร อะไรที่เป็นจุดลงตัวที่ยอมรับกันได้ คงไม่มีใครชุมนุมตลอดเวลาไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีทางออก ไม่มีจุดจบ…แต่เขาอาจจะมีแล้วก็ได้

Q : จะดึงอารมณ์ของมวลชนให้กลับมาสู่จุดยืน 3 ข้อได้อย่างไร

ในกลุ่มนักศึกษาอาจจะมีการคุยกันว่าอะไรเป็นข้อเรียกร้องหลักของเขาที่เห็นร่วมกัน เพราะนักศึกษาแต่ละที่ก็ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นเอกภาพ เชื่อว่าจุดร่วมกันในวันนี้ คือ เรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน และเขาอาจรู้สึกว่ารัฐบาลนี้หมดความชอบธรรม อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่

และไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐสภา ที่จะเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้นักศึกษาเขากลับมาที่ประเด็นข้อเรียกร้องหลักได้คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ากลไกในรัฐสภามีการตอบสนอง ที่ไม่ช้าเกินไปและไม่น้อยเกินไป คิดว่ากลุ่มคนที่เรียกร้องอยู่นอกสภา น่าจะหาข้อยุติได้

Q : หากรัฐบาล Action เร็ว แต่แก้ไขรายมาตราไม่มี ส.ส.ร.จะจบหรือไม่

จะทำให้สังคมไทยไปถึงทางตันมากขึ้น การชุมนุมข้างนอกจะยกระดับข้อเรียกร้องไปเรื่อย ๆ ปัญหาจะไม่จบ ไม่ตอบโจทย์ใครเลย นอกจากรัฐบาลและ ส.ว.

พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปไตย ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เท่าที่เราทราบค่อนข้างเห็นด้วยที่จะมี ส.ส.ร. เขารอท่าทีของพรรคพลังประชารัฐว่าจะเป็นอย่างไร

แต่การยอมแก้รายมาตราไม่ใช่ทางออก เพราะเป็นความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ ถ้าแก้รายมาตรา อำนาจก็ขึ้นอยู่ที่ ส.ว.กับพรรครัฐบาลว่าจะแก้อะไรเท่านั้น

Q : ความคิดแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐเป็นคีย์เดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

เชื่อว่าในพรรคพลังประชารัฐ ส.ส.น่าจะมีความเห็นต่างกันไป แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นคนชี้ขาด ดังนั้น กุญแจที่จะปลดล็อกทุกอย่างคือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งปลดล็อกทั้งสภา และ ส.ว.

ถ้ารัฐบาล ส.ว. มองเห็นว่าเราสามารถสร้างโมเดล ส.ส.ร.ที่ทำให้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถผูกขาดการดีไซน์รัฐธรรมนูญได้ คิดว่าไม่มีทางไหนเป็นทางออกที่ดีที่สุดกว่านี้อีกแล้ว

Q : หนทางที่จะทำให้ชนะเกมแก้รัฐธรรมนูญคืออะไร

ฉันทามติจากข้างนอกสภาต่างหากที่ทำให้สุดท้ายกลไกในสภายอมที่จะปฏิรูปการเมือง เหมือนตอนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีธงเขียวทั่วประเทศ

Q : การปลุกกระแสนอกสภายากหรือง่ายกว่า ตอนรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2540

สังคมเริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่า การคงรัฐธรรมนูญ 2560 เอาไว้อาจเป็นภาระของสังคมไทย เพราะทำให้การเมืองไทยติดหล่ม ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ไม่เป็นผลดีกับใครเลย สังคมไทยจะมีสมาธิที่ไหนไปใช้เวลากับการแก้โจทย์วิกฤตเศรษฐกิจ ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว…ไม่มีทาง

นักธุรกิจจำนวนมากเริ่มเห็นความสำคัญที่จะปลดล็อกการเมือง ดังนั้น สังคมส่วนใหญ่น่าจะเห็นชอบให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Q : ถ้า 3-6 เดือนข้างหน้ามีการทำประชามติ คิดว่าจะผ่านหรือไม่

เชื่อแบบนั้น ถ้าเราจัดกระบวนการประชามติที่โปร่งใส เสรีเป็นธรรมจริง ๆ ไม่มีการใช้อำนาจของรัฐบาลไปแทรกแซง ไม่ว่าผลประชามติออกมาแบบไหน จะได้ข้อยุติ ทุกฝ่ายจะยอมรับ ถ้ากระบวนการทำประชามติได้รับการยอมรับ ไม่เหมือนประชามติปี 2559