เพื่อไทย-ก้าวไกล แตกขบวน ชิงเหลี่ยมการเมือง เปิดศึกทุกสนาม

เปิดปฐมบทความขัดแย้ง 2 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย – ก้าวไกล ส่งผลให้ขาดแนวร่วมทั้งใน-นอกสภา เสียขบวนในการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบรัฐบาล

สถานการณ์ในพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ดูเหมือนจะไม่สู้ดี เพราะ 2 พรรคพี่ใหญ่ฝ่ายค้าน เพื่อไทย – ก้าวไกล เหมือนจะไม่ “ลงรอย” กันบ่อยครั้ง กินความไปถึง “ธง” การขับเคลื่อน “คณะก้าวหน้า” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เป็น “เนวิเกเตอร์” ให้กับพรรคก้าวไกลขับเคลื่อนต่อในสภาผู้แทนราษฎร

ความไม่ลงรอยเที่ยวล่าสุด มาจากปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้รัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล 21 คน ถอนชื่อจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 6 พรรคฝ่ายค้าน ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ไม่แตะ หมวด 1 หมวด 2

แม้ไม่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขดังกล่าวตกไป เพราะฝ่ายค้านรวมเสียงกัน 153 เสียง เกินกว่าเกณฑ์ 98 เสียง ( 1 ใน 5 ของ ส.ส.) โดยไม่ต้องพึ่งเสียงจากพรรคก้าวไกล ในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทำให้เห็นร่องรอย ของความไม่เป็นขบวนเดียวกัน ในฝ่ายที่มักเรียกตัวเองว่า “แนวร่วมประชาธิปไตย”

เพื่อไทย – ก้าวไกล ไม่เป็นขบวน

ปมร้อนดังกล่าว สะท้อนความ “ไม่เป็นขบวน” ในฝ่ายค้าน ฝ่ายพรรคก้าวไกล อ้างเหตุผลในการถอนชื่อของส.ส. ก้าวไกล เพราะไม่อยากปิดกั้น เนื่องจากมีหลักประกันในรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ที่ห้ามแตะเรื่องสถาบัน กับรูปแบบของรัฐอยู่แล้ว แต่การล็อกห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 เท่ากับปิดกั้นไม่ให้ ส.ส.ร.ได้มีการถกเถียงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

ย้อนกลับไป 48 ชั่วโมง ก่อนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 6 พรรคฝ่ายค้าน เมื่อ 15 สิงหาคม 2563 “พรรคก้าวไกล” แพ้โหวตในที่ประชุมเรื่องการแตะหมวด 1 หมวด 2 “ก้าวไกล” ก้มหน้ายอมรับตามระบอบประชาธิปไตย และ ส.ส. 21 คน ร่วมลงชื่อ

แต่ปรากฏว่า 18 สิงหาคม 2563 ส.ส. ก้าวไกลไม่มาตามนัด และ 21 ส.ส. ถอนชื่อ แนบท้ายดวยการขอ “สงวนความเห็น” เก็บไว้อภิปรายในสภา

ทำให้ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน จากเพื่อไทย เปิดเผยในวันนั้นว่า “ทราบข่าวก่อนเวลาแถลงข่าวยื่นญัตติให้ประธานสภาเพียง 5 นาทีว่าพรรคก้าวไกลจะถอนรายชื่อ ไม่ร่วมขบวน”

ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นฉบับของตัวเองพุ่งเป้าไปที่มาตรการปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน ที่เป็น “หัวใจ” ของการสืบทอดอำนาจ แต่บังเอิญว่า ส.ส.ก้าวไกล ทั้งหมดมีแค่ 54 เสียง ยังขาดอีก 44 เสียงที่ต้องควานหา

เพื่อไทยชำระแค้น ก้าวไกลหันหน้าเข้ามวลชน

ดังนั้น ในการประชุมวิปฝ่ายค้านวันนี้ 25 สิงหาคม “ก้าวไกล” จะส่ง “ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272”  ที่กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรก ตามบทเฉพาะกาล มีอำนาจในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไปให้เพื่อไทย เพื่อบรรจุวาระหารือในที่ประชุมพรรค

แต่เมื่อ “ก้าวไกล” เคยทำเจ็บแสบกับเพื่อไทยมาไม่ถึงสองสัปดาห์ แผลการเมืองยังเป็นแผลสด “ก้าวไกล” อาจไม่ได้จำนวนมือ ส.ส.จากเพื่อไทย

“เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราไปบังคับ ส.ส.เขาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ส.ส.เพื่อไทย ก็เห็นด้วยที่จะไม่แก้ไข เพราะมองสถานการณ์ทางการเมืองออก” แหล่งข่าวจากวิปฝ่ายค้าน สังกัดเพื่อไทย กล่าว

ขณะที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ประกาศแล้วว่าหากเสียงสนับสนุนในสภา จะใช้ช่องทางการเข้าชื่อของประชาชน 5 หมื่นชื่อ ”

นอกจากเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นขบวน ยังมีประเด็นที่พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ภายใต้ธีม “ล้มเหลวแก้พิษเศรษฐกิจ ส่งผลต่อวิกฤตการเมือง”

ก้าวไกล เปิดหน้าท้วง เกมซักฟอกไม่ลงมติ

“ก้าวไกล” ส่ง “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล ออกมาให้ความเห็นเชิงแย้งว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเนื่องจากพฤติกรรมอันเลวร้ายหลายประการ และมีข้อเรียกร้องถึงขั้นที่จะให้ยุบสภาแล้ว ดังนั้นหาก ส.ส. จะใช้สิทธิในการเปิดอภิปรายทั่วไป ก็ควรเป็นการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 มากกว่า การที่พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะอภิปรายตามมาตรา 152

“ในทางปฏิบัติจะกลายเป็นเพียงการหยิบยื่นโอกาสให้รัฐบาลได้หาข้อแก้ตัวให้กับการกระทำของตัวเอง โดยที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถใช้อำนาจที่มีในการลงโทษรัฐบาลได้เลย ดังนั้น จึงต้องหารือกันในวิปวันพรุ่งนี้ว่าเพราะเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงรีบเข้าชื่อเสนอการอภิปรายทั่วไปขนาดนี้ ไม่ปรึกษาพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ดีก่อนถึงผลดีผลเสีย”

2 เรื่องที่ “เพื่อไทย – ก้าวไกล” พรรคเพื่อนบ้าน ร่วมฝ่ายค้าน ขบเหลี่ยมกันและกัน

ย้อนปฐมบทความขัดแย้ง

จุดเริ่มต้นความไม่ลงรอย หาได้เพิ่งอุบัติขึ้นในยุค “ก้าวไกล” เท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหาตั้งแต่ช่วงรอยต่อ “อนาคตใหม่” มาสู่ “ก้าวไกล”

สืบต้นตอ “ปฐมบท” รอยร้าวที่เห็นชัดๆ เกิดขึ้นในชั่วโมงสุดท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ ส.ส.เพื่อไทยอภิปรายไม่ไว้วางใจ “เบียดคิว” จน ส.ส.อนาคตใหม่เดิมจนเวลาหมด – ไม่ได้อภิปราย

ซึ่งพรรคเพื่อไทยถูกครหาว่า “อภิปรายล้มมวย” มีรายการ “คุณขอมา” หรือไม่ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้ว

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล [ #อภิปรายไม่ไว้วางใจ: การทำงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่แน่นอนชัดเจนตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ ทำให้เสียโอกาสการอภิปราย ประวิตร อนุพงษ์ วิษณุ ในสภาผู้แทนราษฎร ]

“ปิยบุตร” สรุปเบื้องหน้า – เบื้องหลัง ในมุมอนาคตใหม่ใจความดังนี้

  • ก่อนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ พวกเราตกลงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เริ่มต้นจากให้แต่ละพรรคไปคิดกันเองว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีคนใด ประเด็นใด
  • พวกเรายืนยันว่าอนาคตใหม่จะอภิปราย 5 คน ได้แก่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวิตร วงษ์สุวรรณ วิษณุ เครืองาม อนุพงษ์ เผ่าจินดา และธรรมนัส พรหมเผ่า ต่อมา มีข่าวลือเรื่อง “คุณขอมา” ไม่ให้อภิปราย ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่พวกเราไม่เชื่อว่าเป็นความจริง และเริ่มมีข้อเสนอว่าให้อภิปรายประยุทธ์คนเดียวก็พอ คนอื่นไม่ต้อง
  • รายชื่อรัฐมนตรีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะถูกอภิปราย ถูกสับเปลี่ยนไปมาตลอด กว่าจะนิ่ง ต้องรอจนช่วงท้ายๆ ชื่อของประวิตร ก็เป็นชื่อสุดท้ายที่ถกเถียงกัน และยืนยันว่า #อนาคตใหม่ จะอภิปรายประวิตร
  • อนาคตใหม่ขอให้จัดลำดับประวิตรไว้ต่อจากประยุทธ์ แต่ก็ไม่ได้ จะให้อภิปรายประวิตรเป็นคนสุดท้าย
  • เรากำหนด ส.ส. ผู้อภิปรายและจำนวนเวลาไว้ได้มา 11 ชั่วโมง เปิดอภิปรายวันแรกรัฐมนตรีใช้เวลาตอบเยอะ จึงมีการเจรจาร่วมกันระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ซึ่งปรากฎว่าไม่มีการชวน ส.ส. ตัวแทนวิปของเราเข้าไปร่วมด้วย
  • ผ่านการอภิปรายมาแล้ว 1 วันครึ่ง วิปฝ่ายค้านและรัฐบาล พึ่งมาตกลงแบ่งเวลากัน สรุปว่ารัฐบาลได้ 10 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้ 21 ชั่วโมง
  • อนาคตใหม่ใช้เวลาไปเพียง 140 นาที ยังเหลืออีกเกือบ 9 ชั่วโมง แต่วิปฝ่ายค้าน (ซึ่งไม่มีอนาคตใหม่อยู่ในนั้น) กลับไปรับข้อตกลงมาว่าฝ่ายค้านเหลือเวลา 21 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับต้องแบ่งให้อนาคตใหม่ 9 ชม.
  • เราเริ่มอ่านสถานการณ์ออกว่าจะมี ส.ส. อภิปรายประยุทธ์มาก จนไม่เหลือเวลาให้อภิปรายรัฐมนตรีคนอื่น พวกเราจึงตกลงกันว่าให้อภิปรายประยุทธ์ 3 วัน และวันสุดท้ายอภิปรายรัฐมนตรีอีก 5 คนที่เหลือ
  • ทุกพรรครับข้อเสนอนี้หมด แต่ข้อตกลงนี้กลับถูกทำลายลง เพียงเพราะว่า ส.ส. คนหนึ่งของเพื่อไทย ไม่ยอมมาอภิปรายประยุทธ์ในช่วงค่ำวันที่ 3 ดึงดันจะอภิปรายเช้าวันที่ 4 ให้ได้
  • ผมและเพื่อน ส.ส. จึงไปคุยกับอาสมพงษ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและแกนนำเพื่อไทยอีกหลายคน เพื่อขอให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม ด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องยอม “ตามใจ” ส.ส. คนเดียว อีกอย่างคือเรารู้ดีว่าถ้าให้ ส.ส. คนนี้อภิปรายประยุทธ์ในเช้าวันที่ 4 เขาจะใช้เวลานาน และอภิปรายพาดพิงไปยังรัฐมนตรีอีกหลายคน และรัฐมนตรีก็ต้องตอบยาว จนกินเวลาไปถึงช่วงบ่าย และทำให้อนาคตใหม่ไม่มีเวลาอภิปรายรัฐมนตรีที่เหลือ
  • สุดท้ายเพื่อไทยก็ไม่ยอม มาขอให้เราผ่อนผัน ด้วยการอภิปรายธรรมนัสในคืนวันที่ 3 แต่ตามกติกาไม่สามารถทำได้ เพราะยังอภิปรายประยุทธ์ไม่หมด
  • การเจรจาหาข้อตกลงกับพรรคเพื่อไทย เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะ ไม่รู้ว่าศูนย์อำนาจการตัดสินใจ หรือ Final Say อยู่ที่ไหนกันแน่ ตกลงแล้ว เปลี่ยน ตกลงแล้ว เปลี่ยน คนหนึ่ง พูดอย่าง อีกคน พูดอย่าง พวกเราก็ต้องมาปรับหน้างาน โดยใช้แท็คติกอภิปรายพ่วง “ประยุทธ์-ธรรมนัส” ตามข้อเสนอของเพื่อไทย
  • ปรากฏว่าเพื่อไทยก็อภิปรายเกินเวลา และเอาคนมาแซงคิว ส.ส. อนาคตใหม่ (ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เพื่อไทย) อีกจนเราได้เริ่มอภิปรายธรรมนัสตอน 23.00 น. ไปจบตอนตีสาม
  • พอมาวันสุดท้าย วันที่ 4 ส.ส. ที่สร้างเงื่อนไขไว้ว่าจะอภิปรายประยุทธ์ตอนเช้า ปรากฎว่าก็ไม่เข้ามาประชุมเสียที จนในสภาต้องใช้ “แท็คติก” หารือถ่วงเวลาไปหนึ่งชั่วโมง จนพอได้อภิปรายก็กลับใช้เวลาเกินคนอื่นอีกร่วมชั่วโมงจากนั้นรัฐมนตรีตอบกันอีกหลายคน หลายชั่วโมง
  • จากการประเมินผมรู้แล้วว่า “พวกเขา” ไม่ต้องการให้เราอภิปรายรัฐมนตรีที่เหลือ โดยเฉพาะพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงบอกเพื่อน ส.ส. ว่าหัวเด็ดตีนขาด ส.ส. ที่เหลือของเราต้องได้อภิปราย มิเช่นนั้น คนที่เคารพกติกา ยอมอะลุ่มอล่วยให้คนอื่น ก็จะโดนเอาเปรียบ

หลังจากนั้นจึงมีการเคลียร์ใจ – คุยกันในทางยุทธศาสตร์ฝ่ายค้าน ทั้งในวงเปิดให้ “นักข่าว” ได้บันทึกภาพ และทางลับที่บ้านของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์เพื่อไทย

ไม่นับกระแสข่าวหลังจากนั้นที่ มีข่าวว่าลูกหาบในเพื่อไทย นัด ส.ส.ก้าวไกล ดินเนอร์ ชวนย้ายมาซบตักพรรคเพื่อไทย จนแกนนำทั้ง 2 พรรคต้องปฏิเสธ และล่าตัวคนปล่อยข่าว

รวมทั้งการต่อสู้ในสนาม เลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการ ที่ฝ่ายค้าน เพื่อไทย – ก้าวไกล ไม่หลบหลีกให้กันเหมือนเคย กลายเป็นว่าทั้ง 2 พรรค ตัดคะแนนกันเอง “กรุงศรีวิไล สุทินเผือก” จากพรรคพลังประชารัฐ จึงเข้าวินชนะคะแนนสองเท่า

การเกิดขึ้นของ “อนาคตใหม่” ต่อเนื่องถึง “ก้าวไกล” เป็นการ disrupt พรรคเพื่อไทย ที่ผูกขาดความเป็นพรรคที่อยู่ตรงข้ามทหารมานานกว่าทศวรรษ

ก้าวไกล-เพื่อไทย จึงเป็นคู่แข่งในลู่ฝ่ายค้าน ทั้งใน-นอกสภาผู้แทนราษฎร และสนามเลือกตั้งทุกระดับ